วันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

เลห์-ลาดักห์-แคชเมียร์-อักรา ตอน 8 ออกจากเมืองแดรสผ่านโซจิลาพาส (Zoji La Pass) ทางผ่านบนเขาที่แสนจะหวาดเสียว เข้าโซนามาร์กมุ่งสู่เมืองศรีนาการ์เมืองหลวงของแคชเมียร์


วันนี้มาถึงวันที่ 9 ของทริปอินเดียเหนือแล้ว เราตื่นแต่เช้ามืดประมาณตี 4 โดยไม่ได้อาบน้ำกัน(เพราะไม่มีน้ำอุ่นให้อาบบอกให้ช่วยต้มน้ำให้ก็รับปากแต่หายจ้อยไปเลย) ออกมาจากที่พักยังมืดอยู่มีเพียงแสงไฟจากไฟทางเท่านั้นที่ส่องทางที่พอจะมองเห็นบ้าง สิ่งที่แปลกใจเราอีกสิ่งหนึ่งคือ เช้านี้มีคนอินเดียเข้ามาร่วมแจมรถที่เราเช่าเหมามาอีก 1 คนเป็นผู้ชาย ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 แล้วที่รับคนแปลกหน้าขึ้นมาโดยไม่ถามเราว่าจะให้ไปด้วยหรือไม่ เราเองไม่พอใจนักแต่ก็ไม่ได้ว่าอะไร คงเก็บความสงสัยไว้ในใจและคุยกันสองคนว่าคืออะไร??

วันนี้เรารีบออกเดินทางเพื่อที่จะให้ทันเวลาที่ Zoji La Pass ให้รถทางเราผ่านไปได้ เพราะอย่างที่ซาลิมบอกกับเราว่ารถจะให้เดินทางทางเดียวแค่ไม่กี่ชั่วโมง ถ้าพลาดไปไม่ทันอาจต้องรอยาวหรือรออีกวันได้ เราเลยต้องออกแต่เช้าไว้ก่อน

พาสนี้ถือเป็นทางผ่านบนเขาที่แบ่งแยกดินแดนระหว่างแคชเมียร์และลาดักห์อย่างชัดเจน จากเดิมเราอยู่ลาดักห์บนที่สูง 5,000 กว่าเมตร ผ่านมาพาสนี้จะเหลือ 3,000 กว่าเมตรแล้ว พาสนี้จะเปิดให้เดินทางได้เฉพาะช่วงหน้าร้อนเท่านั้นคืออาจเริ่มในช่วงปลายเดือนมิย.จนถึงก่อนพย. ถ้าเป็นช่วงหน้าหนาวหิมะจะตกหนักมากจนไม่สามารถผ่านไปได้ เรียกได้ว่าดินแดนทั้งสองถูกตัดขาดกันอย่างสิ้นเชิง

แผนเที่ยวคร่าวๆของวันนี้ที่แพลนไว้คือ เมื่อผ่าน Zoji La Pass แล้วก็จะถึงโซนามาร์ก(Sonamarg) ซึ่งจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งของแคชเมียร์ มีขี่ม้าเพื่อเดินไปดูกลาเซียร์ แต่สภาพของเราตอนนี้อาจจะไม่ไหวที่จะเดินไปดูก็ได้ ไว้ถึงสถานที่แล้วค่อยตัดสินใจกันอีกที พอเสร็จจากโซนามาร์กก็เข้าเขตศรีนาการ์เข้าที่พักที่ Houseboat หรือบ้านเรือตามที่เราได้จองไว้ มาเที่ยวรอบทะเลสาบดาล เที่ยวสวนชาร์ลิมาร์ และสวนดอกไม้อื่นๆ เมื่อเวลาอำนวย

Drass - Zoji La Pass - Sonamarg - Srinagar (House Boat) - Sharlimar


แผนที่การเดินทางวันนี้ (คลิกเพื่อขยายภาพใหญ่) โดยเริ่มจากเกสเฮ้าส์ในเมืองแดรส(Dras) ในหมายเลข 1 ไล่ไปตามสถานที่สำคัญเรื่อยๆ โซจิลาพาส(Zoji La Pass) ในหมายเลข 2, โซนามาร์ก(Sonamarg) ในหมายเลข 3 จนถึงจุดหมาย ที่พักบ้านเรือ(Houseboat) ในหมายเลข 4 และ ทะเลสาบดาล(Dal Lake) ในหมายเลข 5 ตามลำดับ


ช่วงแรกของรถจะวิ่งมืดๆไปตามทางพอออกนอกเมืองแดรสก็อาศัยเพียงไฟหน้ารถยนต์ที่คอยส่องทางข้างหน้า บางช่วงก็เห็นไฟสวนมาซึ่งก็คือรถจากฝั่งตรงข้ามนั่นเอง ช่วงนี้จะเป้นอะไรที่กลัวๆบ้างเล็กน้อยเพราะทางเป็นเขาแต่เห็นทางได้ไม่ 100% ภวนาให้ท้องฟ้าสว่างขึ้นมาโดยเร็วสักที

แต่พอขับไปๆ เกือบๆชั่วโมงสิ่งรอบๆ ที่เคยมืดๆ ก็ค่อยๆ สว่างขึ้นมาแล้วเผยให้เห็นวิวเขาสีเขียวกับปลายยอดสีขาวที่ปกคลุมไปด้วยหิมะอย่างชัดเจนขึ้นมาเรื่อยๆ


ระหว่างทางก็จะเจอกับแค้มป์ของชาวบ้านบริเวณนี้ ส่วนใหญ่จะเลี้ยงแกะและม้าไว้ใช้งาน


ณ จุดนี้จากที่เราเคยเจอแพะตามภูเขาในลาดักห์มาแถบนี้จะเจอกับแกะซึ่งมีหลายสิบตัวด้วยกันนอนอยู่ตรงพื้นใกล้ๆ


รถเริ่มไต่เขาไปตามทางของ Zoji La Pass แล้ว รถส่วนใหญ่ที่ใช้เส้นทางนี้จะเป็นรถบรรทุกซึ่งบรรทุกสินค้าและน้ำมันจากศรีนาการ์ไปมากับดินแดนลาดักห์ ป้ายหินที่อยู่ข้างทางบอกกับเราว่า นายพลที่ชื่อ Prakash Suri ผู้อำนวยการขององค์การทำถนนที่ติดชายแดนของอินเดียได้ทำการเปิดทางเส้นนี้เมื่อ 15 ตค. 2001


รถค่อยๆขึ้นไปตามเขาจนมาถึงจุดที่ใครๆก็ต้องชักภาพ คือ ณ จุดนี้ จุดที่มองเห็นถนนพับไปพับมาตามไหล่เขาพร้อมกับวิวแค้มป์ที่พักด้านล่าง วิวนี้เห็นแล้วแทบจะหยุดหายใจ


รถแล่นไปตามไหล่เขาเห็นแล้วอย่างกับรถเด็กเล่นทีเดียว ตอนนี้เห็นมีแต่รถที่เดินทางเดียวฝั่งเข้าศรีนาการ์สงสัยคงจริงที่เปิดให้รถวิ่ง one way เป็นช่วงๆ

จะว่าไปแล้วเราผ่านพาส หรือทางผ่านขึ้นเขาในจุดที่อยู่สูงที่สุด ณ ทางนั้นๆในทริปนี้หลายพาสด้วยกัน ซึ่งก็มี คาดุงลาพาส, ชางลาพาส, โฟตูลาพาส และล่าสุด โซจิลาพาส จะสังเกตเห็นว่าจะมีคำว่า "ลา" / "La" อยู่ด้วยเสมอ ซึ่งคำว่า"ลา"ในภาษาทิเบตแล้วก็คือพาส หรือทางผ่านขึ้นเขานั่นเอง ดังนั้นถ้าเอาให้ถูกต้องจริงๆ การเขียนก็ไม่ควรมีคำว่า Pass ต่อเข้าไปอีก


วิวช่องเขาสวยไม่ใช่เล่นเลยนะครับ Zoji La Pass นี้อยู่ห่างจากโซนามาร์กไป 9 กม. อยู่สูงประมาณ 3,528 เมตร สูงเป็นอันดับ 2 รองจาก Fotu La Pass ที่อยู่ตรงลามายุรูบนเส้นทางศรีนาการ์-เลห์ 



ในช่วงระหว่างสงครามอินเดีย-ปากีสถาน ปีค.ศ.1947 ปากีสถานได้ยึดพาสนี้ไว้ แต่หลังจากนั้นทางอินเดียก็กลับมายึดคืนโดยใช้วิธีการทางทหารที่ประหลาดใจมากๆนั่นคือการใช้รถถังเข้ามายึดนั่นเอง ซึ่งหลังจากนั้นก็เป็นการกล่าวขานว่า "เป็นสมรภูมิที่ทำสงครามโดยรถถังบนพื้นที่ที่สูงที่สุดในโลก"  


ช่วงนี้เป็นช่วงลงจากเขาแล้ว เราจะเห็นสีสันของแค้มป์หลากหลายสีกระจายตามพื้นด้านล่างเต็มไปหมด คงเป็นชาวอินเดียและนักท่องเที่ยวที่มาตั้งแค้มป์ริมลำธารชมธรรมชาติกัน


รถบัสจอดกันเยอะมากๆ เห็นแล้วก็ให้นึกถึงการกางเต๊นท์ที่เขาใหญ่ตรงผากล้วยไม้ หรือลำตะคองกัน อารมณ์คงประมาณนั้นเลย อิอิ


7 โมง 40 นาทีรถก็มาถึงยังโซนามาร์กแล้ว เราแวะพักรถและตกลงกันว่าคงไม่ขี่ม้าไปชมธารน้ำแข็งแล้ว ขอแวะหาอาหารเช้ารองท้องกันก่อน


เดินหาร้านมาเจอร้านนี้เข้า เลยเข้ามานั่งดู สั่งขนมที่เป็นแป้งสามเหลี่ยมที่ทอดกรอบๆ ไม่แน่ใจว่ามันเรียก"ซาโมซ่า"อีกหรือเปล่า


และอีกชนิดแผ่นจะใหญ่แข็งๆ สรุปคือไม่อร่อยเท่ากับตอนเช้าเมื่อวานนี้ มื้อนี้หมดไป 45 รูปี


นี่แหล่ะที่เช่าม้าไปขี่ชมธารน้ำแข็งกัน


ผ่านโซนามาร์กมาก็จะเป็นพื้นราบแล้ว แต่ก็ยังมีแม่น้ำสินด์(Sind River)  ขนาบข้างถนนอยู่ น้ำไหลแรงไม่ใช่เล่นเลย


ระหว่างทางจะเจอกับหญิงชาวแคชเมียร์ทูนถังไว้บนหัวไม่รู้ในถังมีของใส่ไว้หรือเปล่า และละแวกนี้เราก็จะพบกับทหารอินเดียที่ยืนซุ่มถือปืนอยู่ตามใต้ต้นไม้ถี่มากๆ ครั้นจะยกกล้องถ่ายก็ไม่กล้ากลัวจะโดนเรียกตัวและสอบสวนยาว เลยไม่ถ่ายดีกว่าเพื่อความปลอดภัยตัวเอง


พอรถเริ่มเข้าตัวเมืองศรีนาการ์ฝนก็ตกตลอดทางเลยจากที่เพียงครึ้มๆเท่านั้น! เราสองคนแจ๊คพ็อตแตกครับ เพราะวันนี้เป็นวันที่ชาวแคชเมียร์ฉลองหรือรำลึกอะไรสักอย่าง เลยทำให้ชาวแคชเมียร์หยุดงานประท้วงกันทั่วเมือง รถเข้าไปในเขตเมืองชั้นในไม่ได้ติกแหงกอย่างที่เห็นแล้วฝนก็ยังมาตกอีก นั่งในรถจนเบื่อเลยครับ

ไปค้นมาว่าเป็นวัน “Kashmir Martyrs’ Day” วันที่ชาวแคชเมียร์ถูกตำรวจยิงตายไป 21 คนและก็เกิดเรื่องกัน เกิดขึ้นในปี 1931 โอย....มาตรงกับวันที่เรามาแคชเมียร์พอดีเล้ยยย อะไรจะโชคดีหรือโชคร้ายขนาดนี้เนี่ย!!


จนสุดท้ายประมาณครึ่งชั่วโมงเจ้าคนที่มาด้วยก็ช่วยหาเส้นทางที่ขับลัดเลาะไป จนไปได้เส้นทางหนึ่งแล้วขับมาทะลุที่ทะเลสาบดาล(Dal Lake) ขอให้รถจอดแล้วถ่ายรูป 2-3 รูปก่อนค่อยไป

จริงๆเราอยากลงไปเดินเที่ยวก่อนแล้วค่อยไปที่พักทีหลังแต่เจ้าคนที่มาด้วยมันไม่ยอมมันบอกว่ามันจะไปมหาวิทยาลัย ผมก็บอกว่าเราเช่าเหมารถมานะจากเลห์เลย แล้วมันเป็นใครขึ้นมาทีหลังอุตส่าห์ปล่อยให้นั่งมาด้วยก็ดีแล้ว มันดันบอกว่ามันก็จ่ายเงินมาด้วย คราวนี้เลยงงเลย...มันจ่ายตอนไหนอะไรยังไง รถคันนี้มันไม่ใช่รถประจำทางนะโว้ย ถ้าเราไม่ได้เช่ามา วันนี้ก็ไม่มีรถคันนี้เข้ามาที่แคชเมียร์มันเข้าใจอะไรผิดเปล่า สุดท้ายถามคนขับมันก็ฟังและพูดภาษาอังกฤษไม่รู้เรื่องหรือเข้าใจที่ีเราพูดอีก ผมแค้นมาก ทำไมจะจอดแล้วเราเดินเที่ยวก่อนไปที่พักไม่ได้ วันแรกๆที่เลห์ก็ทำอย่างนี้ตลอด มาคราวนี้มันไม่ยอมใันบอกจะไปส่งเราที่พัก แต่สุดท้ายเข้าไปที่พักย่านเราไม่ได้ ต้องมาส่งที่จอดรถแห่งหนึ่งแล้วโทรเรียกเจ้าของ Houseboat ที่เราจองมารับเรา ผมเซ็งมากๆ ให้โทรคุยกับซาลิมก็คุยกันไม่รู้เรื่องอีก สุดท้ายเราก็ต้องจ่ายเงินที่เหลือกับคนขับรถไป เงินที่จะให้ทิปคนขับก็ยกเลิกโดยปริยาย มาแย่ตอนที่จะจบทริป และจำไว้กับคนที่ชื่อซาลิม เป็นคนทีไม่ work หรอก เขี้ยวลากดินมากๆ ใครมาพักเกสเฮ้าส์กับเขาที่ลเลห์แล้วประทับใจเรา 2 คนแหล่ะไม่ประทับใจนะ ใครอ่านมาถึงนี้ก็ตัดสินใจดีๆนะครับถ้าจะไปพักกับ Ree Yul Guesthouse ในเลห์และเช่ารถเจ้านี่ เจ้าอื่นมีเยอะแยะครับ


พอเราลาจากกับรถที่มาส่งและใช้บริการอยู่ทุกวันเมื่อมาถึงเลห์ เราก็รอลูกชายเจ้าของที่พัก Houseboat ที่เราจองไว้ ที่พักชื่อ Shelter Houseboat เราเลือกที่นี่เพราะเป็นบ้านเรือที่ไม่ได้อยู่ในทะเลสาบดาล เอ๊ะ...แล้วในทะเลสาบดาลไม่ดีเหรอ ใครๆเขาก็พักที่ทะเลสาบดาลกัน ใช่ครับ ทะเลสาบดาลถือเป็นสัญญลักษณ์ของแคชเมียร์เลย แต่ที่เลือกไม่พักในทะเลสาบดาลก็เพราะว่าเคยมีนักท่องเที่ยวบอกเหตุผลไว้น่าฟังว่า ถ้าพักที่ทะเลสาบดาลเราจะตกอยู่ในความควบคุมของเจ้าของบ้านเรือ เพราะการจะเข้าจะออกจากบ้านเรือในทะเลสาบดาลต้องใช้เรือแจวหรือชิการ่า(Shikara)เท่านั้น ทั้งเสียเงินและอึดอัดเมื่อจะไปไหนทำอะไรที่ต้องออกจากบ้านเรือเนื่องจากบ้านเรือในทะเลสาบดาลอยู่กลางทะเลสาบจริงๆไม่มีพื้นดินให้เดินออกจากเรือมาฝั่งได้ แต่ถ้าเป็นบ้านเรือที่อยู่ริมฝั่งอย่างบ้านเรือที่เราพัก(อยู่ในแม่น้ำ Jehlum) เรายังสามารถเดินไปไหนต่อไหนได้เองไม่ต้องพึ่งชิการ่า ซึ่งก็ถูกต้องเป็นอย่างมาก

ราคาห้องพัก 1 คืนไม่รวมอาหารมื้อเช้าและมื้อเย็น 2,000 รูปี/2 คน ซึ่งราคาไม่แพงเลยครับ จ่ายเงินตอนออกจากที่พักไม่ต้องจองผ่าน Agoda ให้เสียค่าต๋ง


รถมารับเราที่จอดรถและขับมาถึงบ้านเรือไม่ถึง 10 นาที บ้านเรือในแบบชาวแคชเมียร์งานแกะสลักจะสวยมากๆ ดูได้จากประตูทางเข้าเรือ และข้อสำคัญ ต้องถอดรองเท้าก่อนเข้าไปครับ เพราะด้านในพื้นจะปูด้วยพรม


เข้ามาถึงในห้องสิ่งหนึ่งที่รับรู้ได้คือกลิ่นหอมของห้อง เจ้าของเขาใส่ใจในเรื่องพวกนี้มากๆ แ๊ดกลิ่นหอมๆไว้ก่อนเรามาถึง เดินเข้ามาในเรือก็ไม่โคลงเคลงนะครับ ห้องพักกว้างใช้ได้ สะอาดสะอ้านมาก เห็นเตียงอยากอยากนอนจริงๆเพราะเหนื่อยกับการเดินทางมามากแล้ว


มองอีกด้านหนึ่งจากหัวเตียงไปยังห้องน้ำ มีโทรทัศน์ให้ดูด้วย


ห้องน้ำสะอาด มีอ่างอาบน้ำด้วย และก็มีน้ำอุ่นไม่เหมือนกับเมืองแดรสที่เราไปพักอันนั้นนรกชัดๆ


พอเข้ามาห้องพักได้ไม่ถึง 5 นาทีทางพ่อเจ้าของบ้านเรือนี้ก็นำชาแคชเมียร์และบิสกิตมาเสริฟเรา อร่อยดีครับชาก็หอม และที่สำคัญไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม


แล้วเราก็ออกมาสำรวจห้องรับแขกและห้องทานอาหาร ตกแต่งสวยดีตามสไตล์แคชเมียร์ครับ เจ้าของถามเราว่าจะให้ทำอาหารเย็นหรือเปล่า เราตั้งใจไว้ว่าจะอุกหนุนอาหารของบ้านเรือด้วย ดังนั้นจึงบอกไปว่าให้ทำไว้ด้วย พร้อมกับมื้อเช้าพรุ่งนี้ก่อนที่เราจะออกไปสนามบิน น่าเสียดายที่อาหารในวันนี้จะไม่มีปลาเพราะวันนี้คนดันมาหยุดงานประท้วงกันซะนี่ เลยอดกินปลาสดๆที่ทะเลสาบดาลเลย :(

จากการเหน็ดเหนื่อยตลอดการเดินทางของเราในวันนี้บวกกับเมื่อวานนอนไม่ค่อยหลับ ทำให้เรารีบอาบน้ำแล้วนอนพักกันตลอดทั้งบ่ายในวันนี้เลย ประกอบกับฝนที่ตกปรอยๆด้วยแล้ว ยิ่งหลับสบาย


เราตื่นมาอีกทีก็เป็นเวลา 4 โมงเย็นแล้ว หลับสบายจริงๆ เนื่องจากวันนี้หลายที่เช่นสวนชาร์ลิมาร์และสวนดอกไม้อื่นๆปิดทำการเพราะชาวแคชเมียร์หยุดงานประท้วงกัน ทำให้โปรแกรมที่เหลือคงมีแค่การไปเดินชมรอบๆทะเลสาบดาลเพียงแค่นี้

เราออกไปฝั่งตรงข้ามบ้านเรือและเรียกรถตุ๊กๆ หรือออโต้ริชอร์ในภาษาบ้านเขา บอกความจำนงว่าจะไปทะเลสาบดาล ตอนแรกคนขับมาราคามา 100 รูปี แต่เราก็ต่อรองราคาจนมาได้ที่ 60 รูปี(ต่อโหดไม่ใช่เล่น) ก็เป็นอันว่าไปกัน


รถตุ๊กๆ ใช้เวลาประมาณ 10 นาทีก็มาส่งเราที่ทะเลสาบดาล เบื้องหน้าริมทะเลสาบคนเยอะแยะไปหมด ต่างมาเดินชมวิวรอบๆทะเลสาบกัน เรือแจวหรือชาวแคชเมียร์เรียกเรือนี้ว่า ชิการ่า(Shikara)


ราคามีการท่องเที่ยวแคชเมียร์กำหนดไว้เป็นมาตรฐานไม่ต้องต่อรองกันให้เสียเวลา 1 ชม. 300 รูปี, 30 นาที 200 รูปี แล้วแต่ใครจะเลือก ส่วนเราไม่ขอลองขอเดินเที่ยวเล่นถ่ายรูปดีกว่า


ขณะนี้อากาศเย็น เมฆลอยต่ำปกคลุมทะเลสาบเกือบจะทั้งหมดกันเลยทีเดียว


อีกท่าหนึ่งที่คนมาใช้บริการกันเยอะ


ชิการ่าจอดเรียงราย ผมว่า supply มากกว่า demand นะ


และที่ขาดไม่ได้บริเวณนี้คือ แขกขายถั่ว ของจริงครับ มีหลายแผงเลย ตั้งอยู่ตามริมฟุตบาทรอบๆทะเลสาบดาล อยากลองนะแต่กลัวท้องจะเสียเดี๋ยวจะไปกันใหญ่


อีกจุดหนึ่งครับ เรือชิการ่าจะทำเบาะนั่งนุ่มๆ อย่างกับเบาะในโรงหนังราคาแพงๆเลย


สังเกตใบพายจะเป็นรูปหัวใจสัญลักษณ์ของที่นี่เขาหล่ะ แถมสีสันฉูดฉาดตา ไม่สีเหลืองก็สีแดงหรือฟ้า


ดอกไม้ข้างๆทางเดินตรงข้ามกับฝั่งของทะเลสาบ เกือบลืมบอกไป เราเดินๆไปก็จะมีพวกคนขับรถยนต์คันหนึ่งที่แล่นมาเรียกเราให้ไปหา เรานี้รีบเดินไปอีกฝั่งเลย พวกนี้เป็นอะไรก็ไม่รู้ ทำให้นักท่องเที่ยวอย่างเรามองว่าอินเดียแถบย่านนี้ ทั้งเมืองแดรสและศรีนาการ์ไม่เป็นมิตรครับ ดูน่ากลัวต้องระวังตัวมากกว่าที่อื่นๆ ที่เราผ่านมา


ท่าเรือนี้เรือซิการ่าจอดว่างเยอะเหมือนกัน ขำตรงที่แต่ละลำมีชื่อเรียกทุกลำเช่น Boeing 747 Deluxe, Rose of Japan Deluxe(Full spring seat), etc.


เดินรอบทะเลสาบสักพักก็บอกกันว่ากลับกันดีกว่า เรียกตุ๊กๆเหมือนเดิม คราวนี้เราบอกกับคนขับว่า ตอนมาจากที่พัก 60 รูปี เลยได้ราคาเดิมไม่งั้นเราก็ไม่ไป ตุ๊กๆที่นี่จะมีม่านด้านข้างด้วยนะครับ ดีเหมือนกัน


แล้วก็กลับมาถึงบ้านเรือของเรา เก็บแสงยามเย็นฝั่งตรงข้ามก่อนจะแสงจะลาไปในวันนี้


อาหารเย็นในวันนี้มีข้าวสวย, แกงคล้ายๆกะหรี่ไก่, แกงจืดผัก แป้งนานหรือโรตี หอมหัวใหญ่ทานแกล้ม และขนมหวานลูกกลมๆ


ทานเสร็จเจ้าของบ้านเรือก็จะเอาพรมของชาวแคชเมียร์ออกมาโชว์กับเรา เขาบอกกับเราว่าไม่ซื้อไม่เป็นไรขอเขาได้โชวืสินค้าของเขาเองให้เราดู เราก็ดูตามที่เขาเอามาโชว์ แต่ละผืนราคาก็สูงๆทั้งนั้น พอดีเราไม่ได้ชอบพวกนี้อยู่แล้วเลยไม่ได้ซื้อกลับมา ซึ่งเขาก็ไม่ได้ว่าอะไรเรานะครับ

จบวันนี้ที่ศรีนาการ์ แคชเมียร์ คืนนี้เราจะนอนที่นี่แค่คืนเดียว พอวันพรุ่งนี้เราก็ต้องเดินทางกลับไปนิวเดลีแล้ว บอกกับเจ้าของว่าไฟล์ทจากศรีนาการ์กี่โมงโดยเขาจะเตรียมอาหารเช้าไว้ให้เรา เสร็จแล้วก็จะไปส่งเราที่สนามบินศรีนาการ์ งั้นพรุ่งนี้กลับมาเจอกันใหม่ เราจะบินอีกครั้งโดยสายการบิน JetAirways กลับจากศรีนาการ์ไปยังนิวเดลี เมืองหลวงของอินเดีย แล้วจะไปไหนต่อต้องติดตามกันต่อไปครับ


เห็นว่าบทความนี้น่าสนใจ รบกวนกดแชร์ด้วยครับ

2 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ17 พฤษภาคม 2559 เวลา 18:14

    นอนที่เดียวกันเลยค่ะ ไปเมื่อสองปีที่แล้ว

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. หมายถึงบ้านเรือที่แคชเมียร์เหรอครับ เจ้าของเขาใจดีนะ คนไทยมาพักที่นี่เยอะครับ

      ลบ