วันพุธที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2562

ตุรกี...คนเดียวก็เที่ยวได้ ตอน 12.2 ภารกิจตามหาหัวงูจากเสาที่ 2 ณ พิพิธภัณฑ์โบราณคดีอิสตันบูล(Istanbul Archaeology Museums) ที่ที่มีพิพิธภัณฑ์ย่อย 3 แห่งอยู่ภายใน


หลังจากเสร็จสิ้นการชมพระราชวังทปคึปึ ต่อจากนี้จะไปพิพิธภัณฑ์โบราณคดีอิสตันบูล(Istanbul Archaeology Museums) / İstanbul Arkeoloji Müzeleri ซึ่งก็อยู่ใกล้ๆกันนั่นแหล่ะครับ โดยจะต้องซื้อตั๋วเข้าเพิ่มเติม ตั๋วเดิมที่เป็นตั๋วพระราชวังเข้าไม่ได้ ด้วยตอนที่ไปนั้นกำลังปรับปรุงอย่างขนานใหญ่ การเข้าไปชมจึงทำให้หาประตูทางเข้ายากพอควร เพราะบางประตูปิดไป แถมมีบางส่วนก็ต้องเข้าไปชมโดยผ่านจุดที่ไม่คิดว่าจะเป็นทางเข้าด้วยซ้ำไป โดยพิพิธภัณฑ์นี้ประกอบด้วยพิพิธภัณฑ์ย่อย 3 ส่วนด้วยกัน(สังเกตจากชื่อภาษาอังกฤษที่มีตัว s ต่อท้าย) คือ
1.Archaeological Museum (in the main building)
2.Museum of the Ancient Orient
3.Museum of Islamic Art (in the Tiled Kiosk)
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เก็บวัตถุโบราณมากกว่า 1 ล้านชิ้นซึ่งเป็นตัวแทนเกือบจะทั้งหมดของทุกยุคตั้งแต่เริ่มต้นในประวัติศาสตร์โลกเลยก็ว่าได้ วัตถุประสงค์หนึ่งที่ยังจำกันได้คือ ต้องการตามหาหัวงูจากเสาที่ 2 ที่สนามแข่งม้า(จัตุรัสสุลต่านอาห์เหม็ด) ที่บอกว่าเก็บไว้ที่นี่ ซึ่งการตั้งภารกิจแบบนี้มันก็จะสนุกไปอีกแบบ เพราะ ณ เวลาจริงมันอยู่ตรงไหนก็ไม่รู้ ต้องไปถามเจ้าหน้าที่ถึง 2 คนกว่าจะไปถูกที่ และด้วยการที่สถานที่กำลังปรับปรุงอยู๋ด้วยแล้ว ความสนุกก็ทวีคูณ เหมือนกับกำลังหา RC ยังไงยังงั้น ฮ่าๆๆ ต่อจากเสร็จสิ้นพิพิธภัณฑ์ฯ ก็เดินออกพระราชวังทปคึปึทางเดิมจากที่เข้ามา จริงๆก็ไม่ควรจะมีอะไรให้ดูแล้ว แต่เหลือบไปเห็นหลุมฝังศพ(Tomb) ของสุลต่านตรงทางเดินกลับ ซึ่งไม่เสียเงินค่าเข้าด้วยก็เลยเข้าไปดู เกือบพลาดสถานที่สำคัญไปแล้วเชียว


ก่อนจะหาทางเข้าไปพิพิธภัณฑ์ฯ ก็สอบถามเจ้าหน้าที่รปภ. โดยเอารูปหัวงูให้แกดู 555 ว่าถ้าจะไปดูเจ้าหัวงูนี้ไปที่ไหน เจ้าหน้าที่ก็ชี้มาให้เดินมาทางออกตรงนี้ ถ้ายังจำกันได้ในวันที่ 2 ที่มาถึงอิสตันบูล ผมก็เดินกลับมาทางนี้แหล่ะครับ ตอนที่รู้สึกว่าทางเข้าพระราชวังทอคะปิแถวยาว เลยยังไม่ได้เข้าไป
ปล.สังเกตป้ายที่ทำกรอบสีแดงไว้นะครับ เพราะ ถ้าเดินมาจากทิศเดียวกับผมที่จะไปลอดทางเข้านี้ เราจะไม่ทราบว่าป้ายที่ทำกรอบสีแดงไว้เขียนว่าอะไร อันนี้ก็ต้องเอาไปปรับปรุงให้มีข้อความทั้ง 2 ทิศทาง 


เพื่อไม่ให้งง ในพิพิธภัณฑ์จะมีอาคารหลัก 3 หลัง แบ่งเป็น 3 ส่วนตามที่แจ้งไว้ด้านบนว่ามีอะไรบ้าง ตัวเลขสีแดงที่กำกับไว้บนชื่ออาคารคือ ตัวเลขที่ตรงกับชื่อของพิพิธภัณฑ์ดังที่แจ้งไว้ด้านบน ส่วนเส้นสีแดงคือประตูทางเข้า ในที่นี่มี 2 ทางเข้า


เดินลอดซุ้มตามรูปข้างบนไปสักพักจะเจอกับทางเข้าด้านขวามือ ซื้อตั๋วตรงทางเข้า ราคาคนละ 30 TL แล้วก็เดินเข้ามา จริงๆจะเห็นอาคารแรกอยู่ทางซ้ายมือในรูป คือ Museum of the Ancient Orient ผมเดินเลยไปก่อน เพราะไม่คิดว่าจะใช่อาคารพิพิธภัณฑ์คิดว่าเป็นอาคารทำงานของเจ้าหน้าที่ธรรมดา แต่แล้วก็เดินกลับมาอีกครั้ง แล้วเดินเข้าไปครับ


เข้าไปก็จะมีวัตถุโบราณเยอะแยะดังที่เห็น จะขอลงเฉพาะที่แปลกๆน่าสนใจละกันครับ แต่แม้เลือกมาแล้วก็ยังรูปเยอะอยู่เช่นเดิม 555


อนุสาวรีย์ศีรษะสมัยก่อน เป็นตัวแทนหลุมฝังศพหินนั้นๆ ในสมัยศตวรรษที่ 1 ก่อนคริสตกาล - ศตวรรษที่ 1


คนหัวขาด....อึ๋ยยยย


หน้ากากสำหรับทำมัมมี่


นี่ครับ โลงไม้ของมัมมี่


นี่ก็จะเป็นโลงไม้ส่วนบนเขียน แกะสลักหน้าตาอย่างสวยงามเลยครับ


อิฐเคลือบเป็นทางเข้าก่อนจะถึงประตู Ishtar ประตูที่ 8 ไปยังภายในของนครบาบิโลน


เป็นฐานของเสาอะไรสักอย่าง ใหญ่มาก


อนุสาวรีย์พร้อมฐานแกะสลัก ที่ฐานมีสิงห์โต 2 ตัว อยู่ซ้ายและขวา ตรงกลางเป็นคนปลดปล่อยมัน สมัยฮิตไตล์ ปี 9 ก่อนคริสตกาล


หินแกะสลักอันนี้ก็สวยครับ ทำออกมาดีทีเดียว ยังไม่เสียหายอะไร


อาวุธสมัยก่อนที่ทำด้วยสำริด


สี่เหลี่ยมตรงกลางคือศิลาจารักอักษรอียิปต์โบราณของกษัตริย์ Tudhaliya IV ซึ่งเป็นกษัตริย์ของจักรวรรดิฮิตไทต์


โอ่งขนาดใหญ่ที่มีจารึกอักษรโบราณด้วย บอกความจุของมันเอง ขนาดใกล้เคียง 2000 ลิตร ไว้ใส่ เช่น น้ำมันหรือไวน์


แท่นหินแกะสลักรูปคนกำลังดูดาว พร้อมกับคำอธิบาย


เครื่องมือเครื่องใช้สมัยเมโสโปเตเมีย ได้ยินชื่อนี้แล้วนึกถึงตอนเรียนประวัติศาสตร์จัง ช่วงไหนน้าาา


อนุสาวรีย์ของกษัตริย์ Shalmaneser III ที่ยังทำไม่เสร็จ น่าเสียดายจัง ช่วง  858–824 BC


ส่วนอนุสาวรีย์นี้น่าจะเป็นคนเดียวกันกับด้านบน แต่เป็นอนุสาวรีย์ที่สร้างเสร็จแล้ว คือ Shalmaneser III  ช่วง Neo-Assyrian


Girsu (Telloh)


อนุสาวรีย์คือ Puzur Ishtar ผู้ว่าการแห่งเมืองมารี ถูกนำมาจากเมืองมารีไปยังบาบิโลน ช่วงบาบิโลนใหม่


เสร็จจาก Museum of the Ancient Orient ก็เดินออกมาแล้วเดินเข้าต่อไปตามทางเดินนี้ คล้ายๆสวน มีหลายคนมาวาดรูปรูปปั้นแกะสลักกันที่นี่กันหลายคนทีเดียว


ณ จุดนี้จะเห็นอาคารด้านซ้ายและด้านขวา ซ้ายคือ Museum of Islamic Art ขวาคือ Archaeological Museum ซึ่งกำลังปรับปรุงขนานใหญ่กันเลยครับ มีสิ่งของระเกะระกะวางขางบันไดทางเข้า ซึ่งก็จะเข้าทางนี้ไม่ได้โดยปริบาย แต่จะเห็นสโลปทางซ้ายมือที่เดินขึ้นไป นั่นแหล่ะสามารถเข้าทางนั้นได้ แต่ตอนนี้จะเข้าด้านซ้าย Museum of Islamic Art กันก่อนครับ



หน้าทางเข้าไปข้างในก็มีโมเสคสีฟ้าสวยอลังการเชียว


ส่วนใหญ่ก็จะเป็นข้าวของเครื่องใช้ ภาชนะ รูปแบบของบ้าน ประมาณนี้


เสร็จแล้วก็ออกมาด้านนอกเพื่อจะเข้าไปข้างในอาคารนี้ โดย ณ ขณะนี้ยังหาหัวงูไม่เจอนะครับ คิดว่าด้านในนี้คงจะเจอสักที


เดินตามสโลปขึ้นมา เข้าภายในอาคารก็จะเจอกับโลงศพแบบอียิปต์เลย เป็นหินอ่อนนะครับ น่าจะหนักน่าดู


มาดูอีกฝั่งใกล้ๆ บริเวณที่เป็นหน้าของศพ สลักโลงหินอ่อนเป็นใบหน้าซะเหมือนเลย มากลางคืนนี่มีขนหัวลุกแน่ๆ น่ากลัวเกิน


แล้วก็เดินเข้าไปข้างใน ชั้นล่างจะเป็นที่เก็บโลงหินเยอะมากๆ เสียดายไม่ได้ถ่ายโลงหินของ Alexander มา แต่เดินมาเจอกับนี่เลย ไม่รู้เป็นโครงกระดูกใคร


โลงหินนี้แกะสลักสวยงามมากๆครับ แล้วก็ยังสภาพที่ดีไว้ด้วยสิ ยอดเยี่ยมเลย


ภายในชั้นล่าง งานแกะสลักหินเยอะมาก


แล้วท่พื้นก็เป็น พื้นโมเสค เต็มไปด้วยสีสันสวยงาม สมัยโรมัน


ได้เวลาขึ้นไปชั้น 2 กัน สังเกตเห็นอะไรด้านหลังมั้ยครับ?


คือหินแกะสลักเมดูซ่านั่นเอง ครั้งนี้หน้าจะดูอ้วนๆไปหน่อยนะครับ ว่ามั้ย? แต่มองแล้วไม่แข็งเป็นหินแน่นอน รับรอง


ชั้นนี้ไม่มีอะไรมาก มีโลงศพแบบอียิปต์เช่นเดิม ที่แกะสลักด้านหน้าเป็นหน้าคน สุดท้ายก็ยังหาหัวงูไม่เจออีกแล้ว จึงลงไปชั้นล่าง ไปถามเจ้าหน้าที่ เอารูปหัวงูให้ดูอีกแล้ว แกก็บอกประมาณว่า ให้ไปอีกอาคารนึง แต่ออกไปที่ถนนก่อนนะ แล้วหัวงูจะอยู่ชั้น 1 อะไรประมาณนั้น ก็ยังไม่เข้าใจ แล้วทำไมต้องบอกชั้นด้วย หรือมีหลายชั้น? แต่ไม่เป็นไร เดี๋ยวไปถามเจ้าหน้าที่ตรงนั้นก็ได้ เพราะในนี้ไม่มีหัวงูจริงๆ


เดินย้อนไปที่อาคารแรก Museum of the Ancient Orient อีกครั้ง ไปถามเจ้าหน้าที่อีกคน แกก็บอกให้เดินออกไปก่อน แล้วไปเข้าทางเข้าอีกจุดนึง ก็พนักหน้าไปแบบงงๆว่า มันจะมีทางเข้าอีกเหรอ(ว่ะ) แต่เอาก็เอา เดินออกไปก่อนละกัน แล้วก็เดินมาตามทางนี้ คือเดินย้อนกับขามานั่นเอง อ้าวเฮ้ย...มันมีป้ายบอกนี่หว่า โดยชี้ไปทางซ้าย(ตามกรอบสีแดงที่ให้ดูในช่วงแรกๆ) ซึ่งก็คือทางสังกะสีสีเขียวที่กำลังปรับปรุงโดยมีเจ้าหน้าที่หญิงยืนคุยโทรศัพท์อยู่ ถ้าไม่สังเกตจริงๆจะไม่มีใครรู้เลยนะครับว่านั่นคือทางเข้าอีกทาง ซึ่งก็เห็นได้ว่า เมื่อเข้าไปข้างในแล้ว คนน้อยจริงๆ เพราะไม่มีคนรู้นั่นเอง เอาหล่ะ งั้นก็เดินเข้าไปถามเลยดีกว่าว่าใช่มั้ย เพราะก็ยังไม่แน่ใจจริงๆว่ามันจะใช่ทางเข้า 555


สุดท้ายก็ใช่ครับ เป็นส่วนหนึ่งของ Archaeological Museum แต่ต้องมาย้อนเข้าทางนี้ เอากระเป๋าเข้าสแกนอีกครั้งนึง และขอดูตั๋วเข้าพิพิธภัณฑ์ด้วย ก็ยื่นไป แล้วก็มาที่รูปนี้จุดแรก เป็นภาพวาดกำแพงเมืองพร้อมกับโซ่ขนาดใหญ่ที่ปิดทางเข้าไปยัง Golden Horn ในศตวรรษที่ 15 ก่อนคริสตกาล




ระฆังกาลาตา ใช้ทำอะไรก็ไม่รู้


จะบอกว่า เดินหาหัวงูอย่างเร่งด่วน ไม่ค่อยได้ดูอะไรเท่าไหร่ ฮ่าๆๆ รูปแกะสลักนี้คือใครก็ไม่ทราบได้ แต่ถ่ายแบบย้อนไปทางที่เดินเข้ามานะครับ


แล้วในที่สุดก็เจอจนได้ 555 ไม่เสียเที่ยวจริงๆ โล่งเลยจังหวะนี้ เป็นหัวงูของเสาที่ 2 Yılanlı Sütun /  Serpent Column / Plataean Tripod / Delphi Tripod เสากลางในสนามแข่งม้า ซึ่งเหลืออยู่เพียงหัวเดียวเท่านั้น


มาดูหัวงูกันใกล้ๆ ทำด้วยสำริด(Bronze)


ด้านข้างบ้าง เข้าใจแล้วว่า ถ้าไม่เอามาเก็บในนี้ วางไว้ที่ด้านนอกที่เสาที่ 2 คงน่าจะหายเป็นแน่แท้


คราวนี้สบายแล้วครับ เดินดูไปแบบไม่กดดันแล้ว ซึ่งดูสิครับ คนไม่มีเลย ผีหลอก ก็เล่นทางเข้าเป็นซะอย่างนี้ เลยไม่มีนักท่องเที่ยวรู้ว่าข้างในยังมีอะไรอีกเยะแยะเลย เพราะมันคืออาคารเดียวกันกับ Archaeological Museum แต่เข้าคนละทาง ทางเชื่อมคงปรับปรุงอยู่ เลยเข้าไม่ได้ อาจจะงงๆหน่อยๆ

หุ่นแกะสลักเยอะแยะเลย


แล้วก็ขึ้นไปชั้น 2 ครับ คราวนี้ถึงบางอ้อแล้วว่าทำไมเจ้าหน้าที่คนนั้นบอกชั้น 1 First Floor อ๋อ มันมีหลายชั้นนั่นเอง ไม่ใช่แค่ชั้นเดียว ก็ว่าอยู่


ชั้น 2 จะแสดงภาชนะตามยุคต่างๆ ส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องปั้นดินเผา ชั้นนี้จะเห้นคนมาดูอยู่บ้างครับ ไม่ผีหลอกแล้ว


เหยือกขนาดใหญ่มาก เรียกได้ว่าสมบูรณ์พอสมควรเลย แม้ว่าจะเอามาต่อประกอบกันก็ตามตามรอยที่เราเห็น


ขึ้นมาชั้น 3 แล้วครับ ชั้นนี้คนแทบจะไม่มีอีกแล้ว  โครงกระดูกด้านหลังของใครอ่ะ น่ากลัว


รูปปั้นแกะสลักอีกแล้ว เยอะจริงๆ ใครเป็นใครไม่ต้องรู้แล้ว


ชั้นนี้แสงจะออกทึมๆหน่อย พอเดินเข้ามาตรงกลางชั้นก็พอจะเ็นคนอยู่บ้าง


แล้วทันใดนั้นก็จะมีเสียงสัญญาณคล้ายๆไฟไหม้ดังต่อเนื่อง ก็มองหน้าเจ้าหน้าที่ แต่ดูเหมือนเจ้าหน้าที่จะไม่ได้อะไร สงสัยเป็นสัญญาณเสียที่ดังหลายครั้งมาแล้วมั้งเลยเฉยๆ แต่ผมไม่เฉยนะ พยายามดูเร็วๆจะได้ออกไป กลัว ส่วนรูปแกะสลักนี้ใครไม่ทราบแต่หน้าคุ้นๆจัง


ผ่านตรงนี้ก็จบแล้วสำหรับทั้ง 3 ชั้น รีบเดินลงมา


อันนี้ให้ดูครับว่าเขากำลังปรับปรุงกันอยู่  ไกลๆที่มีจั่วไม้ 3 เหลี่ยมพร้อมกับเสาอยู่ 5 เสา เขาเรียกว่า Pediment and shafts of a temple เข้าใจว่าสำคัญเช่นกัน

แล้วก็ถือว่าเสร็จสิ้นภารกิจที่พิพิธภัณฑ์โบราณคดีอิสตันบูล(Istanbul Archaeology Museums) โดยได้เข้าไปยังพิพิธภัณฑ์ย่อยทั้ง 3 แห่ง ได้ไปพบกับหัวงูตามที่ตั้งใจไว้ว่าจะมาดูให้ได้ ต่อไปจะเดินกลับทางเข้าพระราชวังฯ ตอนขามา


เดินไปสักพัก ตาเหลือบไปเห็นป้ายเขียนว่า Sultan Tomb และ Free Entrance อ่า...ไม่รอช้า เดินเข้าไปถามเจ้าหน้าที่เพื่อความแน่ใจ Free of charge? Yes. เจ้าหน้าที่ตอบกลับมา งั้นก็เข้ามาเลย ดูเหมือนหลายคนก็เดินผ่านไปนะครับ แต่พอเห็นผมเข้าไปก็เอามั่ง อันนี้เป็นแผนผังหลุมศพ(จริงๆมันคืออาคารเก็บโลงศพ) ของสุลต่านและเจ้าชาย ทั้ง 5 หลัง โดยทางเข้าคือลูกศรสีดำทางขวามือ จริงๆตัวเลขผิดไป 1 ตัว ผมถือวิสาสะ แก้ไขให้ ที่เขียนเลข 1 นั่นเอง(ก่อนหน้านี้เขาแปะเลข 2 ซ้ำ)

ซ้าย
เดินมาอาคารแรกทางซ้ายมือคือ Tomb of Sultan Mehmed III แล้วพอเข้าข้างในอาคารก็จะเป็นแบบนี้ อ้อ ถอดรองเท้าก่อนนะครับ และอาคารอื่นๆก็จะมีลักษณะคล้ายๆกัน ผมเลยไม่ได้ถ่ายมาทุกอาคาร


จะมีก็อาคารนี้ อาคารเล็กกว่าเขาเพื่อน เลข 2 คืออาคารเก็บศพของเจ้าชายนั่นเอง Tomb of Princes (16th Century)


ภายในจะเป็นแบบนี้ครับ โลงจะเล็กๆ และมีไม่กี่โลง


เสร็จจาก Tomb of Sultan ก็เดินผ่านมาตรงนี้ จะเจอกับลานกว้างซึ่ง ณ ตอนนี้ถูกแปลงเป็นเวทีจัดงานทิวลิปไปโดยปริยาย ลานทิวลิปประจำปีที่ใหญ่ที่สุดในโลก 

ทั้งหมดก็เป็นอันจบตอนนี้ไปด้วยดี ตอนที่รูปเยอะมากๆ มีภารกิจตามหาหัวงูกันสนุกสนาน แล้วเวลาได้เจอก็เหมือนได้ของขวัญ ทำให้ภารกิจลุล่วงไปได้ด้วยดี ตอนต่อไปจะไปล่องเรือผ่านช่องแคบบอสฟอรัส ช่องแคบที่แบ่งทวีปยุโรปและเอเชียออกจากกัน ติดตามกันในตอนหน้าครับ


เห็นว่าบทความนี้น่าสนใจ รบกวนกดแชร์ด้วยครับ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น