ทริปนี้เป็นอีกทริปหนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ความที่ผมประทับใจบ้านรวมไทยหรือปางอุ๋งที่ใครๆในขณะนี้รู้จักกันมากขึ้นแล้วในปลายปี 46 ทำให้เกิดทริปนี้โดยมีเวลาแค่ 2 วันคือเสาร์-อาทิตย์ที่ 19 และ 20 กุมภาพันธ์ ต้นปีที่ผ่านมา จึงเจาะจงเฉพาะบ้านรวมไทยอย่างเดียว แต่เพื่อเป็นการลดระยะเวลาการเดินทาง ทำให้ต้องใช้บริการ Low Cost รายหนึ่งจากกทม.มายังเชียงใหม่ และนั่งเครื่องการบินไทยจากเชียงใหม่ไปแม่ฮ่องสอนอีกทีหนึ่ง
ได้เวลาเครื่องออกแล้วครับ เสียงเจ้าหน้าที่เรียกเพื่อเช็ค boarding pass ตามเวลาที่เครื่องออกประมาณ 9.00 น.
เครื่องที่จะพาเราบินไปเมืองสามหมอกซึ่งจะผ่านขุนเขาอันมากมายนี้เป็นเครื่องแบบใบพัด ผมเองไม่มีความรู้เรื่องเครื่องบินเลยไม่ทราบว่ารุ่นอะไร เที่ยวบินนี้มีชาวต่างชาติซะส่วนใหญ่ คนไทยเองประปราย ชาวต่างชาติที่ว่าพอฟังสำเนียงการคุยก็ทราบได้ว่าเป็นชาวฝรั่งเศส มากันเป็นคณะท่องเที่ยว
เส้นทางนี้ใช้เวลาเดินทางประมาณ 25 นาที อากาศเช้ายามนี้ทำให้มองลงไปเห็นสายหมอกปกคลุมผืนเขาเต็มไปหมด
9:32 น. เครื่องบินแบบใบพัดก็เตรียมพาเราบินลงจอดที่สนามบินแม่ฮ่องสอน นอกหน้าต่างมองเห็นทางหลวงหมายเลข 108 และบ้านเรือนรอบค้างอย่างชัดเจน
ลงจอดแล้วครับ มองจากสนามบินด้านบนเขาจะเห็นพระธาตุดอยกองมูตั้งเด่นเป็นสง่า
เราเดินดุ่มๆเข้ามาภายในตัวอาคารผู้โดยสารขาเข้าของสนามแม่ฮ่องสอนแห่งนี้ โดยรอบตกแต่งสวยงามตามสถาปัตยกรรมแบบไทยใหญ่ที่ฝังรากลึกในเมืองสามหมอกแห่งนี้
ป้ายบอกทางไม้แบบนี้ ถ้าใครขับรถมาจะรู้ได้ว่ามองลำบากมาก เพราะตัวหนังสือและสีพื้นตัดกันไม่ชัดเจน จากป้ายเราเดินเลี้ยวขวาเพื่อไปยังตลาดสด
มาถึงจุดที่ทางหลวงแผ่นดินทั้งสองเส้นทางบรรจบกันแล้ว ด้านซ้ายไปแม่สะเรียงด้วยเส้น 108 ส่วนด้านขวาไปปายด้วยเส้น 1095 เราเดินไปทางซ้ายเพื่อหาเช่ารถจักรยานยนต์ ไม่นานก็เจอร้านให้เช่า คิวแรกก่อนหน้าเราจะเป็นสองนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ เราได้ Honda Dream รุ่นฮิตของที่นี่ สนนราคา 150 บาท/วัน โดยโดนยึดบัตรประชาชนไป ไม่แพงครับ เมื่อเปรียบเที่ยบเมื่อตอนเช่าขี่ที่ภูเก็ต
พอได้ยานพาหนะคู่กาย สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือเติมน้ำมันเต็มถังเพื่อตระเวนในตัวเมืองก่อนจะไปยังบ้านรวมไทย
มาเมืองสามหมอกไม่ลืมที่จะไปเคารพเจ้าผู้ครองนครแห่งนี้เป็นคนแรกก็คือพระยาสิงหนาทราชา ท่ายืนถือดาบดั้งเด่นเป็นสง่า สีทองสะท้อนแสงแดดดีทีเดียว
ต่อจากนั้น เราขี่รถไปยังวัดจองกลางจองคำ สิ่งแรกที่ทำคือนมัสการหลวงพ่อโตทางด้านซ้ายมือ
หลวงพ่อโต ศิลปะแบบไทยใหญ่
อุโบสถวัดจองคำ
ครั้งที่แล้วที่มาวัดจองคำจองกลางเราพลาดถ่ายรูปพิพิธภัณฑ์ตุ๊กตาแห่งนี้ แต่คราวนี้ไม่พลาด ก่อนถ่ายรูปควรบอกพระก่อนว่าเราจะถ่ายรูปดังกล่าว ท่านอนุญาตทุกครั้ง
ตุ๊กตาอะไรเนี่ย ตัวดำพุงโลทั้งคู่เลย
เจดีย์วัดจองกลาง
...
ถ่ายรูปพอประมาณแล้วจึงได้ย้อนมายังฝั่งตรงข้ามของวัดจองกลางจองคำ โดยมีหนองจองคำตั้งอยู่ตรงกลาง วิวนี้มีการถ่ายรูปมากที่สุดก็ว่าได้
ต่อไปเราขี่ขึ้นไปยังพระธาตุดอยกองมู พระธาตุสำคัญประจำเมืองแม่ฮ่องสอน ด้านบนนี้มองเห็นวิวทั้งเมืองของจังหวัดแม่ฮ่องสอนเลยเนื่องจากตัวเมืองเล็ก ตั้งอยู่ในหุบเขา แถบยาวๆที่เห็นจะเป็นรันเวย์ของสนามบิน มีรูปปั้นสิงห์นั่งเฝ้าเมืองสามหมอกแห่งนี้
พระธาตุดอยกองมูทั้งเจดีย์องค์ใหญ่ที่สร้างโดย"จองต่องสู่” เมื่อ พ.ศ. 2403 และเจดีย์องค์เล็กที่สร้างโดยพระยาสิงหนาทราชา
อีกมุมหนึ่ง
ครั้งนี้เดินขึ้นไปสำรวจยังด้านบน เล่นเอาเหนื่อยเหมือนกัน
ช่วงบ่ายๆจึงได้ขี่รถมายังบ้านรวมไทย ใช้เวลาประมาณ 1 ชม.ได้ ผมทำได้เพียงใช้เกียร์ 1 ในการขึ้นเขาชันมายังที่นี่ เนื่องจากทางชันมาก ครั้งนี้แปลกตาออกไปตรงที่มีป้ายหมู่บ้านกาแฟติดอยู่ตรงทางเข้า จำได้ว่าปี 46 ยังไม่มีป้ายนี้ แต่อย่างไรซะการกลับมาครั้งนี้ก็รู้สึกดีอีกครั้ง
ผ่านซุ้มทางเข้าหมู่บ้านไป ไม่กี่ร้อยเมตรก็เจอกับบ้านลุงปาละกับพี่ศรีทางด้านซ้ายมือ เป็นบ้านพักแนวโฮมสเตย์ที่เรามาพักครั้งที่แล้วเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 46 ที่ผ่านมา จอดรถมอเตอร์ไซด์เสร็จก็ได้เดินเข้าไปทักทายเจ้าของบ้าน วันนี้เจอลุงปาละ เรารื้อฟื้นความจำกันสักครู่ ลุงก็จำเราได้ ดีใจครับที่จำได้ พร้อมกับยังเก็บรูปที่เราถ่ายไว้เมื่อครั้งที่แล้วแล้วเราส่งมาให้ทางไปรษณีย์
ภายในบริเวณบ้านลุงนั้น เต็มไปด้วยต้นไม้และดอกไม้นานาพันธุ์ แข่งกันออกสีสันบาดตาแก่ผู้พบเห็น
ดอกหน้าวัว
เราไม่ลืมที่จะเก็บภาพต้นกาแฟที่ปลูกเต็มไปหมดในไร่หลังบ้านลุงปาละ เม็ดแดงบ่งบอกถึงว่ามันใกล้จะสุกเพื่อเตรียมไปตากแดดและคั่วในขั้นตอนต่อไป
หลังจากเก็บสัมภาระ ทางลุงปาละได้นำกาแฟสดร้อนๆมาให้เราดื่มไปพร้อมกับขนมคุ้กกี้ กาแฟสดที่นี่สดจริงๆ เพราะปลูกเอง ตากเอง คั่วเอง และตำเอง สุดท้ายก็นำไอน้ำร้อนมาผ่านผงกาแฟดังกล่าว กลายเป็นกาแฟสดให้เราดื่ม
พอคาเฟอีนเข้าสมองแล้ว หนทางต่อไปคือการขี่รถไปสำรวจอ่างเก็บน้ำปางอุ๋ง ตลอดเส้นทางบ้านเรือนยังคงติดธงชาติไทยพร้อมกับเขียนว่า ทรงพระเจริญที่หน้าบ้านทุกหลัง จากครั้งก่อนจำได้ว่า พี่ศรีได้บอกกับเราว่ามีทั้งหมด 20 ครัวเรือนไม่สามารถขยายเพิ่มได้
สันอ่างเก็บน้ำปางอุ๋ง ให้เราเดินไปชมวิวเลียบอ่างเก็บน้ำได้ บางเวลาเห็นชาวบ้านที่นี่นำผ้ามาซักกัน
ต้นอะไรเนี่ย สีแดงทั้งต้นเลย ปลูกอยู่ริมอ่างเก็บน้ำ
ณ ริมอ่างเก็บน้ำปางอุ๋งแห่งนี้ มีเกสเฮ้าส์ชื่อรวมไทยเกสเฮ้าส์เปิดบริการอยู่ เจ้าของเป็นทหาร มีอยู่หลายราคา ตั้งแต่ 200 300 ถึง 400 บาท/คืน แต่ผมยังไม่เคยพักซะกะครั้ง เนื่องจากตอนกลางคืนจะเงียบและเปลี่ยว พักกับลุงปาละได้ทานข้าวเย็นไปคุยไปจนกว่าจะนอนยังได้
อีกครั้งกับศาลาริมน้ำ เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของปางอุ๋ง
สวนสนริมอ่างเก็บน้ำ มาครั้งนี้ต้นไม้และหญ้าค่อนข้างแห้งแล้งผิดกับเดือนพฤศจิกายนที่ยังชุ่มชื้นสีเขียวสด
แนวสนที่มีระยะห่างเท่าๆกันแลดูสวยงามนี้แหล่ะจะมีใครรู้บ้างว่าเกิดจากผลงานส่วนหนึ่งของลุงปาละเมื่อ 20 ปีที่แล้ว โดยลุงได้เล่าว่าต้องใช้เชือกรังวัดระยะห่างให้เท่าๆกันก่อนจะลงปลูกต้นสน ตามที่ทางการสมัยนั้นได้ให้ชาวบ้านมาช่วยกันสร้างและปลูกต้นไม้ เป็นผลให้เราๆเห็นแนวสนยาวและมีระยะห่างเท่าๆกันสวยงามตาเมื่อปลูกอยู่ริมอ่างเก็บน้ำ
...
เดินมาเรื่อยๆริมอ่างเก็บน้ำ เห็นกาฝากชนิดหนึ่งขึ้นบนลำต้นของต้นสน
ยามเย็นๆ ณ ริมน้ำ ช่างมีความสุขจริงๆ ผู้คนไม่พลุกพล่าน สิ่งที่เห็นเป็นสิ่งธรรมชาติอย่างแท้จริง ไม่ได้เกิดขึ้นจากการปรุงแต่งแต่อย่างใด
เราเดินเรื่อยเปื่อยมาที่ลานกางเต้นท์และที่ทำการโครงการพระราชดำริปางตอง ๒(ปางอุ๋ง)
ณ วันนี้ แหงนมองบนฟ้า โชคดีได้เห็นดวงจันทร์ด้วย
ผมชอบเสาธงที่นี่ ดูใหญ่โต และแข็งแรงดีจัง
เดินเข้าไปสำรวจใกล้ๆ พบเจอแต่ดอกไม้เมืองเหนือสีสันสวยงามตา
รองเท้านารี
แสงอาทิตย์ใกล้จะลับขอบฟ้าแล้ว เราจึงขี่รถกลับมาที่พักพักของลุงปาละอีกครั้ง อากาศเย็นเริ่มมาแทนที่ ทำให้ลุงต้องนำฟืนมาจุดไฟเพื่อเพิ่มความอุ่นให้กลับอากาศรอบข้าง
บรรยากาศในบ้านเริ่มคึกคักมากขึ้น เนื่องจากมีทั้งลูกชายและลูกสาวที่ไปเรียนหนังสือในกรุงเทพกลับมาเยี่ยมบ้าน
ความที่อยากเก็บบรรยากาศตอนพระอาทิตย์จะลับขอบฟ้าไปที่อ่างเก็บน้ำปางอุ๋ง ทำให้ผมต้องขี่มอเตอร์ไซด์ออกไปอีกครั้งเพื่อเก็บภาพนี้ให้ได้ จากนั้นจึงย้อนกลับมาที่พักอีกครั้งพร้อมกับอาบน้ำที่ลุงปาละต้มให้ คลายความสกปรกทั้งวันไปได้ดีทีเดียว จากนั้นก็ถึงเวลาทานอาหารเย็นกับครอบครัวลุงปาละและพี่ศรี่ เกือบสามทุ่มจึงได้แยกย้ายไปนอน วันนี้จึงได้สิ้นสุดเพียงเท่านี้
เห็นว่าบทความนี้น่าสนใจ รบกวนกดแชร์ด้วยครับ
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น