วันพุธที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2559

Incredible Sikkim (สิกขิม) ตอน 1 เก็บกระเป๋าขึ้นเครื่องไปกัลกัตต้า แวะชมวิคทอเรียเมมโมเรียล(Victoria Memorial) สถาปัตยกรรมหินอ่อนอันยิ่งใหญ่แห่งเมืองกัลกัตต้า


หลังจากเตรียมตัวกันประมาณ 2 อาทิตย์ ทั้งขอวีซ่าอินเดีย, ติดต่อทัวร์เป็นสิบกว่าเจ้า, จองโรงแรม, จองตั๋วเครื่องบิน, และแลกเงิน ก็เป็นอันว่าวันนี้ 28 ธันวาคม 2559 วันเดินทางวันแรกได้มาถึง โดยเราจะเริ่มเดินทางไปเจอกันที่สนามบินสุวรรณภูมิเนื่องจากสายการบิน SpiceJet ขึ้นลงที่สนามบินนี้ ดีแล้วที่เลือก SpiceJet ถ้าใช้ AirAsia คงต้องไปที่สนามบินดอนเมือง ไกลกว่าบ้านอีก แถมเวลาต่อเครื่องก็ไม่ดี ราคาก็แพงกว่า

ครั้งนี้จะเป็นการไปอินเดียครั้งที่ 3 ของผม ครั้งแรกปี 2011 ไปอบรมเรื่องงานที่เมืองดิว รัฐคุชจราช ต่อเครื่องจากมุมไบไป ครั้งที่ 2 ไปเที่ยวเลห์ ลาดักห์ แคชเมียร์ อักรา ปี 2012 และล่าสุดครั้งนี้ ความตื่นเต้นที่ต้องไปเจอแขกก็เลยไม่เท่าไหร่ เพราะพอคุ้นๆมาแล้ว เนื่องจากรูปมีเยอะ เลยขอแยกเป็นตอนย่อย 2 ตอนนะครับ 

โปรแกรมเที่ยววันนี้มีดังนี้

BKK - Kolkata - Victoria Memorial - Howrah Bridge - Kolkata (Netaji Subhash Chandra Bose International Airport) - Bagdogra Airport - Car Pick Up - Rangpoo Check Post - Gangtok - Hotel Pomra 


แลกเงินรูปีอินเดียก่อน 1 สัปดาห์ ที่ Superrich Thailand (สีเขียว) เนื่องจากมาเปิดสาขาที่พาราไดซ์ พาร์ค ใกล้บ้านมาก แต่ไปที่สาขาไม่มีให้แลกจ้า เพราะไม่อยู่ในสกุลเงิน 11 สกุลที่ให้แลก ต้องโทรจอง เลยโทรไปจองที่สาขาใหญ่ แลก 2 คน 39,600 บาท = 72,000 รูปี ด้วยเรต 1 รูปี = 0.55 บาท จนท.บอกว่ามีแต่ธนบัตร 2,000 รูปี ก็ไม่เป็นไรพอทราบอยู่ว่าธนบัตร 500 กับ 1,000 โดนแบน โดยจะมีเมสเซ็นเจอร์มาส่งที่สาขาที่เราระบุในวันรุ่งขึ้น ซึ่งพอวันรุ่งขึ้นก็ไปรับได้ โอเคเรื่องเงินเรียบร้อยผ่านไปครับ


ก่อนไปที่สนามบินสุวรรณภูมิ ผมลองทดลองเรียกใช้บริการ Grab จากแอ๊พในมือถือ ทุกทีใช้บริการ 1681 ก็โอเค มาแต่เสียเวลาไปนิดเพราะ GPS เขามีปัญหา เลยส่งข้อความไปถาม ก็โทรกลับมาแล้วก็มาที่บ้านเจอ ไม่มีปัญหาอะไร ค่าบริการ 20 บาท คนขับคุยสนุกดี ค่ามิเตอร์ 217 บาท ขนาดใกล้บ้านนะเนี่ย

มาถึงสนามบินเกือบๆตี 2 มีเวลาเหลือแหล่ะ เพราะไฟล์บิน SG084 ออกเวลา 05.10 น. สบายๆ ไม่รีบ คนในสนามบินน้อยมาก ไม่วุ่นวายเหมือนเวลาปกติ ดีชอบๆ


แว้บไปดูเคานเตอร์เช็คอินหน่อย ขนาดเปิดช่องเยอะแล้วนะ คนแขกยังยืนต่อแถวเพียบเลย หึๆ เลยรอให้แถวสั้นก่อนค่อยไปเช็คอิน


มาสุวรรณภูมิต้องถ่ายรูปยักษ์ทุกครั้ง


ได้เวลาเข้าไปข้างในกันแล้ว ผ่านตม.ไทยเราแบบสบายๆ แวะเข้าห้องน้ำนี้ก่อน ครั้งก่อนที่มา(2 ปีที่แล้ว) ไม่เห็นนะ ตกแต่งสวยงามเชียว


ทางเข้าห้องน้ำชาย


ภายในก็ดูโอเคครับ สะอาดสะอ้าน ดูหรูหราดีอย่างกับในโรงแรม


เกท D1-8 ต้องลงตรงนี้จ้า เรา D1 ก็ลงบันไดเลื่อนไป


พอดีเกท D1 ยังไม่เปิดให้เข้าไป เวลายังเหลือๆ เลยเดินมาหาห้องน้ำไปในตัว ณ ตอนนี้ ตี 3.35 น. เช้ามากๆ


แล้วก็กลับมาเข้าในเกต D1 ได้แล้ว เปิดแล้วครับ ผู้โดยสารส่วนใหญ่แขกทั้งนั้นครับ หาคนไทยไม่เจอ จะมีก็แต่พระสงฆ์ไทยคงจะไปแสวงบุญหล่ะมั้ง


ได้เวลาเรียกขึ้นเครื่องแล้วครับ เก็บรูปเครื่องบินทางช่องกระจกเล็กๆ ก่อนเข้าภายในห้องโดยสาร


ได้ที่นั่งแถวที่ 8 ดีจะได้ไม่เข้าไปลึกนัก ส่วนแขกที่หันมามอง 2 คนคงคิดว่าถ่ายตัวเองมั้งเนี่ย มองหน้าจะเอาเรื่อง


ระหว่างแถวค่อนข้างแคบครับ หัวเข่าชนที่เก็บหนังสือเลย แต่พอทนได้ ไม่กี่ชม. แล้วก็ของีบหลับก่อนนะครับ


6.34 น. เวลาท้องถิ่นอินเดียที่ช้ากว่าไทย 1 ชม. 30 นาที ก็มาถึงสนามบินนานาชาติ Netaji Subhash Chandra Bose เมืองกัลกัตต้าแล้ว อากาศเย็นๆ


เดินไปตามทาง ตามป้าย Immigration ไปก่อน


แล้วสักพัก จะมีป้ายเขียน eTV ให้เลี้ยวขวา ก็เดินเข้าไปตามในภาพครับ มีเคานเตอร์เปิดอยู่ช่องเดียว ทหารอารักษ์ขาตามระเบียบ ดีที่ถ่ายมาก่อนนะเนี่ย แทบเก็บกล้องไม่ทัน

ใช้เวลาอยู่สักพักครับ สิ่งที่ต้องเตรียมไว้คือ หนังสือเดินทาง, เอกสาร eTV ตามที่แจ้งไปในตอน 0, โปรแกรมท่องเที่ยว โรงแรมที่จองไว้ ที่อยู่ พอดีผมดันเก็บเอกสารเรื่องโปรแกรมไว้ที่กระเป๋าใหญ่ซึ่งโหลดใต้ท้องเครื่อง แต่ก็สามารถใช้มือถือที่เขียนเก็บไว้ใน Evernote ได้ พร้อมกับ email การจองโรงแรม ดีนะที่เปิดใช้ Sim2Fly ไปด้วย ใช้ internet ได้เลยไม่ติดขัด ไม่งั้นแย่นะครับ แล้วหลังจากนั้นก็ให้มองกล้องถ่ายรูปเราเก็บไว้ พร้อมกับพิมพ์ลายนิ้วมือทั้ง 10 นิ้ว สบายๆ แล้วก็ผ่านฉลุย


ลงมาชั้นล่างของสนามบินรอรับกระเป๋าที่สายพานแล้วก็ออกมา สนามบินเขาก็ดูใหม่ๆดีครับ


บนเพดานที่เป็นตัวอักรฮินดีอย่างที่ใครๆได้ว่าไว้ สวยงามดีครับ


แล้วก็เข้าโปรแกรมของเรา ค้นมาว่ามีที่รับฝากกระเป๋าด้วย เดินมาจนเจอ "Left Luggage" ดีใจเพราะจะได้ออกไปข้างนอกสนามบินแบบสบายตัว แล้วค่อยกลับเข้ามา ปรากฎว่า จนท.มันไม่รับฝาก เพราะขี้กลัว บอกว่ากระเป๋าเป้พวกเราไม่มีที่ล็อคกระเป๋า มันกลัวจะต้องรับผิดชอบถ้าของหาย โธ่เอ้ยยย บ้าจริงๆ เลยต้องแบกสัมภาระหนักๆออกไปด้วย แย่มากๆครับ จริงๆมันน่าจะมีตู้ล็อกเกอร์แล้วให้กุญแจเรามาเนอะ แขกนี่มันจะทำอิะไรก็ทำไม่สุดๆเลย


ใกล้ๆกันก็เป็น Prepaid Taxi ตามที่หาข้อมูลมา ถามไปว่า ไปวิคทอเรีย เมมโมเรียล เท่าไหร่ แขกตอบกลับมา 280 รูปี ผมดันจดข้อมูลของเก่ามาผิดว่า 150 รูปี เลยบอกว่าแพงมากๆ ลดได้อีกเปล่า เขาไม่ลด เลยเดินออกไป คาดว่าจะไปหาด้านหน้าสนามบินดีกว่า


ออกมานอกสนามบินยังเช้าอยู่มากๆ มองหาแท็กซี่คันอื่นๆ
ปล.สังเกตผู้หญิงสองคนที่นั่งด้านมือมือดีๆครับ


มองไปตรงนี้เป็นป้อมที่รับใบแท็กซี่จากเคานเตอร์ข้างใน เลยลองไปสอบถามดูว่า ไปวิคทอเรีย เมมโมเรียล เท่าไหร่ จนท.ก็ดีมาก บอกต้องไปจ่ายเงินที่ข้างในก่อน ได้กระดาษมาแล้วค่อยมาให้ที่นี่


นี่ไง คิวแท็กซี่ Prepaid Taxi ที่ย้อนยุค แต่อดขึ้น หึๆ


สุดท้าย เพื่อนผมไปคุยกับผู้หญิง 2 8นที่บอกไว้ข้างต้น เขาคนไทยครับ ทำงานที่นี่ เขาเลยใช้แอ๊พ Uber เรียกแท็กซี่มาให้ ตอนแรก 94 รูปี คิดว่านั่นไง ถูกกว่าเห็นๆ ที่ไหนได้ กดต้นทางและปลายทางผิด เรียกอีกเลยเจอชาร์จ รอแป๊ปก็มา คันสีขาวนี้ พี่ผู้หญิง 1 คนเขาขึ้นไปด้วย สุดท้ายที่ว่าถูกมันไม่ถูกเลย เพราะแท็กซี่ต้องจ่าย 100 รูปีค่าเข้ามาในสนามบินด้วย ซึ่งเราก็ต้องจ่ายให้เขา ไปๆมาๆแพงกว่าเห็นๆ แถมช้าด้วย ฮือๆ
ปล.สังเกตว่ามีพระสงฆ์จากไทยด้วยนะครับ ที่สนามบินนี้ถือว่าเป็นจุดร่วมที่จะต้องมาลงเมื่อมาแสวงบุญที่พุทธคยาครับ


พอขึ้นแท็กซี่ได้ก็เปิดแผนที่ Google Map นำทางเลยครับ


คนขับแท็กซี่เองก็ใช้ Google Map นำทางเช่นกัน เริ่มทันสมัยแล้วอินเดีย


ถนนที่นี่ใช้ร่วมกับรถรางครับ เจ้านี่แซงเลนของรถรางเลย หึๆ แต่ไม่ต้องกลัวรถรางวิ่งช้ามากๆ


ระหว่างทางรถติด เห็นแท็กซี่สนามบิน อยากกลับไปนั่ง ดูราคามาผิด แงๆ


ปัญหาที่เวียนเฮดอีกอย่างก็เกิดขึ้น นั่นคือ แท็กซี่มาส่งถึงหน้าทางเข้าวิคทอเรีย เมมโมเรียลแล้ว ราคา 340 รูปี แพงกว่า 280 รูปีเห็นๆ 555 แต่...ให้ธนบัตร 2,000 รูปี คนขับไม่มีทอนจ้าาา โห....หาที่แลกกันให้วุ่นเลย ที่เคานเตอร์ขายตั๋วก็ไม่มีให้แลกอีก ใครก็ไม่มีให้แลก เพราะธนบัตร 2,000 มันใหญ่มากๆนะ ผลจากการแบนธนบัตร 500 และ 1000 ส่งผลกับเราเลยแฮะ ตอนแรกคิดว่าไม่ได้รับผลกระทบซะอีก สุดท้ายคิดได้ ไปซื้อขนมน้ำดื่มที่ร้านตรงข้ามร้านนี้ดีกว่า


มีซื้อน้ำเปล่า 1 ขวด, น้ำเลม่อน 1 ขวด ขนมเนี่ย กรอบๆ อีก 1 ชุด รวมแล้ว 100 รูปี ก็มีทอนให้ได้นะ แล้วก็ให้คนขับแท็กซี่ไป เสียเวลาพอสมควรเป็น 10 นาทีเลย เฮ้อ...ขนมอร่อยพอใช้ กรอบๆดี


ถ่ายรถม้าที่นี่ดีกว่า คล้ายๆรถม้าลำปางบ้านเรา


ไปซื้อตั๋วเข้าชมสวนกันดีกว่า พิพิธภัณฑ์หรือ Hall ยังไม่เปิด เปิด 10.00 น. ชมสวนก็ยังดี คนละ 10 รูปีครับ ตั๋วอยู่มุมล่างซ้าย


ด้านหน้าทางเข้า Victoria Memorial มีสิงโต 2 ข้างประตู สัญลักษณ์คุ้นตาของประเทศอังกฤษ แต่ตามพื้นนี้สกปรกดีแท้ แต่ผมชินแล้ว สังเกตฟ้าไม่เคลียร์ วันนี้มีหมอดลงจัดมาก


ช็อตสวย อีกากำลังบินพอดีเลย


เดินวนมาทางซ้ายมือ มุมสะท้อนของต้นไม้และอาคารหินอ่อน สวยงาม เสียดายฟ้าไม่เคลียร์


เข้าไปใกล้อีกนิด อนุสาวรีย์พระราชินีนาถวิคทอเรีย ราชินีผู้ยิ่งใหญ่ของอังกฤษ ในยุค 1819-1901


Victoria Memorial สร้างขึ้นเพื่อเป็นระลึก ให้กับควีนวิคตอเรีย สมเด็จพระราชินีนาถแห่งสหราชอาณาจักรและจักรพรรดินีแห่งอินเดีย ตั้งอยู่ในกัลกัตตา ประเทศอินเดีย - เมืองหลวงของรัฐเบงกอลตะวันตกและเมืองหลวงเก่าของบริติชอินเดีย


ซูมไปใกล้ๆสักนิด


Lord Curzon ผู้สำเร็จราชการของอินเดีย ผู้ริเริ่มให้มีการสร้าง Victoria Memorial แห่งนี้ ให้เป็นที่ระลึก หลังจากการสวรรคต ของสมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรีย ในปี 1901 เขากล่าวว่า

"Let us, therefore, have a building, stately, spacious, monumental and grand, to which every newcomer in Calcutta will turn, to which all the resident population, European and Native, will flock, where all classes will learn the lessons of history, and see revived before their eyes the marvels of the past."
Credit wikipedia

ปล.คล้ายๆพระที่นั่งอนันตสมาคมมั้ยครับ


ด้านรอบๆฐานอนุสาวรีย์พระราชินีนาถวิคทอเรีย ก็จะมีงานแกะสลักเรื่องราวในอดีต


พระพักตร์พระราชินีนาถวิคทอเรียเปื้อนไปด้วยขี้นก น่าเสียดายคนดูแลทำไมไม่ดูแลให้ดีนะ อย่างนี้ต้องทำความสะอาดทุกวัน วันละ 2-3 เวลา ให้เกียรติท่านด้วยครับ


ดูสิครับหมอกลงจัดขนาดไหน มองตึกสูงๆแทบไม่เห็นเลย เสียดายวิวสวยๆเลยอดกัน


เจ้านกสีขาวปากยาวยืนอยู่สะพานทางเดิน


ก่อนกลับไปที่อื่นต่อ ขอส่งด้วยภาพวิวโบสถ์คริสต์ที่อยู่ใกล้ๆกันนี้ครับ เห็นแบบลางๆ แปลกตาดี

แล้วมาอ่านต่อในตอนย่อยต่อไป จะพาไปสะพานฮาว์ราห์ และสะพานนิวฮาว์ราห์ ก่อนกลับสนามบินแล้วบินไปบักโดกราต่อไปกังต๊อกต่อไป


เห็นว่าบทความนี้น่าสนใจ รบกวนกดแชร์ด้วยครับ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น