[ตอน 0] [ตอน 1] [ตอน 2.1] [ตอน 2.2] [ตอน 3.1] [ตอน 3.2] [ตอน 4.1] [ตอน 4.2] [ตอน 4.3] [ตอน 4.4] [ตอน 4.5] [ตอน 5.1] [ตอน 5.2] [ตอน 6.1] [ตอน 6.2] [ตอน 6.3] [ตอน 7.1] [ตอน 7.2] [ตอน 7.3] [ตอน 7.4] [ตอน 8.1] [ตอน 8.2] [ตอน 9.1] [ตอน 9.2] [ตอน 10.1] [ตอน 10.2] [ตอน 11.1] [ตอน 11.2] [ตอน 11.3] [ตอน 12.1] [ตอน 12.2] [ตอน 13.1] [ตอน 13.2] [ตอน 14.1] [ตอน 14.2] [ตอน 15.1] [ตอน 15.2]
มาต่อกันใน Part II ของพิพิธภัณฑ์เรือนจำอะบาชิรินะครับ โดยตอนนี้จะต่อจากตอนที่แล้วคือหยุดที่ทางเข้าจุดที่ 5 Building of The Futamigaoka Branch แล้วเราก็จะเข้าไปชมภายในกัน ซึ่งจุดที่ 5 นี้เป็นจุดที่มีภาพเยอะเกือบครึ่งหนึ่งของภาพทั้งหมดในตอนนี้ทั้งตอนเลยครับ เนื่องจากเป็นอาคารใหญ่ที่มีห้องภายในหลายจุดด้วยกัน แล้วหลังจากนั้นก็จะไปเรือนจำแบบดาว 5 แฉกอันเลื่องลือของคุกในญี่ปุ่น ตามด้วยจุดอื่นๆที่ตามเก็บกันให้เหือบหมดครับ ถือว่ามาครั้งนี้นี่คุ้มจริงๆ งั้นตามไปสำรวจกันอีกครั้งในครึ่งหลังของพิพิธภัณฑ์เรือนจำอะบาชิริกันครับ
ขณะนี้เวลา 10.01 น. หิมะก็ตกลงมาอย่างไม่หยุดหย่อนดูเหมือนจะตกลงมามากขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำครับ และรู้สึกจะเป็นอีกครั้ง ณ อาคารนี้ที่ผมใช้เวลาชมเพียงคนเดียว ถามว่าน่ากลัวมั้ย? ยังไม่ตอบตอนนี้ ไว้ไปตอบเมื่อชมเสร็จก่อนครับ
ข้อมูลจากเว็บไซท์เรือนจำอะบาชิริ
อาคารหลังนี้สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1896 ที่เนินเขาทางทิศตะวันตกของอาบาชิริ ในฐานะที่เป็น “สถานที่ราชการนอกคุชชะโระ” เพื่อเป็นอาคารนำร่องทางด้านเกษตรกรรมของเรือนจำอาบาชิริ ตั้งอยู่ในตำแหน่งที่สามารถมองเห็นทะเลสาบสองแห่ง คือทะเลสาบอาบาชิริ และทะเลสาบโนะโทะโระ หลังจากนั้นจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “เรือนจำฟุตามิกะโอกะ” แม้ในปัจจุบัน ซึ่งผ่านกาลเวลามาถึงกว่าหนึ่งศตวรรษแล้ว ก็ยังคงทำหน้าที่เป็นสถานที่ ที่สำคัญในการผลิตอาหารให้แก่ผู้ถูกคุมขัง และยังเป็นสถานที่ที่ให้อิสระแก่ผู้ถูกคุมขังที่จะยืนหยัดด้วยลำแข้งของตนเอง ในการบริหารและเก็บเกี่ยวผลผลิตจากพื้นที่ทางการเกษตรอันกว้างใหญ่ได้ เป็นเรือนจำไม้ที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังคงหลงเหลืออยู่จนถึงปัจจุบัน และย้ายมาที่พิพิธภัณฑ์ในปี ค.ศ. 1999
ช่วงเวลาในการก่อสร้างอาคารแต่ละหลังนั้น ตึกบัญชาการ ห้องขังรวม โรงครัวสร้างตั้งแต่เริ่มแรกคือใน ปี ค.ศ. 1896 อาคารอบรมจริยธรรม และโรงอาหาร ปี ค.ศ. 1925 ส่วนที่คุมขังนักโทษอุกฉกรรจ์ ปี ค.ศ. 1930 เมื่อตอนที่สร้างในปี ค.ศ. 1896 นั้น อาคารแต่ละหลังจะตั้งอยู่เป็นอิสระจากกัน แต่หลังเข้าสู่สมัยไทโชแล้ว อาคารสถานที่มีความสำคัญสูงขึ้น จึงมีการจัดระเบียบอาคารที่จำเป็น สร้างทางเดินเชื่อม ปรับปรุงตึกบัญชาการ เกือบจะเหมือนกับอาคารด้านเกษตรกรรมที่มีพื้นที่ 1,933.8 ตร.ม.ในปัจจุบัน
เข้ามาภายในก็จะเจอกับห้องทางซ้ายมือเป็นที่ทำงานของผู้คุมครับ ซึ่งอยู่ในอาคารบัญชาการ
ส่วนห้องนี้อยู่ทางขวามือ ไม่แน่ใจว่าใช้ทำอะไรเหมือนกัน อ่านภาษาญี่ปุ่นไม่ออก
เดินเข้ามาทางอาคารด้านซ้ายมือ จะเป็นห้องโถงใหญ่ น่าจะคือโรงอาหารของนักโทษ กำลังกินอาหารอย่างเอร็ดอร่อยเลย
ข้อมูลจากเว็บไซท์เรือนจำอะบาชิริ
โรงอาหาร
โรงอาหารเป็นห้องเดี่ยว พื้นเทคอนกรีตแบบไม่ได้ปูพื้น เพดานไม้เปลือยฝ้า มีหน้าต่างระบายอากาศทรงเหลี่ยมติดตะแกรงเป็นรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามใหญ่ตัด 2 แห่ง หน้าต่างเป็นแบบเลื่อนปิดเปิด ติดไม้ฉลุลาย ภายนอกติดไม้กระดานในแนวตั้ง
เดินต่อมาก็จะเจอจุดนี้ เป็นพื้นที่ทำงานของนักโทษ
กำลังทุบฟางข้าวแล้วนำเอาไปสานต่อกัน
เดินตรงเข้ามาอีกจะเป็นห้องอีกห้อง เป็นสถานที่ถอดและสวมโซ่ตรวนก่อนและหลังจากทำงานที่พื้นที่ด้านนอก
ข้อมูลจากเว็บไซท์เรือนจำอะบาชิริ
ที่คุมขังนักโทษอุกฉกรรจ์
เป็นสถานที่สำหรับถอดหรือสวมโซ่ตรวน เวลาจะเข้าหรือออกพื้นที่ทำการเกษตร เป็นอาคาร 2 ชั้น หลังคาทรงปั้นหยา มุงด้วยแผ่นเหล็ก สถานที่ทำงานเป็นอาคารชั้นเดียว หลังคามุงด้วยแผ่นเหล็ก มีสันแหลม
ผนังภายนอกเป็นผนังไม้ซ้อนเกล็ด ทางเหนือเป็นที่ล้างเท้า มีอ่างล้างเท้าแคบ ๆ ยาวๆ อยู่ ส่วนทางใต้เป็นที่ซักผ้า ชั้น 2 เป็นที่เก็บของเบ็ดเตล็ด เสื้อผ้า และหนังสือ พื้นปูไม้กระดานทั้งหมด ด้านบนมีหน้าต่างรับแสงสว่างโดยรอบ เพดาน เป็นแบบเพดานไม้เปลือยฝ้า ด้านนอกมองเห็นดั้ง
แล้วก็เดินเลี้ยวซ้ายเข้าไป จะเจอกับรถเกี่ยวหรือไถพืชผลทางการเกษตรอันนี้ไม่แน่ใจครับ
ขึ้นบันไดไปชั้น 2 จะเจอแบบนี้ กั้นเป็นห้องๆ
อันนี้คือภายในห้อง ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าใช้ทำอะไร
เดินลงมาชั้นล่าง และเดินเข้าไปจนสุดอาคาร จะเป็นโรงครัวครับ
ข้อมูลจากเว็บไซท์เรือนจำอะบาชิริ
โรงครัว
หลังคามุงด้วยแผ่นเหล็ก มีสันแหลม ผนังภายนอกเป็นผนังไม้ซ้อนเกล็ด โครงหลังคาแบบดั้ง
ติดปล่องควันใหญ่และเล็ก 2 แห่ง ทำให้เป็นห้องอาบน้ำเป็นเหมือนตอนที่ก่อสร้าง อยู่ที่สองฟากของห้องต้มน้ำ อ่างอาบน้ำมี 2 แห่ง เรือนจำสาขาฟุตามิกะโอกะ เป็นกลุ่มสถาปัตยกรรมที่หาได้ยากทั่วทั้งประเทศ เพราะเป็นเรือนจำที่มีพื้นที่ทางการเกษตร และยังคงหลงเหลืออาคารที่สำคัญที่ย้อนกลับไปถึงตอนที่สร้างในปี ค.ศ. 1912 ได้รับการยอมรับว่ามีคุณค่าทางด้านประวัติศาสตร์การลงโทษในฐานะที่เป็นโบราณสถานที่แสดงให้เห็นถึงขั้นตอนการพัฒนา โดยเริ่มจากการค้างแรมในสถานที่ทำงาน ซึ่งอยู่นอกสถานที่ และค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสถานที่ที่มีระบบการปฏิบัติต่อนักโทษที่ก้าวหน้า และได้รับการยอมรับในด้านประวัติศาสตร์และการศึกษา จนได้รับการกำหนดให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรม
เดินเข้าไปข้างในจะเจอกับห้องอาบน้ำครับ มีอ่างอยู่ 2 อ่าง ผู้คุมยืนดูอยู่ตลอดเวลา
หิวกันหรือยัง?....กำลังจะล้างผักทำอาหาร
และก็เดินออกมา ตรงนี้จะแสดงชุดนักโทษในสีต่างๆ ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าแยกตามอะไร
ผู้คุมคนนี้ยืนอยู่ตรงทางแยกพอดี หันไปมาน่ากลัวมากๆ
คราวนี้มาที่อีกฟากของอาคาร จะเป็นเรือนจำกันแล้วทีนี้
ข้อมูลจากเว็บไซท์เรือนจำอะบาชิริ
ห้องขัง
ด้านนอกของห้องขังรวมเป็นผนังไม้ซ้อนเกล็ด หลังคามุงแผ่นเหล็กแบบมีสันแหลม ตรงกลางมีช่องสังเกตการณ์ อาคารที่ 1 อยู่ทางทิศตะวันออก อาคารที่ 2 อยู่ทางทิศตะวันตก เรียงกันเป็นเส้นตรง ตอนที่สร้างมีอาคารทางทิศเหนือด้วย เป็นรูปตัว T
ช่องสังเกตการณ์พื้นปูด้วยไม้ เพดานเป็นแบบเพดานเรียบ มีสองชั้นติด Cornice หักมุมขึ้นไปด้านบน ผนังฉาบปูน ส่วนล่างของผนังติดแผ่นไม้แนวตั้งไว้โดยรอบ ภายในมีทางเดิน และมีห้องที่หันหน้าเข้าหากันทั้งสองข้าง มีห้องขังรวมกว้าง 6 เสื่ออยู่ 20 ห้อง ที่กำแพงระหว่างทางเดินกับห้อง มีประตูไม้ ภาพตัดของทั้งสองข้างทำให้เป็นรูปสี่เหลี่ยมด้านขนาน มีไม้กระดานติดไว้ในแนวตั้ง มีหน้าต่างติดตะแกรงทำด้วยไม้ไว้ที่ส่วนบน โครงสร้างหลังคานั้นช่องสังเกตการณ์ที่อยู่ตรงกลางเป็นดั้ง อาคารหลังแรกจะเป็นโครงหลังคาแบบผสมผสานระหว่างโครงถักกับวาโกยะ อาคารที่ 2 มีโครงหลังคาที่คล้ายกับโครงรับหลังคาชนิดวางเสาคู่ที่ไม่เชื่อมต่อกับขื่อ
ด้านหน้าของห้องคุมขังนักโทษ
วิวด้านนอกตรงทางเชื่อมอาคาร หิมะก็ยังคงตกอยู่ตลอด
และก็มาอีกห้องหนึ่ง เป็นการแสดงโมเดลจำลองขนาดเล็กถึงการทำฟาร์มการเกษตรโดยนักโทษ ให้ดูตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นยันพระอาทิตย์ตกดินเลยทีเดียว
เข้ามาห้องนี้ บาทหลวงกำลังให้โอวาทกะบนักโทษพอดี เรียกว่าห้องเลกเชอร์
ข้อมูลจากเว็บไซท์เรือนจำอะบาชิริ
อาคารอบรมจริยธรรม
อาคารอบรมจริยธรรมนั้น เป็นห้องเดี่ยว พื้นปูด้วยกระดานไม้ ยกพื้นทำเป็นเวที ผนังภายในฉาบปูน มีหน้าต่างกระจกแบบเลื่อนขึ้นลงเรียงกัน ด้านล่างของผนังติดแผ่นกระดานในแนวดั้งโดยรอบ เพดานตรงกลางติดโคมไฟประดับทรงกลม และช่องระบายอากาศรูปเหลี่ยมติดตั้งไว้อยู่ โครงหลังคาเป็นแบบวางเสาคู่
แล้วก็เสร็จสิ้นการชมอาคารสาขาฟุตามิกะโอกะ กลับมาตอบคำถามที่ถามค้างไว้ว่า กลัวมั้ยชมคนเดียว? คำตอบคือ ไม่กลัว เพราะจริงๆแล้วมันมีแสงสว่างปกติ เป็นตอนกลางวัน แต่ถ้าเป็นตอนกลางคืนอาจจะกลัวก็ได้ครับ อิอิ
เลี้ยวซ้ายเข้าห้องน้ำก่อนครับ ปวดฉี่เหลือเกิน เลยขอแชะภาพตัวเองแบบปิดมิดชิดกันหน่อย
แล้วก็ออกเดินต่อไปยังอาคารด้านหน้า จะคืออะไรนั้นต้องติดตามกัน
มาถึงแล้ว แต่เป็นส่วนปลายของอาคารไม้ที่มี 5 แฉกด้วยกัน ซึ่งนั่นคือ เรือนจำ 5 แฉกอันโด่งดังของญี่ปุ่นนั่นเอง
เดินไปที่ทางเข้าตรงกลางกันดีกว่า สถานที่นี้เป็นจุดที่ 6 Prison House and Central Guard House หิมะนี่ก็ตกหนักเรื่อยๆเลยนะครับ
เข้ามาด้านในแล้วครับ ลมจากภายนอกพัดเข้ามาแรงมากจนเศษหิมะหลุดเข้ามายังด้านในสีขาวๆตรงพื้นอย่างที่เห็น ตรงนี้เราจะเจอกับป้อมทรงแปดเหลี่ยม ซึ่งอยู่ในจุดที่มองเห็นทางเดินได้ครบทั้ง 5 แฉก
ข้อมูลจากเว็บไซท์เรือนจำอะบาชิริ
อาคารหลังนี้เป็นอาคารไม้ชั้นเดียว จากจุดเฝ้าสังเกตการณ์ที่อยู่ตรงกลาง มีห้องขังรวมแผ่ออกไปเป็น 5 แฉกเรียงไปจากด้านข้าง ไปยังด้านหลัง และเนื่องจากมีทางเดินเชื่อม จึงเรียกว่าห้องขัง 5 แฉก ผนังภายนอกเป็นแบบผนังไม้ซ้อนเกล็ด หลังคาเคยปูด้วยกระเบื้อง แต่ปัจจุบันปูด้วยแผ่นเหล็ก
ห้องขังนั้นจะเรียงลำดับจากทิศเหนือ อาคารที่ 1 ถึงอาคารที่ 5 ความยาวของอาคารหลังที่ 1, 3, 5 ยาว 58.2 ม. หลังที่ 2 และ 4 ยาว 72.7 ม. ภายในมีห้องอยู่สองฟาก หันหน้าเข้าหากัน ตรงกลางมีทางเดิน นอกจากห้องขังเดี่ยวในอาคารที่ 4 ซึ่งมี 80 ห้อง และด้านในของอาคารที่ 5 ซึ่งมี 20 ห้อง ที่มีพื้นที่ 4.95 ตร.ม.แล้ว แต่ละหลังจะประกอบด้วยห้องขังรวม 226 ห้อง แต่ละห้องกว้าง 9.9 ตร.ม. มีหน้าต่างรับแสง ความหนา 7 มม. 2 แห่งที่อาคารหลังที่ 1, 3, 5 และ 3 แห่งที่อาคารหลังที่ 2 และ 4
มีเสาลับอยู่ภายในกำแพง ห้องขังรวมจะมีระยะห่าง 30 ซม. ห้องขังเดี่ยวมีระยะห่าง 21 ซม. เพื่อไม่ให้กำแพงถูกทำลาย
โครงหลังคาเป็นโครงหลังคาวางเสาคู่ที่เชื่อมกับขื่อด้วยเหล็กเส้น ตรงส่วนกลางจะเห็นตัวยึดไม่ให้แยกออกจากกันที่ทำด้วยเหล็กเส้น เป็นรูปตัว Y กลับหัวโผล่ออกมา พื้นปูกระเบื้อง ในห้องขังพื้นปูไม้กระดาน มุมแต่ละห้องมีฉากกั้นทำเป็นห้องสุขา กำแพงในห้องฉาบปูนเสริมไม้ระแนง เพดานเป็นเพดานเรียบติดแผ่นไม้หนา 15 มม.
ทางเดินและกำแพงที่กั้นระหว่างห้องมีประตูไม้ ด้านข้างทั้งสองด้านติดไม้กระดานในแนวตั้ง ด้านบนมีหน้าต่าง ส่วนบนติดตะแกรงเหล็ก ภาพตัดขวางของไม้กระดานที่ติดในแนวตั้งนั้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมด้านขนาน หรือเป็นรูป “く” ทำหน้าที่ทั้งระบายอากาศและให้ความอบอุ่น ขณะเดียวกันยังบังไม่ให้เห็นห้องที่อยู่ข้างๆ ด้วย ประตูไม้เป็นประตูมีกรอบ เปิดด้านเดียว ด้านบนมีช่องสังเกตการณ์ติดตะแกรงเหล็ก ด้านล่างมีช่องส่งอาหาร ติดสายยูขนาดใหญ่ ที่กำแพงภายในห้อง ตำแหน่งที่สูงจากพื้น 1.5 เมตร มีหน้าต่างกระจกเปิดออกด้านข้าง ด้านบนมีไม้ฉลุลาย ด้านนอกติดกระดานไม้ในแนวตั้ง
ตรงกลางของที่สังเกตการณ์กลาง มีป้อมยามรูปแปดเหลี่ยม มองเห็นทางเดินของห้องขังแต่ละห้อง
ทางเดินแฉกที่ 1 กับแฉกที่ 2 จากซ้ายไปขวา
ตู้กระจกนี้คือตู้ที่แสดงอาวุธของเจ้าหน้าที่คุมขังนั่นเอง มีทั้งกระบี่และปืนยาว ใครหนี่นี่คงตายอย่างเดียว
ห้องนักโทษ 2 ข้างในทางเดินแฉกที่ 2
ห้องนักโทษ 2 ข้างในทางเดินแฉกที่ 3
นักโทษคนนี้กำลังนั่งทำงานอะไรอยู่?
ส่วนนักโทษคนนี้โดนทำโทษขังเดี่ยวครับ
ห้องนี้นอนกัน 3 คน กำลังโซ้ยข้าวกันอย่างเอร็ดอร่อยเลย เพื่อนๆอยากทานกับเขามั้ยครับ? ฮ่าๆๆ
เดินเข้าไปลึกๆตรงปลาย อ้าว...เจอผู้คุม...ตกใจเลย กลัวโดนจับ เลยรีบหนีมาดีกว่า
ออกจากจุดที่ 6 เดินต่อมาพอประมาณ มาที่ด้านหน้าจุดที่ 7 Bathhouse ซึ่งก็คือโรงอาบน้ำนั่นเอง
สำรวจอุปกรณ์กันก่อน ลูกพ่อยังไหวมั้ย? Nikon D5100 กับเลนส์ Nikkor 18-135 mm. ยังไหวอยู่ครับ แม้จะถูกปกคลุมไปด้วยหิมะก็ตามที
เข้าไปด้านในครับ เจอผู้คุมเฝ้าสังเกตการณ์นักโทษอาบน้ำอีกแล้ว ไม่กลัวตาเป็นกุ้งยิงหรืออย่างไร?
ข้อมูลจากเว็บไซท์เรือนจำอะบาชิริ
สำหรับนักโทษแล้ว การอาบน้ำเป็นช่วงเวลาที่รอคอยอย่างใจจดใจจ่อ ช่วงเวลาหนึ่งสำหรับชีวิตในเรือนจำ ที่เรือนจำอาบาชิริมีการสร้างอ่างอาบที่ทันสมัย โดยเป็นอ่างคอนกรีต ต้มน้ำด้วยหม้อน้ำมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1912
แต่ละสถานที่ทำงาน รอบละ 15 คน จะให้ถอดเสื้อผ้า 3 นาที ลงแช่ในอ่างแรก 3 นาที ล้างตัว 3 นาที ลงแช่ในอ่างที่สอง 3 นาที สวมเสื้อผ้า 3 นาที ภายใต้การให้สัญญาณของผู้คุม ซึ่งเป็นการอาบน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ใช้เวลา 15 นาที ตั้งแต่ถอดเสื้อจนถึงใส่เสื้อ แต่อาบได้เพียงวันละ 200 คนเท่านั้น
กฎระเบียบของเรือนจำในสมัยนี้กำหนดให้ตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายน อาบได้เดือนละ 5 ครั้ง เดือนอื่นๆ อาบได้เดือนละครั้ง แต่ปัจจุบันอาบได้วันเว้นวัน
เดินเข้าไปดูเหล่านักโทษเขาอาบน้ำกันดีกว่า บางคนนี่สักมาเต็มตัว นักเลงชัดๆ
แล้วก็มาต่อที่จุดที่ 7 Brickwork Punishment Chamber เป็นห้องขังเดี่ยว ทำด้วยอิฐหนา 40 cm. ไม่มีหน้าต่างเลย ประตูก็มี 2 ชั้น นอกกับใน กันนักโทษหนีได้ชะงักจริงๆ
ข้อมูลจากเว็บไซท์เรือนจำอะบาชิริ
ตั้งแต่ปลายสมัยเมจิ เรือนจำอาบาชิริได้รับนักโทษที่มีทักษะในการทำอิฐจากเรือนจำซึ่งอยู่ในฮอนชู จึงได้เริ่มมีการเผาอิฐ และใช้อิฐที่ทำขึ้นมาได้ ในการสร้างอาคารสถานที่ต่างๆ เช่น กำแพง ประตู คลังเก็บของ หรือห้องขังเดี่ยว
ห้องขังเดี่ยวนี้ไม่มีหน้าต่าง มีประตู 2 ชั้น ยิ่งไปกว่านั้น ความหนาของกำแพงอิฐยังหนากว่า 40 ซม. ชื่อเรียกจะเปลี่ยนไปตามกฎระเบียบของเรือนจำ เช่น “ห้องลงโทษ” “ห้องล่ามโซ่” หรือ “ห้องคุ้มครอง”
กฎระเบียบของเรือนจำในสมัยเมจินั้น มีการลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืนกฎระเบียบอย่างรุนแรง โดยขังให้อยู่ในห้องมืดที่ไม่มีหน้าต่างและลดอาหาร เพื่อให้สำนึกผิด และคาดว่าห้องขังเดี่ยวนี้สร้างขึ้นให้เหมาะสมกับกฎระเบียบในสมัยนั้นๆ
ใกล้ๆกัน เดินอีกนิดเดียวก็จะเจอกับจุดที่ 8 Solitary Chamber หรือห้องขังเดี่ยวอาคารหลังเดียว มีอยู่ 2 อาคาร
ข้อมูลจากเว็บไซท์เรือนจำอะบาชิริ
ห้องขังเดี่ยวนั้น ตามกฎหมายว่าด้วยการคุมขังแล้วควรขังนักโทษห้องละคน ตอนที่มาสร้างเรือนจำสาขาอาบาชิรินั้นมี 16 หลัง และตอนที่สร้างขึ้นใหม่ในปี ค.ศ. 1912 มี 34 หลัง แต่จากการเปลี่ยนจุดประสงค์ในการลงโทษเป็นเพื่อให้กลับไปอยู่ในสังคมได้ จึงค่อยๆ ลดการใช้งานลง “เพราะเน้นที่การขังรวม เพื่อที่จะปลูกฝังการเข้าสังคมและไม่ต้องดูแลมาก”
ห้องขังเดี่ยวที่สร้างขึ้นมาใหม่ โดยอาศัยเอกสารในสมัยนั้น เป็นกระท่อม ฝาทำจากแผ่นไม้ หลังคามุงกระเบื้อง ภายในแบ่งเป็นห้องที่ไม่ได้ปูพื้น และห้องนอน ห้องนอนมีความกว้าง 2 เสื่อ ปูด้วยแผ่นไม้ รับแสงสว่างจากทางเข้า และช่องระบายลมเท่านั้น
ดูสิ โดนขังเดี่ยวน่าสงสารมากๆเลย แต่ถ้าสำนึกผิดไวก็ออกมาไวนะครับ สู้ๆ
ได้เวลาเดินไปอีกจุดแล้วครับ นั่นคือจุดที่ 9 Lecture Hall หรือห้องอบรมนักโทษนั่นเอง
ข้อมูลจากเว็บไซท์เรือนจำอะบาชิริ
อาคารนี้เป็นหอประชุมที่ใช้อบรมทางด้านจริยธรรม การอบรมจริยธรรม หมายถึงการอบรมที่ให้ความสำคัญทางด้านจิตใจ ศีลธรรม และศาสนาให้แก่ผู้ต้องขัง พระสงฆ์หรือบาทหลวงจะแนะนำแนวทางที่ถูกต้องในการดำรงชีวิตของมนุษย์ให้แก่ผู้ต้องขัง เป็นสถานที่ที่จะนำไปสู่การเริ่มต้นชีวิตใหม่
ถ่ายทอดเรื่องราวว่านักโทษได้ทุ่มเททั้งจิตใจและวิญญาณให้กับการก่อสร้าง
หลังคามุงกระเบื้องลอนทรงฟิลิปปินส์ โครงหลังคาจะเป็นแบบวางเสาคู่ที่มีระยะห่างมากและมีดั้ง เสาคู่นั้นอยู่บนคานสองชั้น ยึดเสาและคานล่างด้วยไม้ค้ำ จึงสามารถสร้างห้องกว้างที่ปราศจากเสาได้
ภายในเป็นห้องเดี่ยวปูด้วยไม้ มีเวทีอยู่ตรงกลางด้านหน้า มีห้องข้างๆ ทั้งซ้าย และขวา ผนังภายในฉาบปูนติดแผ่นไม้แนวตั้งที่ด้านล่างของผนัง ติด Cornice คู่ มีโคมไฟทรงกลม 3 แห่ง ผนังด้านนอกเป็นผนังไม้ซ้อนเล็ด มีเสาที่มุม ด้านล่างของผนังติดแผ่นไม้ในแนวตั้ง มีหน้าต่างเลื่อนขึ้น ลง ซึ่งมี Pediment ครึ่งวงกลม ชายคาแอ่น ตรงมุมชายคาติดพัดลมไว้ที่จันทัน มีรูปปลาที่มีรูปร่างแปลกๆ ที่เรียกว่าอิริซึกิ เกเกียว และใบไม้ประดับไว้ที่จั่ว เป็นสถาปัตยกรรมที่มีการคิดค้นสิ่งใหม่ และเทคโนโลยีที่ผสมผสานระหว่างยุโรปและญี่ปุ่น การคิดค้นสิ่งใหม่ในส่วนที่เป็นรายละเอียดนั้น แลดงให้เห็นถึงมาตรฐานการออกแบบ และเทคโนโลยีการก่อสร้างที่สูงของกระทรวงยุติธรรม
เดินเข้าไปด้านในกันครับ ภายในก็เป็นห้องโถงโล่งๆ ไม่มีแม้แต่เก้าอี้นั่ง ด้านข้างก็มีการแสดงข้อมูลประวัติ ส่วนด้านหน้าเป็นเวทียกพื้นสูง มีพระพุทธรูปให้กราบเคารพ
ช่วงนี้หิมะตกหนักขึ้นมาก เท้าผมจมไปด้วยหิมะแล้วครับ ก็หมดสถานที่ฝั่งนี้แล้วครับ เดี๋ยวจะเดินวกเข้าไปที่อาคารบัญชาการก่อนดีกว่า พักหนาวและหาอะไรร้อนๆดื่มด้วย
เข้ามาภายในก็มาสั่งกาแฟร้อนก่อนเลย ดันจำราคาไม่ได้ซะด้วยสิ น่าจะประมาณ 200 เยน อากาศหนาวๆ เย็นๆแบบนี้ บอกเลยว่า กาแฟสดร้อนๆช่วยคลายร้อนได้มากๆเลยครับ
สังเกตเห็นแผนที่ที่ผมวางไว้มั้ยครับ คือคู่มือไปจุดต่างๆในพิพิธภัณฑ์นี้ได้อย่างดีเลย อ้อ...เจ้าหน้าที่ผู้หญิงก็ดีครับ ช่วยเหลือเรื่องสถานที่ได้อย่างดีเลยครับ ถือผมถามว่าถ้าจะไป Hokkaido Museum of North People ไกลมั้ย และไปโดยวิธีไหนดีที่สุด เขาก็เอาตารางรถบัสมาให้ดูครับ ที่ผมแสดงในตอนก่อนนะครับ
พอพักนั่งทานกาแฟสดร้อนหมดแก้วแล้ว ก็ออกไปข้างนอกอีกครั้ง ยังเหลือสถานที่ที่ต้องไปเก็บอีกนิดนึงครับ ตรงนี้เป็นจุดที่ 10 Prison Watergate หรือประตูทางน้ำของเรือนจำนั่นเอง
ข้อมูลจากเว็บไซท์เรือนจำอะบาชิริ
แม่น้ำอาบาชิริไหลผ่านหน้าเรือนจำอาบาชิริ ที่เรือนจำอาบาชิรินั้น ใช้แม่น้ำสายนี้เป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำที่สำคัญในการขนส่งของใช้ที่จำเป็นในชีวิตประจำวันหรือขนปุ๋ย เข้าสู่พื้นที่ทางการเกษตร ที่พิพิธภัณฑ์ได้ย้อนเวลากลับสู่อดีต โดยทำให้สภาพการใช้แพในการขนปุ๋ยเข้าสู่พื้นที่ทางการเกษตรปรากฏขึ้นอีกครั้ง
ข้อมูลจากเว็บไซท์เรือนจำอะบาชิริ
ประตูทางเข้าด้านหลังของเรือนจำอาบาชิริหรือที่เรียกทั่วไปว่า “ประตูใช้ผ่าน” เป็นประตูแรกที่เริ่มมีการใช้อิฐแดงในการสร้างประตูและกำแพงในปี ค.ศ. 1918
หลังจากนั้นนักโทษก็ค่อยๆ ก่ออิฐทีละเล็กทีละน้อย จนในที่สุดกำแพงอิฐยาว 1,080 ม. ก็เสร็จสมบูรณ์ในปี ค.ศ. 1923 จากนั้นเป็นต้นมา ก็ใช้เป็นประตูทางเข้าด้านหลังของเรือนจำอาบาชิริ ถึงเดือนกันยายน ปี ค.ศ. 1993 เป็นเวลา 70 ปี นักโทษที่ออกไปยังสถานที่ทำงาน (เกษตรกรรมหรือเลี้ยงหมู) นอกกำแพง ก็จะผ่านประตูนี้ และประตูนี้สำหรับนักโทษหากผ่านประตูนี้ออกไปนอกเขตแล้วจะสัมผัสได้ถึงความรู้สึกปลดปล่อย ซึ่งต่างจากประตูด้านหน้าที่ดูแข็งแกร่ง
ข้อมูลจากเว็บไซท์เรือนจำอะบาชิริ
แม่น้ำอาบาชิริไหลผ่านหน้าเรือนจำอาบาชิริ ที่เรือนจำอาบาชิรินั้น ใช้แม่น้ำสายนี้เป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำที่สำคัญในการขนส่งของใช้ที่จำเป็นในชีวิตประจำวันหรือขนปุ๋ย เข้าสู่พื้นที่ทางการเกษตร ที่พิพิธภัณฑ์ได้ย้อนเวลากลับสู่อดีต โดยทำให้สภาพการใช้แพในการขนปุ๋ยเข้าสู่พื้นที่ทางการเกษตรปรากฏขึ้นอีกครั้ง
ใกล้ๆกันก็เป็นจุดที่ 11 Back Gate หรือประตูด้านหลังของเรือนจำอะบาชิริ
ประตูทางเข้าด้านหลังของเรือนจำอาบาชิริหรือที่เรียกทั่วไปว่า “ประตูใช้ผ่าน” เป็นประตูแรกที่เริ่มมีการใช้อิฐแดงในการสร้างประตูและกำแพงในปี ค.ศ. 1918
หลังจากนั้นนักโทษก็ค่อยๆ ก่ออิฐทีละเล็กทีละน้อย จนในที่สุดกำแพงอิฐยาว 1,080 ม. ก็เสร็จสมบูรณ์ในปี ค.ศ. 1923 จากนั้นเป็นต้นมา ก็ใช้เป็นประตูทางเข้าด้านหลังของเรือนจำอาบาชิริ ถึงเดือนกันยายน ปี ค.ศ. 1993 เป็นเวลา 70 ปี นักโทษที่ออกไปยังสถานที่ทำงาน (เกษตรกรรมหรือเลี้ยงหมู) นอกกำแพง ก็จะผ่านประตูนี้ และประตูนี้สำหรับนักโทษหากผ่านประตูนี้ออกไปนอกเขตแล้วจะสัมผัสได้ถึงความรู้สึกปลดปล่อย ซึ่งต่างจากประตูด้านหน้าที่ดูแข็งแกร่ง
แล้วก็เดินลุยหิมะไปทางขวามือกันเลย(เกือบลื่นอยู่หลายครั้ง)
มาถึงด้านหน้าประตูทางเข้า Courthouse of Abashiri Branch หรือสถานที่พิพากษานักโทษสาขาอะบาชิริ จุดที่ 12
ข้อมูลจากเว็บไซท์เรือนจำอะบาชิริ
ศาลแขวงคุชิโระของศาลสาขาอาบาชิริ
อาคารหลังนี้ เป็นอาคารที่ได้รับมอบจากศาลแขวง (ศาลที่มีการพิจารณาคดีลหุโทษโดยผู้พิพากษาท่านเดียว) ศาลแขวงมีองค์คณะ (คดีร้ายแรงที่ต้องใช้ผู้พิพากษา 3 ท่าน) ห้องหารือร่วมกัน (ในกรณีที่คู่กรณีมีการยื่นข้อโต้แย้งในระหว่างที่พิจารณาคดีของศาลแขวงมีองค์คณะ และไม่สามารถตัดสินได้ทันที ผู้พิพากษาทั้ง 3 ท่านจะเข้าไปหารือกันในห้องนี้) ห้องรอพิจารณาคดี (ห้องที่ให้รอจนถึงการพิจารณาคดีของตน) และห้องไต่สวน (ห้องที่ผู้พิพากษาใช้ไต่สวนผู้ต้องหาหรือจำเลย เพื่อพิจารณาว่าสมควรตัดสินจำเรือนจำหรือไม่) เนื่องจากมีการสร้างอาคารศาลแขวงคุชิโระของศาลสาขาอาบาชิริ และศาลที่มีการพิจารณาคดีแบบรวบรัดหลังใหม่ จึงต้องรื้อทำลายอาคารหลังเก่า
ลักษณะภายนอกของอาคารนี้ เป็นแบบเดียวกันกับศาลแขวงอาบาชิริหลังเก่าที่เคยใช้มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1900 ถึงปี ค.ศ. 1957 แต่เครื่องตกแต่งซึ่งอยู่ภายในที่ย้ายมานั้น เป็นการนำของที่ใช้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1957 ถึงปี ค.ศ. 1991 มาวางไว้ ทั้งความกว้างและความสูงยังคงเหมือนเดิมทุกประการ จัดแสดงโต๊ะ เก้าอี้ ไฟให้แสงสว่าง และผ้าม่านที่เคยใช้ภายในศาลมาแล้วจริงๆ
เดินเข้าไปด้านในกัน
เข้ามาก็จะเห็นห้องย่อยหลายๆห้อง เป็นห้องพิจารณาคดีต่างๆ
ห้องนี้กำลังพิจารณาคดีที่จำเลยเป็นผู้หญิง
เสร็จจากศาลแขวงก็มาอีกจุดซึ่งเป็นจุดสุดท้ายแล้ว นั่นคือจุดที่ 13 The Miso and Soysouce Storehouse หรือคลังเก็บซุปมิโสะและซอสถัวเหลืองนั่นเอง
ข้อมูลจากเว็บไซท์เรือนจำอะบาชิริ
เรือนจำอาบาชิริซึ่งพยายามที่จะมุ่งไปสู่การผลิตเอง ใช้เอง ในฐานะที่เป็นเรือนจำที่มีพื้นที่ทางการเกษตรนั้น ได้เริ่มสร้างโรงงานผลิตมิโซะและซีอิ๊ว พื้นที่ 99 ตร.ม. ในปี ค.ศ. 1892 เพื่อผลิตเครื่องปรุงอาหาร เช่น มิโซะและซีอิ๊ว
ถั่วเหลืองมีพื้นที่ในการปลูกกว้างรองจากข้าวสาลี เนื่องจากความพอดีในการหมักนั้นจะทำให้รสชาติแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย จึงต้องให้นักโทษที่มีประสบการณ์ในการผลิตมาเป็นเวลานานรับหน้าที่ ถังใหญ่ที่จัดแสดงอยู่ในคลังนี้ เป็นถังขนาดยักษ์ที่เรียกว่า ถังโกะจุสเซกิ ซึ่งสามารถบรรจุซีอิ๊วได้ถึงประมาณ 9,000 ลิตร (เท่ากับขวด 1 โชประมาณ 5,000 ขวด)
ภายในอาคารครับ จะเห็นถังไม้ขนาดใหญ่วางอยู่หลายถังเลย เอาไว้เก็บมิโสะและซอสถั่วเหลืิอง
ส่วนนี่เป็นภาชนะที่ใช้ในกระบวนการเก็บมิโสะและซอสถั่วเหลืองครับ
Flow Chart ของการทำซอสถั่วเหลือง ชัดเจนดีมากๆ ใครเอาไปทำช่วยส่งตัวอย่างมาให้ชิมด้วยครับ อิอิ
และแล้วก็ได้เวลากลับแล้วครับ รวมเวลาที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ฯทั้งสิ้น 3 ชั่วโมง 20 นาที เดินออกมาตรงประตูทางออกอีกประตูหนึ่ง ตอนนี้เวลา 12.28 น. ต้องเดินกลับไปที่ป้ายจอดรถตอนที่ลงรถตอนขามาเพื่อรอรถบัสกลับตัวเมืองอะบาชิริครับ แต่จะบอกว่า เกิดเหตุการณ์ที่ไม่ได้ตามแพลนที่วางไว้ เนื่องมาจากรถบัสตามที่เคยเกริ่นนำไป ไว้มาดูกันว่าเพราะอะไรในตอนต่อไปครับ
[ตอน 0] [ตอน 1] [ตอน 2.1] [ตอน 2.2] [ตอน 3.1] [ตอน 3.2] [ตอน 4.1] [ตอน 4.2] [ตอน 4.3] [ตอน 4.4] [ตอน 4.5] [ตอน 5.1] [ตอน 5.2] [ตอน 6.1] [ตอน 6.2] [ตอน 6.3] [ตอน 7.1] [ตอน 7.2] [ตอน 7.3] [ตอน 7.4] [ตอน 8.1] [ตอน 8.2] [ตอน 9.1] [ตอน 9.2] [ตอน 10.1] [ตอน 10.2] [ตอน 11.1] [ตอน 11.2] [ตอน 11.3] [ตอน 12.1] [ตอน 12.2] [ตอน 13.1] [ตอน 13.2] [ตอน 14.1] [ตอน 14.2] [ตอน 15.1] [ตอน 15.2]
เห็นว่าบทความนี้น่าสนใจ รบกวนกดแชร์ด้วยครับ
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น