[ตอน 0] [ตอน 1] [ตอน 2.1] [ตอน 2.2] [ตอน 3.1] [ตอน 3.2] [ตอน 4.1] [ตอน 4.2] [ตอน 5.1] [ตอน 5.2] [ตอน 6.1] [ตอน 6.2] [ตอน 6.3] [ตอน 6.4] [ตอน 7.1] [ตอน 7.2] [ตอน 8] [ตอน 9] [ตอน 10.1] [ตอน 10.2] [ตอน 11.1] [ตอน 11.2] [ตอน 12.1] [ตอน 12.2] [ตอน 12.3] [ตอน 12.4] [ตอน 13]
เนื่องจากวันนี้รูปเยอะมากๆๆๆๆ เลยต้องขอแยกเป็นตอนย่อยถึง 4 ตอนด้วยกัน จะได้ไม่ขาดอรรถรสในการอ่านบันทึกเดินทางและภาพที่กว่าจะมาถึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆแถมมีอายุเป็นพันกว่าปี จะรวบรัดไม่ได้แน่นอน และวันนี้ก็ถือเป็นวันดีเอามากๆ เพราะอาการปวดไหล่ขวาที่แทบจะหลุดออกมานั้น บัดนี้มันแทบจะไม่รู้สึกอะไรเลย ซึ่งรู้สึกดีมากๆ
ตื่นประมาณ 7 โมงเช้า วิวที่มองออกไปนอกหน้าต่างห้องพักเป็นดังรูป น่าจะเป็นมัสยิด Tahsin Ağa Cami ที่อยู่บริเวณนั้น
8.36 น.ก็ลงมาชั้น 1 ชั้นอาหารเช้าของโรงแรม เป็นคนแรกของวันอีกแล้วที่มาทานอาหารเช้า อาหารครั้งนี้ไม่ได้มีไลน์อาหารที่ต้องไปตักนะครับ เดาว่าแขกคงน้อยเลยทำตามแขกแต่ละคนว่าจะทานอะไร เครื่องดื่มกาแฟร้อนใส่นม ส่วนอาหารเน้นไปที่ขนมปังก็จะอิ่มไปเอง สิ่งที่ขาดไม่ได้คือไข่ต้มนั่นเอง
ทานอาหารเช้าเสร็จก็เช็คเอาท์พร้อมกับแบกกระเป๋าลากมาฝากไว้ แล้วก็เดินพร้อมสะพายกระเป๋ากล้องไปท่ารถเซลฉุก(Selçuk Otogarı) ซึ่งอยู่ไม่ไกล กว้างขวาง สะอาด
เข้าไปถามว่าคันไหนไปเอฟิซุส พวกคนขับก็ชี้ไปที่รถคันนี้เลย คันนี้แหล่ะที่จะออกเที่ยวต่อไป
อากาศเย็นๆ เดินไปเดินมาสักพักเข้าไปนั่งรอในรถดีกว่า อุ่นด้วย ในรถก็สภาพดีครับ รถตู้ตุรกีขับดี ไม่เร็วกว่านรกเหมือนประเทศเราแน่นอนครับ บ้านเขามีกฎหมายและใช้บังคับอยู่เต็มที่
แผนที่เส้นทางการเดินทาง
ปล. ทางเข้าเอฟิซุสจะมี 2 ประตู คือฝั่งด้านเหนือ และฝั่งด้านใต้
ซื้อตั๋วก่อนตรงเคาน์เตอร์ด้านซ้ายมือ คนละ 60 TL คุ้มนะครับ ไม่แพงเลย
มาถึงตอนนี้ 9.47 น.ถือว่าเช้านะครับ นักท่องเที่ยวยังไม่ค่อยมาถึงกัน ตรงทางเดินจะมีป้ายเขียนว่า EFES (ภาษาตุรกี) ซึ่งก็คือ เอฟิซุส(Ephesus) นั่นเอง ได้รับการลงทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2015 จากองค์การยูเนสโก้
เดินมาเรื่อยๆจะเจอหินคล้ายๆเสาทั้งทรงกระบอกและทรงสี่เหลี่ยม ทั้งหมดนั้นคือ หลักกิโลเมตร(Milestone) นั่นเอง ซึ่งก็เหมือนในปัจจุบันที่มีหลักกม.วางข้างๆถนนเพื่อบอกระยะทางจากอีกเมืองไปอีกเมือง แม้ว่าทั่งๆไปจะใช้หินจากท้องถิ่นนั้นๆ แต่ก๋มีบางทีที่ใช้หินอ่อนด้วยเหมือนกัน ย้อนกลับไปในศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาล(มีแสดงในพิพิธภัณฑ์เอฟิซุส) หน่วยที่ใช้วัดเรียกว่า Stadia (185 เมตร) หลักกม.แรกในยุคโรมันหน่วยที่ใช้วัดชื่อว่า Milla Passuum(1,000 ก้าว) ได้ถูกมามาใช้กับหินเหล่านี้ นอกเหนือจากข้อมูลระยะทางบนหลักกม.แล้ว ชื่อจักรพรรดิที่ได้สร้างถนนนั้นๆ หรือทำการซ่อมบำรุงถนนก็จะถูกสลักไว้บนหลักกม.ด้วยเช่นกัน และเพื่อเป็นการเพิ่มการมองเห็นให้ดียิ่งขึ้น ตัวอักษรบนหลักกม.จะถูกระบายสีให้เป็นสีแดงเพื่อให้เห็นยิ่งขึ้น สรุปคือ เราเองในปัจจุบันก็นำวิธีการนี้ที่ยุคโรมันเขาใช้มาใช้สืบต่อมานั่นเอง
เดินไปอีกนิดก็จะเจอทางแยกซ้ายขวา ซ้ายไปโรงละคร(The Great Theatre) ส่วนด้านขวาจะเป็นถนนเรียกว่า The Arcadiane เป็นถนนยาว 500 เมตร กว้าง 11 เมตร เป็นจุดสำคัญมากๆคือเป็นทางที่เชื่อมระหว่างอ่าว(Habour) มายังโรงละคร(The Great Theatre) ในสมัย A.D. 395-405 ชื่อทางเดินมาจากจักรพรรดิอาคาเดียส(Arcadius) นั่นเอง
แล้วก็เดินมาทางซ้าย โอ้ว...น่าเสียดายที่มาจังหวะที่กำลังปรับปรุงกันอยู่เลย ทาวเวอร์เครนตัวใหญ่เบ้อเร่อ กะจะไม่ให้ย้อนยุคกันเลยทีเดียว นึกในใจ เสียดายจังคงไม่ได้เข้าไปในโรงละครนั้น
ตรงนี้เป็นสิ่งปรักหักพังกองไว้ข้างๆทางเดิน มีเลขกำกับด้วย ไม่แน่ใจว่าของจริงมั้ย เดาว่าไม่ใช่ของจริงแล้วนะครับ คงทำใหม่
แต่พอเดินไปใกล้ๆ ก็มีทางเดินให้เข้าไปข้างในได้นะ คิดว่าห้ามเข้าซะอีก คือตระการตาจริงๆครับ ตั้งหลายพันปียังอยู่มาถึงตอนนี้ สร้างบนภูเขาที่ชื่อว่า Panayir mountain จุคนได้ประมาณ 25,000 คน อัฒจันทร์ประกอบด้วย 66 แถวที่เป็นที่นั่งหิน แยกเป็น 3 ส่วนตามแนวระดับ โดยแถวหลังๆจะชันมากขึ้นเพื่อให้สามารถชมการแสดงได้ชัดเจน คือสุดยอดมากๆครับ ตามหลักวิศวกรรมจริงๆ
ปล.ตอนเข้าไปถึงนี่ ทัวร์จีนกำลังลงไปเวทีด้านล่างร้องเพลงจีนกันสนุกสนานเลย ก็ขำดีนะครับ พี่จีนนี่ทำได้ทุกอย่างจริงๆ
มาเดินมาถึงแถวบนๆ น่าจะเป็นรอยต่อ section 2 ไป section 3 ซึ่งจะทำรั้วไม่ให้เข้าไปได้แล้ว น่าจะเพราะมันชันและอันตราย หญ้า/ต้นไม้เลยขึ้นตามซอยๆทางเดิน สวยไปอีกแบบ
มุมนี้จงใจให้เห็นทาวเวอร์เครนด้วยนะครับ ใช้เลนส์ไวด์เพื่อการนี้โดยเฉพาะ ฟ้าสีเข้มด้วย CPL ลงตัวไปหมด
เปลี่ยนมามุมนี้ ไม่ให้เห็นทาวเวอร์เครน แต่ยังเห็น The Arcadiane ถนนที่ทอดยาวไปถึงอ่าวในสมัยก่อน ย้อนกลับไปยุคนั้นช่างเป็นอะไรที่แปลกใหม่มากๆ เป็นการเรียนรู้ธรรมชาติอย่างแท้จริง
เดินเปลี่ยนมุมมาตรงนี้บ้าง ไม่น่าเชื่อว่าทำออกมาเป็นครึ่งวงกลมที่สวยงามไม่มีที่ติเลย ตอนนั้นคงใช้ทฤษฎีวงกลม/ทรงกลม แล้วนะ เช่น พื้นที่ = Pi x r^2 , เส้นรอบวงกลม = 2 x Pi x r , Pi = 22/7 โอ้ว....ย้อนไปถึงตอนเรียนคณิตศาสตร์ ม.2 เลยนะนั่น คิดถึงจัง
แล้วก็ขอนำคลิปบางส่วนในโรงละคร ณ ขณะนั้นมาฝากกันครับ (กดติดตามช่องใน youtube ด้วยก็จะเป็นการดีนะครับบบ :)
สมควรแก่เวลาก็เดินออกไปตามถนนนี้ เห็นอะไรโค้งๆด้านขวามือ
เป็นจุดชมวิวนั่นเองครับ เห็นกองเสาและหินระเกะระกะเยอะแยะเลย
ด้านซ้ายมือท่าจะเป็น The Library of Celsus ซูมไปใกล้ๆกันเลยทีเดียว
ระหว่าทางก็มีดอกไม้สีแดงเบ่งบานพอให้ชื่นชมความงามอยู่บ้าง
ตรงนี้เห็นเขามุงดู เป็นรอยเท้าใครก็ไม่ทราบได้
แล้วก็มาถึงด้านหน้าทางเข้า The Library of Celsus เป็นหนึ่งในสิ่งก่อสร้างที่สร้างความประทับใจมากที่สุดอันหนึ่งในอาณาจักรโรมัน สร้างขึ้นในช่วง 114-117 A.D. โดยลูกชายของเขา เก็บหนังสือมากถึง 12,000 เล่ม และเป็นหลุมฝังศพของเซลซัสด้วย โดยฝังไว้ใต้หอสมุดแห่งนี้ด้วยโลงหินอ่อน หอสมุดนี้เป็นหอสมุดที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกโบราณ รองมาจาก Alexandria ในอียิปต์ และ Pergamum ในตุรกี เช่นเดียวกัน
ด้วยความที่เห็นว่าคนยังไม่เยอะ เลยยังไม่เข้าไปที่ The Library of Celsus แต่มาเข้าฝั่งตรงข้ามที่นี่ก่อน เป็นซอกหลืบเข้าอีกห้องไปทะลุอีกห้อง เรียกว่า Terrace House 1 ได้ยินไกด์คนไทยพูดกับลูกทัวร์ว่า คล้ายหอนางโลมที่ผู้ชายจะมาหาความสุขที่นี่กัน
เดินไปเรื่อยๆ
แล้วก็มาตรงนี้
ฝั่งนี้เรียกว่า Terrace House 2 แต่ไม่เปิดให้เข้าฟรีนะครับ ถ้าจะเข้าจะต้องเสียค่าเข้าอีก งงเลย อะไรว้าาา
กลับมาเดินที่ Terrace House 1 อีกครั้ง ตรงกลางนี้เป็นบ่อน้ำหรือน้ำท่วมกันแน่เนี่ย?
ตรงนี้อะไรเอ่ย?? ให้ทาย.....เฉลยคือ ที่นั่งถ่ายนั่นเอง อิอิ
ออกมาตรงทางเดินที่เรียกว่า Curetes street โห....คนเริ่มเยอะแล้วพี่น้อง
รีบเก็บภาพด้านหน้าทางเข้า Temple of Hadrian ก่อนจะมีคนมาบดบัง เรียกว่า Hadrian’s Gate
ไหนๆก็ไหนๆแล้ว เปลี่ยนเลนส์มาเป็นเลนส์เทเล ซูมไปดูรายละเอียดที่ซุ้มประตูกันดีกว่า เห็นเหมือนช้างหรือม้าด้วยนะครับ ที่มีคนกำลังขี่อยู่
ทับหลัง(เรียกแบบนี้ได้มั้ย) ของประตูด้านหลัง ผมเป็นงูกิงกอง คือ เมดูซารึเปล่านะครับ
ส่วนทับหลังนี้อยู่ประตูหน้า ไม่ทราบว่าคือใครครับ
แล้วก็ขึ้นไปข้างบนอีก ไปถ่ายวิวที่มองไปยัง The Library of Celsus ในมุมสูงยิ่งใหญ่จริงๆครับ สวยด้วย
แล้วก็มานั่งพักตรงจุดนี้ จะเห็นได้ว่า ตรงไปด้านหน้าไกลๆคือแท่นที่ไว้ถ่ายรูปช็อตเมื่อกี๊นั่นเองครับ
ตรงนี้คืออะไรก็ไม่รู้แฮะ ใกล้ๆกับ Hadrian's gate
ได้เวลาเดินต่อไปตามถนน Curetes ตั้งชื่อตามนักบวชในศาสนาคริสต์
แล้วก็ต้องผ่าน Heracles/Hercules Gate ซึ่งตั้งชื่อตามประติมากรรมแกะสลักเฮอคิวลิสบนเสาทั้ง 2 ข้างนั่นเอง เป็นจุดสิ้นสุดของถนน Curetes คาดว่าสร้างในศตวรรษที่ 2 A.D. และนำมาไว้ที่นี่ในศตวรรษที่ 4 A.D. ประตูนี้จะทำให้ถนนแคบลงถ้าผ่านเข้ามา นั่นหมายความว่า รถสมัยนั้นที่ใช้ล้อจะไม่สามารถเข้ามาได้ นั่นคืออนุญาตให้คนเดินเท้าเดินเท่านั้นเอง
มามองมุมข้างของเสาแกะสลักเฮอคิวลิสกันครับ ไม่น่าเชื่อว่ามีอายุเป็นพันปีมาแล้ว
ส่วนนี่เป็นหุ่นแกะสลักของเฮอคิวลิสเช่นกัน ตั้งอยู่ใกล้ๆกับประตูเฮอคิวลิสเลย แต่ศีรษะหายไป
ผ่านประตูเฮอคิวลิสแล้วก็เดินมาหยุดที่โค้งนี้ ตรงหน้าคือ Hydreion
ตรงนี้เป็นทางแยก มีชื่อว่า Domitian Square ด้านขวาจะมีหินแกะสลักเทพีแห่งชัยชนะ(Flying Nike) ซึ่งคาดว่าเป็นส่วนหนึ่งของประตูเฮอคิวลิส (ส่วนภาพค่อยมาดูกันในตอนเดินกลับนะครับ)
จากแยกเมื่อกี๊ก็เดินเลี้ยวมาทางซ้าย ขึ้นเนินเล็กน้อยไปตามถนนเส้นนี้
ด้านซ้ายมือไม่แน่ใจว่าคืออะไร ไม่มีข้อมูลเลย
แล้วก็เดินเข้าไปในประตูทางเข้ามืดๆนี้
โห....นี่ไงที่เขาเรียกว่า แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์
โผล่ออกมาก็คือโรงละคร หรือ Theatre อีกเช่นเคย มีชื่อว่า Odeon หรือ Boulefterion เป็นโรงละครขนาดเล็ก ครึ่งวงกลม สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 2 A.D. โดย Vedius Antonius ใช้สำหรับการประชุมการเมืองการปกครอง, การร้องเพลง, และการแสดงต่างๆ จุคนได้ประมาณ 1,500 คน มี 22 ขั้นของแถวตามแนวระดับ
ที่นี่เรียกได้ว่า เจ้าพ่อแห่งโรงละครจริงๆ มีถึง 2 ที่ในเอฟิซุสนี้
เดินขึ้นไปบนแถวที่นั่งชั้นบนสุดแล้วเก็บภาพลงมา คนเริ่มทะยอยกันเข้ามาอีกกรุ้ปแล้ว มุมบนซ้ายเป็นทางเข้าประตูในทิศใต้ของเอฟิซุส
แล้วผมก็เดินไปเกือบจะถึงทางออกทิศใต้
แล้วก็กลับมาเพื่อจะเดินกลับทางเดิมครับ แต่ตรงทางเดินลาดลงนี้สามารถเดินไปได้นะครับ เป็นซากสิ่งก่อสร้างปรักหักพังกองกันอยู่ ถ้านับเวลาที่มาถึงเอฟิซุสจนบัดนี้ก็ใช้เวลา 2 ชั่วโมง 40 นาทีไปแล้ว เรียกว่าเก็บรายละเอียดกันเน้นๆเลย มาถึงแล้วก็ต้องใช้เวลากับสถานที่ที่อายุเป็นพันๆปีให้นานๆหน่อย
เดี๋ยวตอนต่อไปก็จะเป็นการเดินชมในเส้นทางขากลับ ได้เข้าไปที่ The Library of Celsus กันซะที แล้วพบกันในตอนหน้าครับ
[ตอน 0] [ตอน 1] [ตอน 2.1] [ตอน 2.2] [ตอน 3.1] [ตอน 3.2] [ตอน 4.1] [ตอน 4.2] [ตอน 5.1] [ตอน 5.2] [ตอน 6.1] [ตอน 6.2] [ตอน 6.3] [ตอน 6.4] [ตอน 7.1] [ตอน 7.2] [ตอน 8] [ตอน 9] [ตอน 10.1] [ตอน 10.2] [ตอน 11.1] [ตอน 11.2] [ตอน 12.1] [ตอน 12.2] [ตอน 12.3] [ตอน 12.4] [ตอน 13]
เห็นว่าบทความนี้น่าสนใจ รบกวนกดแชร์ด้วยครับ
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น