วันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2559

Incredible Sikkim (สิกขิม) ตอน 0 เตรียมตัวเที่ยวสิกขิม พร้อมกับทำวีซ่าเข้าอินเดียแบบรวดเร็วดั่งจรวด ด้วย e-TOURIST VISA (eTV) กันเถอะ


สวัสดีกันอีกครั้ง หลังจากห่างหายไปนานเกือบๆครึ่งปี จากทริปเกาะกูดช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา หลังจากนั้นก็ไม่มีทริปอีก แต่พอมาใกล้สิ้นปีก็ลองดูไปดูมาว่าจะไปเที่ยวที่ไหนดี? พอดีได้เพื่อนจากที่ทำงานที่ค่อนข้างจะสไตล์การเที่ยวคล้ายกัน ซึ่งเคยชวนๆกันไปเที่ยวตปท.ถ้ามีแพลนทริปเกิดขึ้น สุดท้ายไปๆมาๆ มีเวลาว่างจัด 555 (สาเหตุไม่บอก) ช่วงสิ้นปี 59 ต่อปีใหม่ 60 ผมเลยชวนเพื่อนคนนี้อีกครั้ง ตอนช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนธันวาคม 59 ว่าสนใจไปเที่ยวแถบเวียดนาม พม่า หรืออินเดียเปล่า? เพื่อนผมก็ได้ตอบรับว่าโอเคได้ สรุป...ไปๆมาๆ ผมโฟกัสไปที่อินเดีย แม้จะเคยไปมาแล้วถึง 2 ครั้ง แต่ครั้งนี้จะไปเมืองที่ยังไม่เคยไป นั่นคือ "สิกขิม"

ได้ยินมานานแล้วครับ สิกขิมเนี่ย แต่ยังไม่ได้มีโอกาสได้ไปเยือนสักที เพราะไปที่อื่นก่อนในอินเดีย นั่นคือ เลห์ ลาดักห์ แคชเมียร์ อักรา เมื่อครั้งปี 2555 นั่นเอง ส่วนครั้งแรกที่ไปอินเดียคือไปอบรมในเรื่องงาน ปี 2554 ครับ

เอาหล่ะ สาธยายมาเยอะแล้ว ขอเข้าเรื่องเลยละกันครับ เนื่องจากไปอินเดียมาถึง 2 ครั้งแล้ว เลยไม่ได้กังวลอะไรเท่าไหร่ แถมดูโปรแกรมการเดินทางจากเน็ตแล้ว ไม่ได้มีการเดินทางโดยรถไฟด้วย จริงๆคือมันมีช่วงหนึ่งที่สามารถเดินทางโดยรถไฟได้ แต่ผมไม่เลือกเพราะเสียเวลามากๆ ราคาถูกไม่ใช่สิ่งที่ต้องเอามาแลกกับเวลาและความสะดวกสบายครับ รถไฟในอินเดียผมเคยขึ้นมาแล้ว ก็ไม่ได้พิศวาสอะไรมันมาก แถมการจองก็ยุ่งยากอีก เลยตัดออกไป ทริปนี้การเดินทางจึงมีเฉพาะเครื่องบินซึ่งบินจากกทม.ไปกัลกัตต้า และบินภายในประเทศอีก 1 ต่อ ส่วนภาคพื้นเมื่อไปถึงก็จองรถเช่าจากทัวร์ที่อยู่ในลิสต์ของรัฐบาลอินเดียในสิกขิม อันนี้น่าเชื่อถือ แต่มีหลายเจ้ามากๆ ต้องติดต่อล่วงหน้าและต่อรองราคาครับ เราได้เจ้านี้ซึ่งราคาถูกสุดแล้ว แถมได้ไกด์ทัวร์ที่ดีมีความรู้ด้วย ก็ถือว่าโชคดี แต่ช่วงท้ายๆวันส่งเราที่ดาร์จีลิ่งมีสติแตกครับ 555 ไว้ติดตามกัน

ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมตัวไปเที่ยวสิกขิมแบบสนุกและทราบประวัติความเป็นมาคร่าวๆ เลยขอลิสต์หัวข้อที่ไม่ควรพลาดในการเตรียมตัวไปเที่ยวในครั้งนี้ดังต่อไปนี้ครับ

ภูมิประเทศของสิกขิมและประวัติความเป็นมา

Credit : http://www.mapin.in/map/sikkim-map-google-map-of-sikkim-state-india-with-information/
สิกขิม ประกอบด้วยคำ 2 คำในภาษาลิมบู (Limbu) คือ คำว่า “Su” หมายถึง ใหม่ และคำว่า “Khyim” ที่หมายถึง พระราชวัง หรือ บ้าน เมื่อรวมกันแล้ว สิกขิมจึงหมายความว่า “พระราชวังหรือบ้านหลังใหม่” ซึ่งมีผู้ปกครองคนแรกคือ Phuntsok Namgyal (ส่วนในภาษาทิเบต คำว่า สิกขิมคือ Denjong ซึ่งมีความหมายว่า หุบเขาแห่งข้าว Valley of rice) ขณะที่ชาวพื้นเมืองที่อพยพมาจากทิเบตเรียกว่า Beyul Demazong ซึ่งหมายความว่า หุบเขาที่ซ่อนเร้นแห่งข้าว ชาวเล็พชาชนดั้งเดิมของสิกขิมเรียกว่า Nye-mae-el หมายถึง สรวงสวรรค์ ในประวัติศาสตร์นั้น สิกขิมรู้จักในนาม Indrakil หรือสวนของพระอินทร์นั่นเอง
สิกขิมเป็นรัฐรัฐหนึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย มีพรมแดนติดกับประเทศจีนในทิศเหนือและทิศตะวันออก ประเทศภูฏานในทิศตะวันออก ประเทศเนปาลในทิศตะวันตก และรัฐเบงกอลตะวันตกรัฐหนึ่งของอินเดียในทิศใต้ สิกขิมเป็นรัฐที่มีประชากรน้อยที่สุดในอินเดีย และเป็นรัฐที่เล็กที่สุดอันดับ 2 รองจากรัฐโกอา(Goa) เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัยตะวันออก โดยมียอดเขาคันเชงจุงก้า ยอดเขาที่สูงที่สุดในอินเดีย และสูงเป็นอันดับ 3 ของโลกตั้งตะหง่านอยู่ ชาวสิกขิมถือว่ายอดเขานี้ศักดิ์สิทธิ์มากๆ ใครจะปีนยอดเขานี้ไม่ได้
เมืองหลวงของรัฐสิกขิมคือ เมืองกังต๊อก(Gangtok) เกือบ 25% ของสิกขิมถูกครอบครองด้วยพื้นที่ที่เป็นอุทยานแห่งชาติคันเชงซองก้า(Khangchendzonga)
สิกขิมเคยเป็นราชอาณาจักรมาก่อน โดยมีกษัตริย์ราชวงค์นัมเกียล(Numgyal Dynasty) [ya เป็นสระเ-ีย คล้ายกับ ia คนส่วนใหญ่อ่าน นัมเยล โดยคิดว่า y เป็นพยัญชนะ สระคือ a ซึ่งไม่ใช่] ในช่วงศตวรรษที่ 17 ถือเป็นที่ตั้งของเส้นทางที่รุ่งเรืองและโด่งดังเส้นทางหนึ่งที่เรียกว่า เส้นทางสายไหม(Silk road) ระหว่างทิเบตกับชมพูทวีป

ราชอาณาจักรสิกขิมเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ผู้คนนับถือศาสนาพุทธ เมื่อประเทศจีนมารุกรานทิเบต สิกขิมเองก็ต้องป้องกันตัวเอง และยอมเป็นประเทศราชของอินเดีย จนถึงปี 1975 รัฐบาลอินเดียได้ขับไล่ราชวงศ์นัมเกียลที่ปกครองราชอาณาจักรสิกขิมอยู่ ทำให้สิกขิมกลายเป็นส่วนของหนึ่งของประเทศอินเดีย โดยเป็นรัฐที่ 22 ของอินเดียตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 1975
สิกขิมสมัยใหม่เป็นรัฐของอินเดียที่ผู้คนสามารถพูดได้หลายภาษา โดยภาษาที่เป็นทางการมีด้วยกัน 11 ภาษาดังนี้ เนปาลี สิขิม เล็พชา ทามัง ลิมบู เนวาริ ไร กูรัง มาการ์ ซันวาร์ และภาษาอังกฤษ โดยภาษาอังกฤษมีการสอนในโรงเรียนและใช้ในเอกสารทางราชการ

สิกขิมแบ่งออกเป็น 4 ส่วนใหญ่ๆ มีดังนี้
1.สิกขิมตะวันออก เมืองศูนย์กลาง กังต๊อก, ประชากร 281,293 คน
2.สิกขิมตะวันตก เมืองศูนย์กลาง เกย์ซิง, ประชากร 136,299 คน
3.สิกขิมเหนือ เมืองศูนย์กลาง มานกัน, ประชากร 43,354 คน
4.สิกขิมใต้ เมืองศูนย์กลาง นัมชิ, ประชากร 146,742 คน
มี Pawan Chamling เป็นผู้ว่าการรัฐสิกขิมในปัจจุบัน
นกประจำสิกขิมคือ Blood Pheasant
ดอกไม้ประจำสิกขิมคือ Noble dendrobium
ต้นไม้ประจำสิกขิมคือ ต้นกุหลาบพันปี (Rhododendron) นั่นเอง
เศรษฐกิจของสิกขิมคือการเกษตรและการท่องเที่ยว GDP เป็นอันดับที่ 3 จากน้อยสุดของรัฐในอินเดีย
และเป็นผู้ผลิตเครื่องเทศใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากประเทศกัวเตมาลา
สิกขิมเป็นรัฐที่ทำฟาร์มออร์กานิกมากที่สุดในอินเดีย และเป็นรัฐที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากที่สุดในอินเดีย โดยห้ามนำขวดน้ำพลาสติกและภาชนะโฟมเข้ามาใช้ พื้นที่สะอาดสะอ้านที่สุดอย่างเห็นได้ชัดเมื่อมาอินเดีย

สิกขิมถือว่าเป็นรัฐที่อยู่ติดชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านของอินเดีย ดังนั้น ชาวต่างชาติที่ต้องการเข้าไปในสิกขิมนั้นจึงต้องขออนุญาต หรือขอเพอร์มิตที่เรียกว่า Inner Line Permit (ILP) ก่อนเข้าไปในสิกขิม
หลักฐานที่ต้องใช้
1.สำเนาหนังสือเดินทาง 1 ชุด
2.สำเนาวีซ่า 1 ชุด
3.รูปถ่ายเหมือนกับตอนทำวีซ่า 2 รูป

การเดินทาง
การเดินทางจากกรุงเทพ ประเทศไทยไปสิกขิมนั้น แน่นอนว่าต้องขึ้นเครื่องบิน โดยเส้นทางทั่วๆไปที่ใช้กันคือ นั่งเครื่องบินระหว่างประเทศจากกทม.ไปลงที่เมืองกัลกัตต้า ที่สนามบิน Netaji Subhas Chandra Bose International Airport ก่อน เพราะอยู่ใกล้สุดแล้ว (จริงๆมีบินตรง BKK-Bagdogra แต่ต้องเดินทางกับทัวร์เท่านั้น คือสายการบินดรูกแอร์) แต่ใครจะนั่งไปลงมุมไบ หรือเดลีก็ไม่ว่ากันนะครับ 555 พอถึงสนามบินกัลกัตต้า ก็มีอยู่ 3 ทางเลือกให้เดินทางต่อครับ นั่นคือ
1.รถไฟ 
2.รถยนต์
3.เครื่องบิน
ซึ่งรถไฟท่านสามารถไปขึ้นที่สถานีรถไฟใกล้ๆในเมืองกัลกัตต้าได้เช่น สถานีฮาว์ราห์ และไปลงที่สถานีในเมืองสิริกูริ เมืองที่เป็นประตู่สู่สิกขิม ส่วนรถยนต์ท่านสามารถขึ้นรถบัสระหว่างเมืองจากสถานีรถบัสในเมืองกัลกัตต้า รู้สึกจะอยู่ใกล้ๆสถานีรถไฟฮาร์ราห์นะครับ และไปลงที่เมืองสิริกูริเช่นกัน ค่าโดยสารคงไม่แพง แต่แลกมาก็บระยะเวลาที่นาน คือเป็น 10 ชั่วโมงขึ้นแน่ๆ ที่นั่งที่สบายหรือเปล่าไม่แน่ใจ แล้วไหนจะเรื่องความปลอดภัยของเส้นทางอีก คนโดยสารอีก 2 การเดินทางนี้ผมเลยไม่ได้เลือกไว้ครับ

กลับมาที่การเดินทางที่เหลือคือ เครื่องบิน ก็ง่ายๆครับ จากสนามบินกัลกัตต้าก็ไม่ต้องไปไหน ถ้าไม่อยากออกมาข้างนอกชมวิวนะครับ รอนั่งเครื่องภายในประเทศอีกต่อ ไปลงสนามบินบักโดกรา เมืองสิริกูริ ก็เป็นอันเสร็จ ใช้เวลาเพียง 1 ชม.เท่านั้น คราวนี้จะเลือกแบบไหนก็เชิญตามกำลังทรัพย์และเวลาที่มีเลยครับ ส่วนพอถึงสนามบินบักโดกราก็สามารถใช้บริการรถบัสระหว่างเมืองจากเมืองสิริกูริไปกังต๊อกได้ ราคาไม่แพง แต่ต้องรอคนเต็ม ตั๋วไม่แน่ใจ 250 รูปี/คน หรือไม่ ใช้เวลา 4 ชม. หรือใช้บริการแบบเราคือ บริการเช่ารถ โดยให้มารับที่สนามบินบักโกราเลย อันนี้ไม่เสียเวลา ราคาแพงขึ้นแต่มาหลายๆคน หารต่อคนผมว่าถูกกว่าและเร็วกว่ารถบัสซะอีก!

กลับมาที่สายการบินจากกรุงเทพครับ ผมลองหาหลายๆสายการบิน โดยเจอสายการบินที่สามารถบินจากกทม.ไปลงที่สนามบินบักโดกราได้ดังนี้
1.AirAsia + สายการบินภายในประเทศ
2.AirIndia (ไปทรานสิทที่เดลี +1 วัน)
3.IndiGo (ไปทรานสิทที่กัลกัตต้า)
4.JetAirways (ไปทรานสิทที่มุมไบ->กัลกัตต้า +1 วัน)
5.SpiceJet (ไปทรานสิทที่กัลกัตต้า)
ดูจากทางเลือกด้านบนแล้ว JetAirways โหดสุดๆ แวะ 2 ที่ คือมุมไบ แล้วย้อนมากัลกัตต้า ก่อนจะมาลงบักโดกรา รองลงมาคือ AirIndia ทั้ง 2 ทางเลือกใช้เวลาเดินทาง 2 วันด้วยกัน หึๆ ใครอยากเสียเวลาก็เลือก 2 ทางเลือกนี้นะครับ ฮิๆ
ส่วนอีก 2 ทางเลือก ขณะที่ผมจอง แอร์เอเชีย กับ SpiceJet ราคาโอเคเลย ตอนแรกเกือบจะเลือกแอร์เอเชียแล้วเชียว คือจองแอร์เอเชียระหว่างประเทศแล้วไปต่อเครื่อง SpiceJet ภายในประเทศอีกที ตอนนั้นไม่รู้ว่า SpiceJet ก็มีบินระหว่างประเทศด้วย พอทราบว่ามี แถมราคายังถูกกว่าแอร์เอเชียประมาณ 1 พันกว่าๆอีก แถมเวลาดีด้วยและที่สำคัญขึ้นที่สนามบินสุวรรณภูมิซึ่งใกล้บ้านผมครับ คือแอร์เอเชียออกประมาณเที่ยงคืน ต้องไปแกร่วรอ SpiceJet อีก 9 ชม.อีก ส่วนถ้าเลือก SpiceJet ทั้งหมดก็แค่เสียเวลารอระหว่างทรานสิท 7 ชม. ระหว่างนั้นก็ออกไปเที่ยวที่เมืองกัลกัตต้าได้ เลยเลือกวิธีนี้ดีที่สุดครับ แต่ขณะที่ผมเขียนบันทึกอยู่นี้ ทางเลือก 3.IndiGo ก็เวลาดีนะครับ เวลาต่อเครื่องเท่ากับ SpiceJet แต่ไปถึงบักโดกราเร็วขึ้น 2-3 ชม. เพราะออกจากสนามบินสุวรรณภูมิเร็วขึ้นนั่นเอง

โปรแกรมการท่องเที่ยวสิกขิม(Itinerary)
เราต้องจัดโปรแกรมการท่องเที่ยวของเรา (Itinerary)ไว้ก่อน ให้เหมาะกับระยะเวลาที่เราอยู่ในสิกขิม ผมใช้ระยะเวลาทั้งสิ้น 8 วันครับรวมวันเดินทาง คือ เดินทางไปวันที่ 28 ธันวาคม 59 กลับถึงไทย เช้ามืดของวันที่ 4 มกราคม 60 โดยโปรแกรมที่ได้ก็ผสมโน่นนิดนี่หน่อยจากทัวร์และคนที่ไปมาแล้ว ได้มาดังนี้ครับ (ลอกได้ ไม่มีลิขสิทธิ์จ้า)
========================================================
28.12.16 DAY1
02:10 AM. Check in at SpiceJet counter, flight SG84, Suvarnabhumi airport.
05:10 AM. Depart for Kolkata.
06:25 AM. Arrive at Netaji Subhas Chandra Bose airport, Kolkata. Take prepaid taxi go to Victoria Memorial. Then go to Hawrah bridge. After 3 hrs. back to Netaji Subhas Chandra Bose airport.
11:05 AM. Check in at SpiceJet counter, flight SG623, Kolkata airport.
01:15 PM. Depart for Bagdogra.
02:15 PM. Arrive at Bagdogra airport. Request permit to enter SIKKIM at Bagdogra airport.
Mr Binay Chettri (tel. 7547972486) Pick up at Bagdogra airport and transfer to Gangtok. ร้านแนะนำ cafe live&lound, taste of tibet. Overnight in Gangtok. Hotel Pomra. Pay at hotel = 3,124.8 INR
29.12.16 DAY2
Go to Ganesh Tok, Hanuman Tok, Tsomgo lake. In the afternoon go to Choten monastery and sightseeing at MG Marg Market.Overnight at in Gangtok. Hotel Pomra.
30.12.16 DAY3
Go to Lachen. On the way visit Tashi view point, Kabi Lungchok, waterfall. Arrive in Lachen go to Thagu, Chopta valley. Overnight in Lachen. Hotel Snow Retreat. Already paid via VISA card = 1,326 THB
31.12.16 DAY4 
Go to Lachung. Go to Yumthang and Zero point. Back to Lachung and overnight in Delight Hotels Royal Lachung. Already paid via VISA card = 2,089 THB
01.01.17 DAY5
From Lachung back to Gangtok on the way visit Lhabrung monastery, Phodong monastery and overnight in Gangtok. Hotel Pomra. Pay at hotel = 1,562.4 INR
02.01.17 DAY6 
Go to Darjeeling. On the way visit Rumtek monastery. At Darjeeling, go to Ghum monastery. Take toy train and visit Batasia. Go to Padmaja Naidu zoo and Happy Valley Tea (Darjeeling tea field). In the evening sightseeing at local market. Overnight in Darjeeling. Hotel Magnolia Residency. Pay at hotel = 2,800+ INR
03.01.17 DAY7 
Early morning, go to Tiger Hill to first see sunrise and view of Kanchengjunga. Then go to Siriguri, Finally, drop us at Bagdogra airport not later than 14.50 hr.
02:50 PM. Check in at SpiceJet counter, flight SG3288, Bagdogra airport.
04:50 PM. Depart for Kolkata.
06:05 PM. Arrive at Netaji Subhas Chandra Bose airport, Kolkata. Take prepaid taxi go to Victoria Memorial. Then go to Hawrah bridge. After 3 hrs. back to Netaji Subhas Chandra Bose airport.
09:05 PM. Check in at SpiceJet counter, flight SG83, Kolkata airport.
12:05 AM. Depart for Suvarnabhumi airport.
04.01.17 DAY8
04:10 AM. Arrive safely at Suvarnabhumi airport, Thailand.

Summary
2 nights in Gangtok Hotel Pomra
1 night in Lachen Hotel Snow Retreat
1 night in Lachung Delight Hotels Royal Lachung
1 night in Gantok Hotel Pomra
1 night in Darjeeling Hotel Magnolia Residency
Air ticket
Me                = 12,928.62 THB
My friend     = 14,103.36 THB
Total   = 27,031.98 THB , per person = 13,515.99 THB
========================================================
โปรแกรมข้างบนกว่าจะเสร็จเป็นเวอร์ชั่นล่าสุดก็ปรับแล้วปรับอีก หลายครั้งมากๆครับ แต่ก็ใกล้เคียงกับที่ได้ไปมาจริงนะครับ ค่อยๆติดตามกับบทความกันต่อไป 
ปล.เก็บโปรแกรมนี้ให้ดีๆ save ไว้ในมือถือด้วย และพิมพ์ออกมาบนกระดาษเพื่อพร้อมยื่นให้เจ้าหน้าที่ตม.ตอนเข้าขั้นตอนตรวจสอบ eTV ที่สนามบินในอินเดียครับ (นี่จึงเป็นที่มาว่าทำไมเราต้องเขียนเป็นภาษาอังกฤษครับ)

รถเช่า&ทัวร์
ผมหาบริษัทรถเช่า&ทัวร์เยอะมาก โดยได้ข้อมูลที่เพื่อนๆเคยใช้แล้วแนะนำมาในเน็ตบ้าง หาเองบ้าง สุดท้าย ไปเจอข้อมูลบริษัทรถเช่า&ทัวร์ ที่ทางการสิกขิมเขารับรองแล้ว เรียกว่า "Sikkim Government Recognised Registered Tour Operators"
หน้าเว็บ Sikkim Government Recognised Registered Tour Operators
แน่นอนว่าต้องไว้ใจได้แน่ๆ มีเยอะมากๆ เป็น 100 บริษัทเลยนะครับ ตาม link ด้านบนเลย วิธีการก็คือ ใช้โปรแกรมท่องเที่ยวในหัวข้อด้านบนเป็นพื้นฐานในการสอบถามกับบริษัททัวร์
วิธีการเพื่อให้ได้ราคาที่ดีและถูกที่สุดคือ เขียนเมลไปตามที่อยู่ email จาก link ด้านบนนะครับ แล้วใช้ข้อความสอบถามเหมือนกันพร้อมกับแนบโปรแกรมการท่องเที่ยวที่เราจัดทำมา ไปสอบถามในแต่ละเจ้า ผมส่งเมลไปประมาณ 20 เจ้าได้ครับ คราวนี้ก็รอรับเมลอย่างเดียว จะตอบกลับมาหลายสไตล์มากๆ โดยมีราคาใกล้เคียงกันอยู่ 3 เจ้าครับ ส่วนเจ้าอื่นๆก็มีโดดมาบ้าง แต่มีเจ้าหนึ่งเสนอราคามาเป็น USD ซึ่งแพงมากๆ ผมตัดไปเลย เอาเจ้าที่ราคาถูดสุด 3 เจ้า ภาษาที่ตอบมาโอเค แล้วเขียนตอบไปต่อรองราคาอีกครั้ง จนกว่าจะพอใจนะครับ อ้อ...บอกเรื่องการทำ permit ให้เขาดำเนินการให้เราด้วยเลย 

ราคาที่ผมให้เขาเสนอมาคือ ราคารถเช่า+คนขับ+ค่าน้ำมัน+ค่าที่จอดรถ+local guide ในวันที่ไปทะเลสาบฉางโกและสิกขิมเหนือ(ทางการอินเดียบังคับ) โดยไม่รวมค่าอาหารและค่าโรงแรม ทั้งหมดต้องเขียนให้ชัดเจนครับ เขาจะได้เข้าใจและเสนอราคามาถูกต้อง ไม่หมกเม็ด แล้วก็ได้ราคาที่ดีที่สุด 
พอได้ราคาสุดท้ายมาแล้ว สอบถามเรื่อง Term of Payment หรือการชำระเงินหน่อยก็ดี เช่น วันที่ไปถึงชำระกี่ % ที่เหลือชำระวันสุดท้ายเมื่อมาส่งกลับที่สนามบินบักโดกราในวันที่ 7 อะไรแบบนี้นะครับ และเขาเองเขาจะแจ้งชื่อคนขับที่ไปรับเราที่สนามบินบักโดกรา พร้อมเบอร์โทร ก็เป็นอันจบไปสำหรับการเลือกรถเช่าและทัวร์

ระยะเวลาเที่ยว
อันนี้ขึ้นอยู่กับตัวเราว่าว่างกี่วัน ถ้ามีอย่างน้อย 7 วันอย่างผมมันสามารถไปเที่ยวสิกขิมเหนือ พักหมู่บ้านลาเชน และลาชุงได้ ได้ไปกุบเขายุมถังถือว่าสุดยอดแล้วครับ อย่างอื่นก็รองลงมา หรือถ้ามีระยะเวลามากกว่านี้ก็ยิ่งดีไปใหญ่ ไปสิกขิมตะวันตก(Pelling) สิกขิมใต้(Namchi) ได้อีก แต่ถ้ามีเวลา 4-5 วัน ก็สามารถอยู่ได้เพียงในตัวเมืองกังต๊อก ชมวัดวาอารามต่างๆ ไปไหนได้ไม่ไกลมากครับ เพราะที่นี่สถานที่ต่างๆมันอยู่ไกลมากๆ ทางก็ไม่ค่อยดีบนเขา ต้องใช้เวลานาน

ฤดูกาลท่องเที่ยว
สิกขิมมีอยู่ด้วยกัน 5 ฤดุ คือ
1.ใบไม้ผลิ(spring)  เดือนมีนาคม - พฤษภาคม อุณหภูมิอยู่ระหว่าง 13°C - 25°C. ช่วงนี้เหมาะสำหรับเทร็กกิ้ง และชมวิว ดอกไม้จะบานช่วงนี้ด้วย เหมาะที่จะมาชมวิวจริงๆครับ
2.ร้อน(summer) เดือนพฤษภาคม - มิถุนายน อุณหภูมิอยู่ระหว่าง 13°C - 28°C ดอกไม้จะบานช่วงนี้ด้วย เหมาะสำหรับไปชมกล้วยไม้ และกุหลาบพันปี ถ้าต้องการเทร็กกิ้งก็สามารถทำได้เช่นกัน พื้นที่ราบอากาศจะอยู่ในช่วงทรอปิคอล คือสบายๆ แต่ถ้าพื้นที่บนเขาจะอากาศเย็นลง
3.มรสุม(monsoon) เดือนมิถุนายน - กันยายน พื้นที่มีฝนตกปานกลางถึงตกหนักมาก ทำให้หินถล่มในพื้นที่บนเขาซึ่งจะไปบล็อกถนนทำให้เดินทางไปไม่สะดวกถึงไปไม่ได้เลย อาจมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ ดังนั้น ช่วงฤดูกาลนี้ไม่เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะมาเที่ยวสิกขิม
4.ใบไม้ร่วง(autumn) เดือนกันยายน - พฤศจิกายน หลังจากฤดูมรสุม ทำให้มีน้ำตกในหลายๆแห่ง ดอกไม้ก็เริ่มกลับมากลับมามีชีวิตชีวา เหมาะสำหรับทำกิจกรรมผจญภัย เช่น การล่องแก่งในลำธารมากๆ
5.หนาว(winter) เดือนธันวาคม - กุมภาพันธ์  พื้นที่จะมีอุณหภูมิที่ลดต่ำลง อากาศหนาวเย็นสุดๆ โดยเฉพาะช่วงธันวาคม-มกราคม อุณหภูมิอยู่ระหว่าง 7°C - 18°C. ถ้าต้องการมาดูหิมะ ฤดุกาลนี้แหล่ะเหมาะสมที่สุดแล้ว อย่างไรก็ตาม ให้เพื่อนๆเอาเสื้อผ้าหนาๆ หรือขนสัตว์มาด้วยนะครับ ไม่งั้นจะหนาวจนนอนไม่หลับเด้อ อ้อ...หลายโรงแรมไม่มีฮีตเตอร์ หรือมีก็ต้องจ่ายเพิ่มเติมครับ ฮีตเตอร์ที่มีก็ตัวเล็กๆ ไม่คลายหนาวหรอก
โดยสรุปแล้ว ฤดูใบไม้ผลิ เหมาะสำหรับชมดอกกุหลาบพันปีเบ่งบานที่หุบเขายุมถัง และฤดูหนาวก็เหมาะสำหรับมาดูหิมะที่ลาเชนและ หุบเขายุมถังเช่นกันจ้า

ที่พัก/โรงแรม/เกสท์เฮ้าส์
ที่พักมีให้เลือกหลากหลายมากๆ สามารถเข้าเว็บ booking หรือ Agoda ได้ แต่มีข้อแนะนำว่า อินเดียเดี๋ยวนี้ไม่ยอมนำที่พักไปให้ เอเย่นอย่าง booking หรือ Agoda มาขายอีก ลองดูก็ได้ครับ ที่พักที่ทำเลดีๆจะหาไม่เจอใน 2 เอเย่นดังกล่าว โดยต้องใช้พวกเอเย่นของอินเดียเอง เช่น www.stayzilla.com แต่มีปัญหาเรื่องตัดบัตรเครดิต เพราะ OTP มันจะส่งได้เฉพาะเบอร์มือถือของอินเดียเท่านั้น ผมเองยังทำไม่ได้เลย ใครทำได้มาบอกละกันครับ

สถานที่แลกเงิน
เนื่องจาก Superrich Thailand สีฟ้ามาเปิดสาขาใกล้บ้าน คือที่ห้างพาราไดซ์ พาร์ค ผมเลยกลับมาใช้บริการที่นี่อีกครั้ง ด้วยเรต ณ วันที่แลก 1 รูปี = 0.55 บาท โดยต้องโทรไปจองเงินรูปีที่สาขาใหญ่ก่อนนะครับ เนื่องจากสาขาย่อยจะไม่มีสกุลเงินนี้ เพราะไม่ได้อยู่ในสกุลเงิน 11 สกุลที่รับแลก

เช็คลิสต์ก่อนไปเที่ยว
เวลาจะเดินทางไปเที่ยวที่ไหน โดยเฉพาะต่างประเทศ ผมจะทำลิสต์รายการไว้เป็นส่วนตัว ต้องเช็คตามนี้ไม่งั้นมีลืมแน่ๆ ใครจะเอาไปใช้ได้เลยครับ
1.พาสปอร์ต / หนังสือเดินทาง + เล่มเก่าด้วย
1.1 พิมพ์ใบอนุมัติวีซ่าอินเดีย eTV 5 ชุด
1.2 พิมพ์สำเนาหนังสือเดินทาง 5 ชุด
1.3 รูปถ่าย 2" 1 โหล
2.ตั๋วเครื่องบิน 2 ชุด
3.Voucher ที่พัก
4.เงินสกุลต่างประเทศ
5.เสื้อผ้า : เสื้อ / กางเกง / แจ๊คเก็ต / กางเกงนอนขายาว
6.แปรงสีฟัน / ยาสีฟัน / สบู่ / แชมพู / โรลออน
7.ทิชชู / ทิชชูเปียก
8.มือถือ / แบต / สายชาร์จ / Powerbank
9.อะแดปเตอร์ตปท. / อะแดปเตอร์ usbTocigarett / สามตา / ปลั๊กไฟยาว / ถ่าน AA/AAA
10.กล้อง / เลนส์ / แบตกล้อง / เมม / ขาตั้งกล้อง / รีโมทถ่ายดาว / ผ้าเช็ดเลนส์
11.ซิมการ์ดต่างประเทศ / Pocket Wifi / Sim2fly
12.โปรแกรมท่องเที่ยว แผนที่ท่องเที่ยว
13.ปากกา
14.ยาดม
15.ถุงมือผ้า/หนัง
16.ยาประจำตัว
17.ขนมขบเคี้ยว / หมูหยอง / น้ำพริก
18.หน้ากากผ้า หรือแมสค์
19.พาสต่างๆ

e-TOURIST VISA (eTV) 
ตอนนี้ ผมขอนำการทำวีซ่าเข้าอินเดียแบบใหม่ซึ่งเรียกว่า e-TOURIST VISA (eTV) ทั้งหมดทุกขั้นตอนตั้งแต่เริ่มสมัครขอวีซ่า(เขียนแบบฟอร์มคำร้อง, ส่งเอกสาร, ชำระค่าธรรมเนียมวีซ่า) จนถึงผลอนุมัติวีซ่านั้น ทำผ่านอินเตอร์เน็ตหมด โดยไม่จำเป็นต้องไปเสนอหน้านั่งรถเบียดเสียด ขับรถให้เมื่อยตุ้ม แถมไม่ต้องเสียเวลารอคิวยาวๆโดยเฉพาะวันจันทร์ ที่อาคาร 253 ถนนอโศก อ้อ...แถมถูกกว่าขอแบบปกติด้วยนะสิ ผมจ่ายแค่ 48+1.2 = 49.2 USD ซึ่งเท่ากับ 1,810.75 บาท เท่านั้น เห็นคนทำแบบปกติต้องจ่าย 2 พันหน่อยๆ 555
แต่มีข้อดี ก็มีข้อเสียนะครับ ค่อยๆดูกันไป งั้นเรามาดูขั้นตอนการขอวีซ่าอินเดี่ยแบบนี้กันดีกว่า

ขั้นตอน 0
เข้าเว็บไซท์ https://indianvisaonline.gov.in (อย่าลืม s หลัง http ด้วย) แล้วคลิกที่เมนูขวาสุดสีฟ้า e-TOURIST VISA (eTV) หรือไม่ก็พิมพ์ URL นี้โดยตรง https://indianvisaonline.gov.in/visa/tvoa.html รูปหน้าจอก็จะปรากฎดังด้านล่างนี้

ข้อแนะนำของการทำวีซ่าแบบ eTV นี้มี 7 ข้อ ดังนี้
1.นักเดินทางต่างชาติที่มีวัตถุประสงค์เข้าอินเดียดังเหตุผลต่อไปนี้ ; พักผ่อนหย่อนใจ, ดูสถานที่ท่องเที่ยว, การไปเยี่ยมเพื่อน หรือญาติอย่างไม่เป็นทางการ, การพักรักษาตัวทางการแพทย์ช่วงสั้นๆ หรือการเดินทางเพื่อธุรกิจอย่างไม่เป็นทางการ
2.หนังสือเดินทางควรมีอายุเหลืออย่างต่ำ 6 เดือนนับแต่วันที่เดินทางไปถึงอินเดีย และหน้าในหนังสือเดินทางควรมีหน้าว่างอย่างต่ำ 2 หน้าเพื่อประทับตราเข้าเมืองของอินเดีย
3.นักเดินทางต่างชาติควรมีตั๋วเดินทางกลับหรือไปจุดอื่นพร้อมให้ตรวจพร้อมกับเงินเพียงพอกับการอยู่ในอินเดีย
4.นักเดินทางต่างชาติที่ถือหนังสือเดินทางปากีสถาน ให้สมัครขอวีซ่าแบบปกติแทนตามที่ทำการหรือกงศุลอินเดีย
5.ไม่อนุญาตสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางราชการ/หนังสือเดินทางทูต
6.ไม่อนุญาตสำหรับบุคคลที่ได้รับการรับรองผ่านหนังสือเดินทางพ่อแม่ หรือคู่สมรส แต่ละบุคคลควรมีหนังสือเดินทางแยกจากกัน
7.ไม่อนุญาตสำหรับผู้ถือเอกสารการเดินทางนานาชาติ Not available to International Travel Document Holders.

เอาหล่ะครับ....ถ้าท่านผ่านตามข้อแนะนำทั้ง 7 ข้อดังที่กล่าวมา งั้นเรามาเริ่มต้นขอกันเลยดีกว่า สังเกตขั้นตอนหลักๆ 4 ขั้นตอน ตามรูปกราฟฟิคด้านล่างครับ


ขั้นตอน 1
สมัครขอวีซ่าออนไลน์ อัพโหลดรูป 2" และหน้าหนังสือเดินทาง



กรอกข้อมูลส่วนตัวลงไปตามช่องที่กำหนดให้ครบ โดยช่องแรกที่ถามว่า Passport Type* ให้ใส่ ORDINARY PASSPORT ครับ ถือหนังสือเดินทางธรรมดา
ช่องสุดท้ายกรอกตัวเลขตามที่แสดงเพื่อป้องกัน BOT เสร็จแล้วก็คลิก Continue ไปหน้าถัดไป


หน้านี้กรอกข้อมูลรายละเอียดของเราให้ครบ ทั้งที่อยู่, ครอบครัว, อาชีพ เสร็จแล้วกด Save and Continue หรือจะพักก่อน ก็กด Save and Temporarily Exit แต่ข้อสำคัญต้องจด Temporary Application ID ด้านบนไว้ให้ดีๆนะครับ จะได้กลับเข้ามาทำต่อได้


ให้อัพโหลดรูปถ่าย 2" และ หน้าที่มีข้อมูลและรูปเราของหนังสือเดินทาง เป็นอันเสร็จ



ขั้นตอน 2
จ่ายค่าธรรมเนียมวีซ่าออนไลน์ โดยใช้บัตรเครดิต

หน้าการจ่ายเงิน พอกรอกรายละเอียดจนครบถ้วนและอัพโหลดรูปเรียบร้อยแล้ว หน้าต่อไปก็คือหน้าการจ่ายเงิน กด Yes ว่าเราได้อ่านและเข้าใจทั้งหมด ส่วนสุดท้ายคือจ่ายเงิน แนะนำให้กด Pay Now นะครับ เพราะยังไงก็ต้องกดจ่ายก่อนที่จะมีการอนุมัติวีซ่า ซึ่งหน้าถัดไปก็จะเป็นหน้าธนาคารอินเดีย (ถ้ามีให้เลือกธนาคารให้เลือกข้อแรกครับ) เหมือนการจ่ายเงินออนไลน์เวลาซื้อของด้วยบัตรเครดิตปกติ กรอกรายละเอียดของบัตรเครดิต Request OTP ใส่เสร็จก็เป็นอันเสร็จขั้นตอนการขอวีซ่า 


พอจ่ายเงินเสร็จก็จะมีหน้าจอแสดงว่าจ่ายเงินเรียบร้อยแล้ว พร้อมกับแจ้งว่าได้รับข้อมูลแล้ว จะใช้เวลา process 72 ชม. และมี email แจ้งข้อมูลนี้มาด้วยที่ email เรา รอผลอนุมัติแบบจรวด!



ขั้นตอน 3
รอรับผลอนุมัติวีซ่า eTV ทาง email


ผ่านไปไม่ถึง 24 ชม.(ขอไป 23.30 น.ของคืนวันเสาร์ที่ 17 ธค. 59 ได้รับ email แจ้งผลเวลา 22.00 น. ของคืนวันที่ 18 ธค. 59) ผมก็ได้รับ email ว่าอนุมัติแล้ว โดยใช้คำว่า Granted ตาม email ด้านบนนี้



ขั้นตอน 4
พิมพ์ eTV ที่ได้รับ และนำติดตัวไปด้วย โดยยื่นให้เจ้าหน้าที่เมื่อไปถึงด่านตรวจคนเข้าเมือง ประเทศอินเดีย ที่มีข้อความเขียนว่า eTV เท่านั้น








ให้เข้าไป print แบบนี้ในเว็บนะครับ จะดูเป็นทางการกว่า email ที่แจ้งมา แต่ถึงอย่างไร ผมก็พิมพ์ไป 2 แบบ คือแบบ email ที่แจ้งมา กับแบบนี้ในแผ่นเดียวกัน


พอไปถึงสนามบินก็เดินไปตามป้าย Immigration เรื่อยๆ แล้วมองหาป้าย eTV หรือ eTourist Visa สำหรับที่สนามบินกัลกัตต้า ก็ตามที่แสดงในภาพครับ มีเปิดอยู่ช่องเดียว พอดีถ่ายก่อนที่ทหารจะหันมามองไม่งั้นอดถ่าย อิอิ อ้อ....เตรียมโปรแกรมท่องเที่ยวไปด้วยนะครับ ใบจองโรงแรม คนติดต่อ เพราะที่นี้เจ้าหน้าที่ถามเยอะครับ พอดีผมไม่ได้เอาโปรแกรมที่พิมพ์ออกมาอยู่ในกระเป๋าใหญ่ แต่มีอยู่ในมือถือ เลยพอแสดงได้ เกือบไป อ้อ...ที่นี้จะต้องพิมพ์ลายนิ้วมือทั้งหมดด้วยนะครับ เพราะตอนขอวีซ่าแบบ eTV เรายังไม่ได้พิมพ์ลายนิ้วมือกันเลย แต่แบบปกติได้พิมพ์ตั้งแต่ในไทยแล้ว แต่ถึงอย่างไรก็ไม่เป็นปัญหา ไม่นานครับ ถามมาก็ตอบไป ใช้เวลาเล็กน้อย


แล้วเจ้าหน้าที่ตม.ก็ประทับตราวีซ่าลงบนหนังสือเดินทางอย่างด้านบน (ไปถึงวันที่ 28 ธค. 59 มีเวลาพักในอินเดียถึงวันที่ 26 มค. 60 รวม 30 วันพอดี) อ้อ...นำเอาหน้านี้ไปถ่ายเอกสารด้วยถ้าต้องไปทำ permit เข้าเขตต่างๆที่อินเดียกำหนด เช่น เข้าสิกขิม เข้าทะเลสาบแปงกอง หุบเขานูบร้า ฯลฯ เพราะลำพังใบ eTV ที่พิมพ์มาไม่เพียงพอ

Port/สนามบิน ในอินเดียที่สามารถใช้วีซ่าแบบ eTV ได้ มีอยู่ 16 แห่งคือ
1.Ahmedabad, 2.Amritsar, 3.Bengaluru, 4.Chennai, 5.Cochin, 6.Delhi, 7.Gaya, 8.Goa, 9.Hyderabad, 10.Jaipur, 11.Kolkata, 12.Lucknow, 13.Mumbai, 14.Tiruchappali (Trichy), 15.Trivandrum and 16.Varanasi
แต่ออกจากอินเดียได้ทุกแห่งครับ

ข้อแนะนำ
eTV ขอได้ล่วงหน้า 4 วันก่อนเดินทาง เช่น ขอวันที่ 1 มค. 60 ต้องเดินทางตั้งแต่ 5 มค. 60 เป็นต้นไป เดินทางก่อนหน้านั้นไม่ได้
eTV มีระยะเวลา 30 วัน
eTV เป็นวีซ่าแบบ Single Entry คือเข้าได้ครั้งเดียว สามารถขอได้ 2 ครั้งต่อปีปฏิทิน
ค่าธรรมเนียมวีซ่าขึ้นอยู่แต่ละประเทศที่ขอ มากสุด $60 + 2.5% ชาร์จค่าธรรมเนียมบัตรเครดิต

โอเค....สนุกกับการขอวีซ่าแบบ eTV แล้วไปเที่ยวอินเดียให้สบายใจเด้อ


เห็นว่าบทความนี้น่าสนใจ รบกวนกดแชร์ด้วยครับ

1 ความคิดเห็น:

  1. สุดยอด ถ้าป้าไปคนเดียว สามารถไปหาทัวร์กลุ่มไดไหม จะไปnorth Sikkim

    ตอบลบ