วันเสาร์ที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2551

เนปาล (Day I) ท่ามกลางอ้อมกอดหิมาลัย ตอน 1 เมื่อเราได้มีโอกาสมาเยือนดินแดนแห่งเทือกเขาหิมาลายา


" กอล์ฟ สนใจไปเทร็คกิ้งที่เนปาลเปล่า ? " 

มันเป็นคำถามที่ผมยิงใส่เพื่อนรุ่นน้องในบริษัทหลังจากติดใจกับลักษณะนิสัยใจคอ และสไตล์การเที่ยวแบบแบ็คแพ็คเมื่อครั้งไปภูสอยดาวด้วยกันในเดือนกันยายนที่ผ่านมา 

" ไปเดือนไหนพี่ ? " กอล์ฟถามกลับมา

"คงเป็นเดือนเมษายนปีหน้าแหล่ะ เพราะจะได้ไปหลายวันหน่อย ลาหยุดไม่มากนัก" ผมตอบกลับไปโดยเสริมเหตุผลของการไปช่วงดังกล่าว

หลังจากนั้นก็ค่อยๆเก็บข้อมูลกันจากอินเตอร์เน็ต เว็บ TKT ดูจะเป็นเว็บที่มีข้อมูลชั้นโปรอย่างที่เราต้องการและไม่เคยขาดตกบกพร่องเลยในยามที่ต้องการข้อมูลเชิงแบ็คแพ็คไปต่างประเทศ คินาบาลู, บาหลี เป็นตัวอย่างอย่างดีที่สามารถเดินตามรอยเพื่อนๆได้อย่างสบาย แถมกลับมากับข้อมูลที่อัพเดทขึ้นมาบอกเพื่อนๆด้วย

ย้อนกลับไป ไม่แน่ใจว่ากี่ปี ผมจำได้ว่าเคยอ่านเรื่องราวเทร็กกิ้งพูนฮิลล์ (Poon Hill Trekking) ที่เนปาลจากเว็บ TKT ของคุณ kfc ซึ่งตอนนั้นได้อ่านแล้วก็เรียกได้ว่าเห็นภาพผ่านตัวอักษรที่เขาอุตส่าห์เขียนแบ่งปันประสบการณ์เราเป็นอย่างมาก ผ่านไปมายังไม่ทันจะจบก็ตัดใจใจเป็นลางๆไปแล้วว่าต้องไปที่นี่ให้ได้ และไป Trekking ด้วย 

จากวันนั้นล่วงเลยมาจนวันนี้ ในที่สุดฝันที่วาดไว้ก็ดูจะเป็นจริง เพราะเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาผมและกอล์ฟก็เริ่มจองตั๋วเครื่องบินเป็นทางการซะที ตอนแรกกะจะประหยัดไป RA (Royal Nepal Airline) แต่พอดูๆข้อมูลจากเพื่อนๆที่ไปมาแล้วทราบว่าดีเลย์เป็นอย่างมาก เลยตัดสินใจไปการบินไทย เพราะไม่ต้องการเจอดีเลย์ข้ามวันแบบนั้น แผนที่จะ Trekking จะเสียหมด หรือถึงจะจอง RA ก็ไม่มีให้จองแล้วด้วยเพราะเต็มยาวก่อนปีใหม่โน้น ดังนั้นเหลือความหวังเดียวคือ การบินไทย รักคุณเท่าฟ้าเท่านั้น !

เป็นที่น่าดีใจที่ผมได้คนร่วมเดินทางมาเพิ่มอีกคนหลังจากจบทริปหมู่เกาะสุรินทร์ นั่นคือ จ๊ะเอ๋ waiting list จากการบินไทยที่จองไว้ก็ยังไม่มีท่าทีจะขยับเขยื้อน ผมเลยยกเลิกที่จองกับกอล์ฟ แล้วมาจองเองผ่านเอเย่นต์ใหม่โดยจองสองคน รอราคาที่สูงขึ้นมาหน่อยจะได้ confirm เร็วๆ แต่จนแล้วจนรอดเกือบปลายเดือนมีนาคมแล้ว ตั๋วที่จองยังไม่คอนเฟิร์ม ผมเลยตัดสินใจขยับราคาไปที่ตั๋วปี เลยได้ราคาแพงสุดไปเชยชมแต่ก็แลกมาด้วยกับที่นั่ง 2 ที่ไปเนปาลเมษายนแน่นอน

กอล์ฟเกือบจะไม่ได้ไปแล้ว สุดท้ายคงโชคชะตาตรงกัน เอเย่นต์โทรมาบอกกอล์ฟว่าตั๋วคอนเฟิร์มแล้ว เลยได้ไปกัน 3 คน แต่ ท้ายสุด สุดท้าย ไปกันทั้งหมด 5 คนโดยมีเพื่อนกอล์ฟหนึ่งคนและเพื่อนจาก TKT มาขอแจมทริปด้วยอีกหนึ่งคน

การเดินทางเยือนดินแดนร่ำรวยอารยธรรม ประวัติศาสตร์ และศาสนา พร้อมกับเป็นดินแดนเปรียบเสมือนประตูสู่ยอดเขาที่สูงเป็น top ten ของโลกจึงเริ่มต้นขึ้น


แผนที่เส้นทางบินจากสนามบินสุวรรณภูมิไปสนามบินเมืองกาฐมาณฑุ เนปาล


ไฟล์ท TG319 จากไทยไปเนปาลของการบินไทยมีทุกวันวันละ 1 เที่ยวบินโดยออกเวลา 10:35 น. วันนี้(12 เมษายน 51)ผมและจ๊ะเอ๋ไปเช็คอินประมาณ 9:00 น. ตอนแรกคิดว่าไปเร็ว ที่ไหนได้ไปเป็น 2 คนสุดท้ายเลยเลือกที่นั่งติดกันไม่ได้ทั้งที่จองที่นั่งมาตั้งแต่จองตั๋วที่เอเย่นต์แล้ว กลายเป็นว่าผมต้องไปลุ้นเอาข้างบนเครื่องว่าจะเจอคนใจดีให้แลกที่นั่งหรือไม่ การเดินทางครั้งนี้ดูจะไม่ราบรื่นตั้งแต่ต้นซะแล้วเรา


ขึ้นไปบนเครื่องก็ต้องไปนั่งรอ ยืนรอผู้โดยสารที่จะมานั่งข้างจ๊ะเอ๋ตั้งนาน เกือบจะมาคนสุดท้ายเลยมั้ง ลุ้นกันแทบแย่ว่าจะให้แลกที่นั่งมั้ย ทราบมาแล้วจากพนักงานเช็คอินว่าเดินทางคนเดียว ผลปรากฎว่า ได้แลกที่นั่งเพราะผู้โดยสารคนดังกล่าวเป็นชาวญี่ปุ่นแก่แล้ว ท่าทางใจดี ไม่ถามเลยสักคำ เราเลยได้นั่งข้างๆกันเพื่อเก็บบรรยากาศบนเครื่องบินกันต่อไป


เครื่องบินกำลังแท็กซี่ มองเห็นเครื่องการบินไทยอีก 2 เครื่อง กำลังเข้าคิวเพื่อเทคออฟเช่นกัน


เมื่อเครื่องบินไต่ระดับได้ก็แล่นผ่านย่างกุ้ง เมืองหลวงของพม่าและต่อไปยังอ่าวเบงกอล ผ่านน่านฟ้าอินเดียที่กัลกัตต้า และถึงปลายทางที่กาฐมาณฑุ เมืองหลวงประเทศเนปาล


มีคนแนะนำว่าขาไปถ้าเป็นไปได้ควรเลือกที่นั่งด้านขวามือ โดยเฉพาะการบินไทยควรระบุที่นั่ง 31J และ 31K เพื่อการชมวิวเทือกเขาหิมาลัยตอนที่เครื่องบินถึงกาฐมาณฑุและเตรียมที่จะแล่นลง สำหรับเราได้ 37J, 37K ก็ถือว่าไม่เลวเท่าใดนัก ส่วนขากลับก็ตรงกันข้ามคือนั่งฝั่งซ้ายมือคือ 31A, 31B
อาหารมาเสริฟตอนประมาณเที่ยงวัน มีแกงไก่กับแกงแพะเหลือเพียง 2 อย่างสำหรับเรา เราเลือกแกงไก่กัน แถมโรตีมาให้ด้วย น่าทานทีเดียว


ก่อนจะลงเครื่องประมาณ 50 นาที เจ้าหน้าที่การบินไทยได้เดินแจกใบ Immigration เพื่อเขียนล่วงหน้าก่อนที่จะผ่านตม.ของเนปาล เขียนไม่ยากอะไร กรอกให้ครบถ้วนก็เป็นอันใช้ได้ เตรียมตัวเพื่อผ่านเข้าประเทศเขาต่อไป
เพิ่มเติม: Compactflash 2 อัน ขนาด 1 GB และ 4 GB ไม่พลาดในการเก็บรูปสวยๆ


เครื่องบินลดระดับโดยเตรียมตัวที่จะลงที่สนามบินตรีภูวัน เมืองกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาลแล้ว แต่เมื่องผมมองออกไปยังด้านขวามือ ทำไมผมไม่เห็นเทือกเขาหิมาลายาก็ไม่รู้สิ ทัศนวิสัยไม่ดี มีหมอกมาก หรือผมตาถั่วกันแน่ อุตส่าห์จองฝั่งขวาซะอย่างดี งั้นดูลายมือเจ้าของไปพลางๆก่อนละกันครับ


สภาพบ้านเมืองเขาเป็นดังที่เห็น


ช่างเป็นเมืองแห่งหุบเขาจริงๆ คล้ายๆกับแม่ฮ่องสอน แต่ที่นี่จะกว้างใหญ่กว่ามาก พวกเราพร้อมแล้วหล่ะจะมาเหยียบแผ่นดิน เ น ป า ล
ตามเวลา เครื่องจะลงแตะสนามบินตรีภูวัน เนปาล เวลา 12:45 น. ตามเวลาประเทศเนปาล โดยเวลาเนปาลจะช้ากว่าเวลาของไทยอยู่ 1 ชม. 15 นาที


พอลงจากเครื่องก็เดินต่อมาตรงนี้ มีบันไดเลื่อนลงไปยังตม.ที่อยู่ชั้นล่าง


ผ่านพิธีทางศุลกากรเสร็จก็เดินมาแลกเงินที่ Money Exchange ของทางการ แต่ไหงเรียกเก็บค่าธรรมเนียมตั้ง 3 หรือ 5 % ก็ไม่ทราบ แถมยังไม่มีใบเสร็จด้วย ข้อมูลส่วนนี้ถือว่าผิดจากที่เคยมีคนให้ไว้ ดังนั้นแนะนำให้แลกเพียงเพื่อจ่ายค่าแท็กซี่ไปย่านทาเมลเท่านั้น นั่นคือ ไม่เกิน 300 Rs(อ่านว่ารูปี) หรือเพียง 150 บาท(ขณะที่ไปอัตราแลกเปลี่ยนคือ 1 บาท ~ 2 รูปีเนปาล)


พอออกจากสนามบิน ไม่ผิดเลยที่ใครๆเคยบอกไว้ คือท่านจะเป็นดั่งดาราซุปเปอร์สตาร์ของที่นี่ นั่นก็คือ มีคนมารุมล้อมท่านเยอะมากๆ ก็คือคนขับแท็กซี่นั่นเอง แต่ขอแจ้งไว้ก่อนว่าให้ใจเย็นๆ ค่อยๆเดินออกมาจากวงนั้น แล้วถามหาแท็กซี่ที่ให้ราคาที่เราต้องการก่อนเลยเช่น 250 Rs มีคนไหนบ้าง เป็นต้น

จากข้อมูลของคุณ kfc และท่านอื่นๆ ราคาแท็กซี่จากสนามบินไปที่พักย่านทาเมลประมาณ 250 Rs หรือ 125 บาท ซึ่งผมถามๆดูตอนแรกมีแท็กซี่รายแรกบอก 100 Rs ผมก้ตระหงิดใจแล้ว ว่ามันจะใช่เหรอ สุดท้ายเป็นคนกลางอีกทีหนึ่ง มาเสนอเพื่อจะได้ขายโรงแรมที่พักด้วย เราเลยไม่ไป เพราะมันไม่ใช่ 100 Rs จริงๆ เลยมาได้แท็กซี่ที่เป็นคนขับเอง ราคา 300 Rs ด้วยความที่เห็นว่าแพงกว่า 250 Rs เพียง 50 Rs เพราะราคาดังกล่าวก็ 5 ปีมาแล้วเลยหยวนๆ ตกลงตามนั้น แต่ถ้าใครคล่องแล้วจะรู้ว่าสามารถต่อรองให้ราคาลงไปได้กว่านี้ แล้วมาดูกันในวันถัดๆไป


ตอนวันไปถึงคือวันที่ 12 เมษายน 51 ผ่านการเลือกตั้งไปเพียง 2 วัน พรรคเหมาอิสต์ชนะการเลือกตั้ง หลายๆคนที่สนับสนุนเลยแสดงความดีใจด้วยการขับรถโบกธงไปตามถนน แต่ก็ไม่ได้มีความรุนแรงอะไรให้น่ากลัว


เริ่มเข้ามาในย่านทาเมลแล้ว มีผลไม้สีสันสวยงามน่าทานมากๆ


นั่นไง เอกลักษณ์ของย่านทาเมล กาฐมาณฑุ รถติดครับท่าน สัญญาณไฟนะเหรอ อย่าหวังเลย


พอลงจากแท็กซี่ก็เดินหาที่พักตามที่ได้จองมาทางอินเตอร์เน็ต ตามที่มีคนเคยให้ข้อมูลไว้ พวกเราเลยเลือกพัก ACME Guesthouse เห็นว่ามีสวนสวยงาม ราคาปานกลาง ย่านทาเมลคล้ายๆย่านตรอกข้าวสารของบ้านเราไม่มีผิด เป็นที่รวมของชาวต่างชาติ ท่านจะเจอกับโรงแรมและ Guesthouse ถูกๆมากมาย ขอเพียงแต่ท่านเดิน เดิน และเดินหาเท่านั้น ก็จะเจอ
พอลงเดินก็มีคนเนปาลมาคุยกับเราเชิงสอบถามและจะแนะนำที่พักให้ซึ่งก็คุยดี ผมเลยให้เขาคุยต่อไป เขารู้ว่าเราจะไปพัก ACME เขาเลยเดินมาส่งให้ด้วย แถมยังเล่าเรื่องอะไรอีกมากมายที่เป็นประโยชน์ และรู้จักเราในนามของคนไทยที่เราเคยต้อนรับก่อนหน้านี้  อย่างที่ใครๆว่า คนเนปาลเขาใจดีนะ


ในที่สุดก็มาถึง ACME Guest House เป็นที่พัก 3 ชั้นมีชั้นบนเป็นดาดฟ้าด้วย เข้าไปเจรจาต่อรองราคาและก็เจอกับเพื่อนอีกคนจาก TKT ที่มาก่อนหน้านี้ 2 วัน โดยเขาทำใบ Entry permit ให้ กับจองรถทัวร์ไปเมืองโพคราในวันรุ่งขึ้นไว้ด้วยเช่นกัน ขอบคุณมา ณ ที่นี่ด้วยน้อง


เราจองมาเป็นห้อง Double Bed Room 2 ห้อง นอนห้องละ 2 คน ราคาต่อห้อง 13.4 USD โดยกอล์ฟขอต่อรองราคาหน่อย เห็นเครื่องคิดเลขแบบนี้ก็สะใจแล้ว 555


สภาพภายในห้อง ถือว่าปานกลางค่อนไปทางเก่า มีห้องน้ำในตัว(น้ำอุ่น), พัดลม, ทีวี


เก็บข้าวเก็บของเสร็จก็ลงมาด้านล่าง เพื่อนจาก TKT ที่มาล่วงหน้าได้ให้ใบ permit ซึ่งเป็นใบอนุญาตในการเดิน trekking รอบ ACAP(Annapurna Conservation Area Project) + ITMS และ ตั๋วโดยสารรถบัสปรับอากาศไปเมืองโพคราในวันรุ่งขึ้น

ราคามีดังนี้
1.Entry Permit Fee = 2,000 Rs
2.ITMS = 300 Rs (กฎใหม่ต้องมี)
3.ตั๋ว Greenline tour = 15 USD
ข้อ 1-2 ต้องใช้เอกสารคือ พาสปอร์ต และ รูปถ่าย 4 ใบ


ทำอะไรเสร็จเรียบร้อยแล้วก็ออกเดินไปแลกเงินและไปเที่ยวที่เมืองเก่าอย่างปาตันกันก่อน ระหว่างทางที่ทาเมลมีชาวต่างชาติมาเล่นกีต้าร์ให้เด็กๆเนปาลีฟัง


เรตอัตราแลกเงินอยู่ที่ 1 USD = 62.71 Rs ซึ่งก่อนจะมาที่เนปาลให้แลกเงินบาทไทยเป็นดอลล่าร์ที่เมืองไทยก่อน แล้วค่อยเอาดอลล่าร์มาแลกรูปีเนปาลอีกทีหนึ่ง ซึ่งก็คล้ายๆกับไปบาหลีเช่นกัน


ต่อจากนั้นเรียกแท็กซี่ 150 Rs ไป Patan Durbar Square ซึ่งเมืองปาตันนี้ถือเป็นเมืองพระพุทธศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดในโลกเลยก็ว่าได้ ห่างจากกาฐมาณฑุเพียง 5-6 กม. แถมยังปัจจุบันได้รับการยกย่องเป็นเมืองมรดกโลกจากองค์กรยูเนสโก้ไปแล้ว


ด้านขวาที่ห่มชุดสีแดง ดูน่ากลัวมากๆ


ยามบ่ายแก่ๆแบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นชาวเนปาลีเองหรือนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติต่างก็เดินทางมานั่งพักผ่อน คุยกันตามประสาเพื่อนฝูง โดยจะเห็นได้จากบริวเณจัตุรัสเดอบาร์ปาตันที่คราคร่ำไปด้วยฝูงชน


ถ่ายไปเรื่อยๆครับ หลายๆอย่างผมเองก็ไม่รู้จัก ถืออาวุธหลายอย่างเชียว


ส่วนหนูจ๊ะเอ๋ก็ยิ้มไม่หุบ คงมีความสุขมากใช่มั้ยหล่ะ


ที่นี่มีวัดสำคัญอยู่ด้วยกัน 2 วัดคือ วัดกฤษณะ(Krishna Temple) กับ วัดทอง(Golden Temple)


มีบางคนอยากเลียนแบบนางครุฑของเนปาล


ส่วนของพิพิธภัณฑ์ที่อยู่ภายใน


ซูมเข้าไปดูใกล้ๆซิ อะไรเอ่ยยืนอยู่บนหลังคา ร่างกายเป็นคนหัวเป็นลิง


ได้เห็นพระธิเบตเป็นครั้งแรกในทริปนี้ ท่านมาเดินชมปาตันเช่นกัน


หญิงเนปาลหลายคนออกมาสนทนากันที่นี่


มองย้อนออกมาจากประตูพิพิธภัณฑ์


ภายในสีอิฐของอาคารเหมือนดั่งน้ำปูนใสสวยงามทีเดียว


เดินออกมาอีกครั้ง แต่มองจากด้านท้ายของจัตุรัสปาตัน


ละแวกนั้นก็มีแม่ค้าชาวเนปาลีทำขนมขายนักท่องเที่ยวและคนทั่วไป


ที่อาบน้ำของชาวเนปาลีเห็นแล้วทำให้นึกถึง Tampaksiring ที่บาหลีเลย เป็นวัฒนธรรมฮินดูเหมือนๆกัน


16:15 น.ก็ได้เวลาไปสถานที่อื่นโดยว่ารถแท็กซี่ไปปศุปตินาถ(Pashupatinath)ซึ่งเป็นศาสนถานที่ใช้เผาศพของชาวเนปาล


ละแวกวัดปศุปตินาถ มีวัวกำลังทานหญ้าอยู่ บางตัวก็โชว์บั้นท้ายเลย


แม่ค้าขายดอกไม้บูชาสำหรับญาติที่มาเผาศพ


เราไม่อยากเสียเงินค่าเข้าจึงเดินอ้อมไปอีกทางตามคนขับแท็กซี่ที่จ้างวานมา มุมมองจากมุมสูงบ่งบอกถึงความเศร้าสลดของญาติพี่น้องที่เสียคนที่รักไป


เจ้าจ๋อเองก็พลอยเศร้าไปด้วย


เดินมาพักดื่มน้ำที่ร้านคนไทย เห็นสร้อยประคำที่ทำด้วยเมล็ดที่คล้ายพุทราแขวนอยู่ ราคาปานกลางถึงแพง


แล้วก็เดินอ้อมกลับมาทางด้านหลังอีกทางหนึ่ง เพื่อเก็บภาพระยะไกลด้วยเลนส์เทเลซึ่งร่างกายของศพกำลังถูกเผาไหม้อยู่ ตามความเชื่อนั้น ศพต้องถูกเผาภายใน 24 ชม. แล้วทิ้งลงแม่น้ำที่เห็นด้านล่าง
หมายเหตุ : ภาพออกมาเบลอเพราะแสงน้อยและไม่มีขาตั้งกล้อง


ไม่นานยังไม่ทันขึ้นรถฝนก็ตกลงมา เลยทำให้โปรแกรมต่อไปคือวัดโบดานาถ(Bhaudhanath) ต้องยกเลิกไปโดยปริยาย เลยต้องกลับมาทาเมลเพื่อหาอะไรทานมื้อเย็นต่อไป
เรา 5 คนเลือกเดินไปตามถนนแล้วสอบถามร้านอาหารพื้นเมืองแห่งหนึ่ง ซึ่งมีชื่อว่า Thakali's Kitchen อยู่ออกมาด้านนอกถนนใหญ่ทางทาเมลอีกทีหนึ่ง จวนจะถึงสี่แยกอยู่แล้ว เยื้องๆกับร้าน Baskin Robbins


อาหารที่สั่งไปรายการแรกจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจาก Mo Mo ซึ่งเป็นแป้งห่อใส้ต่างๆเช่น ไก่สับ หรือเนื้อควาย หรือผสมกันกับผักโขม รูปร่างภายนอกคล้ายๆกับเกี๊ยวซ่าในไทยเรา แต่คนละรสชาติกัน ใครไปสั่งก็ต้องทำใจนิดนึงว่าอาหารที่เนปาลนี่นานมากๆ 45-60 นาทีถึงจะได้ทาน ยิ่ง Mo Mo ด้วยแล้ว เสียเวลาทำมากๆ


และพิซซ่าหอมน่าทาน


และปิดท้ายด้วยนี่ครับ Nepal Ice เบียร์ท้องถิ่น รู้สึกจะราคา 190 Rs หรือ 95 บาทไทย ต่อจากนั้นก็เดินย่อยอาหารและไปทานไอติมที่ร้านตรงกันข้าม วันนี้ต้องรีบนอน พรุ่งนี้ต้องตื่นแต่เช้าเพื่อมาขึ้นรถที่สี่แยกของบริษัทกรีนไลน์เพื่อไปเมืองโพครากันต่อ แล้วเจอกันใหม่ในตอนหน้าครับ

ขอบคุณเพื่อนๆทุกท่านที่เข้ามาติดตามชม และทักทายกัน ราตรีสวัสดิ์ครับ (_/|\_)

Original Published on http://www.pantip.com on [ 23 เม.ย. 51 22:15:20 ] as below link
http://topicstock.pantip.com/blueplanet/topicstock/2008/04/E6543379/E6543379.html



เห็นว่าบทความนี้น่าสนใจ รบกวนกดแชร์ด้วยครับ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น