วันจันทร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

ชวา อินโดนีเซีย..วังสุลต่าน-บุโรพุทโธ-ภูเขาไฟโบรโม่ ตอน 4 สิ่งที่เห็นตรงหน้า คือภาพจริงหรือฝันไป


วันนี้เป็นวันสุดท้ายของทริปแล้ว เราจะตื่นเช้ามืดคือประมาณ ตี 3 เพื่อมารอรถจี๊ปที่ติดต่อไว้เมื่อวานนี้ที่ด้านหน้าโรงแรมที่พัก แล้วนั่งรถจี๊ปแชร์กับนักท่องเที่ยวคนอื่นๆ ไปชมวิวภูเขาไฟโบรโม่และเซเมอรูแบบใกล้ชิดที่เขา Penanjakan ชมวิวภูเขาไฟพร้อมๆกับพระอาทิตย์ขึ้นจนสว่างก็ได้เวลาลงจากเขาไปชมปล่องภูเขาไฟโบรโม่ที่พ่นควันฉุยๆอยู่ตลอดเวลาแบบใกล้ชิด โดยจะเลือกเดินหรือนั่งม้าก็แล้วแต่ชอบ จนเสร็จสิ้นโปรแกรมทัวร์นี้ กลับมาอาบน้ำที่พัก ทานอาหารเพื่อเตรียมตัวนั่งรถเช่าจากโรงแรมให้ไปส่งที่สนามบินสุราบายาเลย แล้วรอเครื่องเพื่อบินไปลงกัวลาลัมเปอร์ LCCT ก่อน แล้วต่อเครื่องบินอีกทอดบินกลับกรุงเทพ ประเทศไทยต่อไป ก็เป็นอันสิ้นสุดทริปชวา อินโดนีเซียนี้ครับ



เช้ามืดวันที่ 21 กรกฎาคม 2551
เจ้าหน้าที่มาเคาะที่ประตูโดยมาเคาะก่อนเวลาตั้งครึ่งชั่วโมง ! เราเดินงัวเงียออกมา ก็ดันมาเจอพวกที่ให้เช่าหมวกและเสื้อกันหนาวอีก ออกไปยังไม่มีคนมาเลย เลยกลับเข้าไปที่ห้องงีบอีกครั้ง สักพักได้ยินเสียงคนเดินไปเดินมามากขึ้นก็ออกมาอีกที เราเดินไปที่ด้านหน้าโรงแรมก็พอดีกับเจ้าหน้าที่มาจัดนักท่องเที่ยวพอดี ก่อนขึ้นรถจี๊ปเราต้องจ่ายค่าเข้าชมอุทยานอีกคนละ 25,000 Rp. ซึ่งก็ตรงกับข้อมูลที่เราได้มา เพราะเราต้องเข้าไปในบริเวณของอุทยาน Bromo Tengger Semeru นั่นเอง รถจี๊ปเริ่มออกเดินทางจากที่พักอีกสิบนาทีตีสี่


รถจี๊ปพาเราและนักท่องเที่ยวต่างชาติอีก 2 คู่ลัดเลาะทางที่เป็นทรายและขึ้นเขาไปเรื่อยๆ จะเห็นเพียงแสงไฟจากรถเราที่สาดส่องไปยังทางที่ขรุขระข้างหน้าแค่นั้นเอง แต่รอบๆเราทั้งด้านหน้าและด้านหลังก็ไม่วังเวงเพราะจะมีรถจี๊ปพวกนี้วิ่งตามๆมาด้วยกัน จุดหมายคือเขา Penanjakan จุดชมวิวดูพระอาทิตย์ขึ้นนั่นเอง

รถจี๊ปใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมงจากที่พักมาที่ลานจอดบนเขานี้ แสงไฟจากร้านอาหารข้างๆทำให้ทีนี่ไม่มืดเท่าใดนัก พวกเราลงจากรถและจำเบอร์รถไว้นั่นคือ 021 เผื่อกลับมาจะได้ทราบว่าคันไหน หลังจากนี้นักท่องเที่ยวจะต้องเดินเท้าขึ้นไปอีก ก็เดินตามๆกันไปครับ


เพื่อจะได้เห็นภาพตรงกันว่าทางไปดูภูเขาไฟในอุทยาน เป็นอย่างไรบ้างและตำแหน่งของภูเขาไฟต่างๆอยู่ตรงไหน ผมจึงขอนำแผนที่ด้านบนมาแนบไว้ให้เห็นภาพครับ (แผนที่ภูเขาไฟโบรโม่ 1)


(แผนที่ภูเขาไฟโบรโม่ 2)


ณ จุดชมวิวที่ทางอุทยานทำให้ เดินขึ้นไปไม่ไกลเท่าไหร่แต่เหนื่อยเช่นกันนะเนี่ย 

เวลาประมาณ 4.38 น. ด้วยความที่ด้านบนยังมืดมากๆ แต่ยังพอมองเห็นวิวภูเขาไฟได้อยู่บ้าง ผมดัน ISO ของกล้องไปมากสุด 1600 เปิดรูรับแสงมากสุดของเลนส์ที่จะทำได้  f/2.8 แล้วกลั้นหายใจถ่ายวิวนี้มา แม้ noise จะเยอะแต่ชอบครับ เพราะเป็นภาพๆแรกของภูเขาไฟโบรโม่ที่สามารถถ่ายมาได้แม้ยังไม่มีแสงตะวัน ผมถึงกับตะลึงในความสวยงาม


5.00 น. แสงพระอาทิตย์ก็เริ่มออกมาให้เห็นกันแล้ว เราจะเห็นนักท่องเที่ยวในชุดกันหนาวหลากหลาย เห็นแล้วก็คล้ายๆกับเมืองไทยที่ตื่นมารอชมพระอาทิตย์ขึ้นที่ภูชี้ฟ้าเลยอ่ะ อิอิ

**บอกข่าวดีคือเขากำลังทุบอัฒจันทร์เก่าและกำลังสร้างใหม่เพื่อจะได้ชมวิวได้รอบไม่เหมือบแบบเดิมที่หันหน้าไปหาพระอาทิตย์ขึ้นแต่ดันหันข้างให้ภูเขาไฟโบรโม่**


อีกไม่กี่นาทีต่อมา ก็เริ่มมีแสงรำไรๆ ตามขอบฟ้าเพิ่มมากขึ้นแล้ว


เราเริ่มสามารถชักภาพโดยความเร็วชัตเตอร์ไม่ต่ำเกินไปนักได้แล้ว เปลี่ยนกลับมาเป็น ISO 800


เอาแล้วไง ภูเขาไฟเซเมอรูด้านหลังสุดปล่อยควันออกมาแล้ววว


มาดูภาพแบบกว้างบ้าง ที่เห็นแสงไฟด้านซ้ายมือก็คือหมูบ้านที่เราเพิ่งเดินทางออกมานั่นเอง หมู่บ้านเซโมโร ลาวัง (Cemoro Lawang Village)


ซูมเข้าไปดูใกล้ๆ เหมือนแอ่งกระทะที่มีหมอกเข้าไปอยู่ข้างในมั้ยครับ??



ยังไม่สะใจ ซูมเข้าไปดู Gunung Semeru เขาว่าเป็นจุดศูนย์รวมของจักรวาล
เห็นสีเทาๆปกคลุมด้านบนยอดของภูเขาไฟเซเมอรูมั้ยครับ นั่นคือเถ้าที่เกิดจากควันภูเขาไฟตกลงมาปกคลุมยอดด้านบนนั่นเอง ดูเผินๆคล้ายๆภูเขาไฟูจิ ที่มีหิมะปกคลุมยังไงยังงั้นเลยแฮะ

**Gunung ในภาษามาเลย์และอินโด แปลว่า ภูเขา โดยใช้เรียกเฉพาะภูเขาไฟ


จ๊ะเอ๋ขอถ่ายคู่กับภูเขาไฟมั่งค้าาา


และแล้วก็ได้เวลาพระอาทิตย์ทาบทอขอบฟ้า เป็นสัญลักษณ์ของเช้าวันใหม่ อรุณสวัสดิ์ครับทุกท่านจากโบรโม่ !


จ๊ะเอ๋สู้ตาย ชู 2 นิ้ว....วินาทีนี้ถือว่าสุดยอดมากๆครับ ไม่มีอะไรมาเทียบแล้ว 


นักท่องเที่ยวหลายเชื้อชาติ หลากหลายภาษายังไม่หยุดที่จะตกตะลึงกับความอลังการของภูเขาไฟที่ยังไม่ดับ 2 ลูกนี้


มามองทางฝั่งทิศตะวันออกบ้าง ทะเลหมอกดอยผาตั้งชัดๆ อิอิ 


พอแสงอาทิตย์แรงขึ้นเรื่อยๆ เราสามารถเก็บภาพโดยใช้ ISO 100 ได้ตามปกติ คราวนี้ชมกันเป็นชุดๆ ครับ


ซูมเข้าไปอีกนิด ด้านล่างปกคลุมด้วยหมอกสีขาวจากน้ำค้าง ส่วนด้านบนปกคลุมด้วยหมอกจากควันภูเขาไฟสีขุ่นๆ เทาๆ


โอ้....เห็นหมอกแล้วนึกว่าเกลียวคลื่น


ภูเขาไฟเซเมอรูกำลังปล่อยควันกำมะถันอยู่เนืองๆ ถ้าจับจังหวะการปล่อยควันไม่ผิด น่าจะประมาณทุกๆ 10 นาทีนะครับ


เขาว่ากันว่า ควันที่ออกจากภูเขาไฟเซเมอรู(Semeru) เปรียบได้ดั่งกับลมหายใจของเทพเจ้า!


ผมต้องเบียดเสียดขอแบ่งเนื้อที่เก็บภาพสวยๆ ชุดนี้กับนักท่องเที่ยวรายอื่นๆ


ณ ยามนี้ เราไม่สามารถมองเห็นแอ่งของภูเขาไฟโบรโม่เลย เนื่องจากถูกปกคลุมไปด้วยทะเลหมอกที่รายรอบ แต่ก็ยังเห็นควันสีขาวชัดเจนที่ลอยมาทางด้านซ้ายมือของภาพ ส่วนควันที่ออกมาจากภูเขาไฟเซเมอรูนั้นค่อนข้างจะมีสีขาวขุ่น ออกคล้ำๆ แต่จะลอยสูงกว่าควันที่ออกจากโบรโม่เยอะเลย


จ๊ะเอ๋กับวิวภาพฝันก่อนจะลาจากจุดชมวิวแห่งนี้ไป


ตรงรั้วที่เป็นไม้หรือบันได ทางการของที่นี่เขาจะทำสัญลักษณ์เป็นปูนอย่างที่เห็น เขียนข้อความว่า Bromo Tengger Semeru Taman Nasional เป็นชื่อของอุทยานแห่งชาติภูเขาไฟโบรโม่ นั่นเอง


พอเสร็จจากจุดชมวิว เราก็เดินลงมาที่รถเพื่อคอยคนที่มาด้วยให้ครบทุกท่านแล้วก้เดินทางลงเขาต่อไปที่ลานทะเลทรายดำ จุดที่เป็นแอ่งกระทะ มาถึงก็ต้องจอดรถเพื่อให้นักท่องเที่ยวเดินเท้าต่อเพื่อไปยังปากปล่องภูเขาไฟโบรโม่


เป็นการเฉลยแล้วนะครับ ว่ารั้วสีขาวๆที่เห็นตอนเย็นเมื่อวานนี้ตอนที่ทานบักโสคืออะไร นั่นคือรั้วกั้นเขาตให้จอดรถจี๊ปนั่นเอง รถจี๊ปที่มาจากเขา Penanjakan จะต้องจอดไม่เกินเขตรั้วนี้ ไปไกลกว่านี้ไม่ได้ ต้องให้นักท่องเที่ยวเดินไปเอง หรือไม่ก็เสียเงินขี่ม้าไปครับ


ณ จุดนี้ก็จะมีชาวบ้านมาคอยถามว่าจะขี่ม้าหรือเปล่า เราไม่เอาหรอก เดินไปดีกว่า ไม่อยากเสียเงินอีกแล้ว แต่นั่นคือการตัดสินใจที่น่าจะผิดนะ


เราต้องเดินบนทรายดำ เดินลำบากไม่ใช่เล่นๆเลยนะเนี่ย ด้านหน้าที่เห็นจะเป็นวัดของชาวฮินดูชื่อว่า Pura Luhur Poten (The Tenggerese Hindu Temple)



ฝุ่นจากทรายดำฟุ้งกระจายเยอะมาก ใครที่จะมาเที่ยว ให้นำผ้าปิดจมูก หรือหน้ากากกรองมาเลยก็จะดีครับ จะได้กันฝุ่นตรงนี้ เพราะไกลมากกว่าจะถึง แถมยังต้องเดินกลับอีกด้วย


เดินไปก็ต้องปิดจมูกไป เพราะฝุ่นเยอะมากๆ ไม่ว่าจะมาจากการเดินของคนเอง แล้วไหนจะมาจากการวิ่งของม้าอีก หายใจไม่ออกไปตามๆกันเลยทีเดียว ต้องพักแล้วพักอีก


เดินขึ้นมาได้ระยะหนึ่งเราก็หันกลับไป มองเห็นวัด Pura Luhur Poten แบบไม่ชัดนักเนื่องจากหมอก เออแฮะ...เดินมาไกลพอสมควรเลยนะนั่น


ใกล้จะถึงเข้ามาเรื่อยๆแล้วหล่ะ อดทนเดินกินฝุ่นกันสักแป๊บ


ณ บริเวณนี้ ม้าหมดหน้าที่ไปโดยปริยาย ใครที่ขี่ม้ามาต้องลงที่จุดนี้แล้วเดินเท้าต่อเพื่อขึ้นบันไดไปด้านบนปากปล่อง


จวนจะถึงจริงๆแล้ว บันไดไม่รู้กี่ขั้น แถมยังจะชันเข้าให้ด้วยสิ เอาน่า....เดี๋ยวก็ถึง กัดฟันสู้สู้


เดินยังไม่ถึงครึ่ีงทางเลย เหนื่อยซะแล้วเรา


เดินขึ้นมาด้านบนเกือบจะสุดแล้ว แต่ยังไม่ถึงอยู่ดี งั้นพักเหนื่อยพร้อมๆกับชมวิวผู้คนที่กำลังเดินขึ้นมากันไปพลางๆก่อน


พื้นผิวรอบๆภูเขาไฟบาต็อกเห็นแล้วแปลกตายิ่งนัก ทำไมมันมีลักษณะเป็นกลีบแบบนี้หล่ะเนี่ย


ขึ้นมาหันไปมองตรงนี้ เห็นเด็กผู้ชายเสื้อแดงมั้ยครับ?  มันกำลังยืนฉี่อยู่อ่ะ แย่จริงๆ แม่มันก็คนที่นั่งตรงกลางนี้นะ เป็นแม่ประสาอะไร ไม่ยอมเตือนลูก แต่ยังบอกให้ยืนฉี่ตรงนี้เลย มารยาทแย่มากๆ


อ้า....ในที่สุดก็ถึงปากปล่อง เหนื่อยแทบแย่.....เห็นควันพวยพุ่งออกมาจากด้านล่างกันแล้ว


มองลงไปข้างล่างอีกครั้ง สูงไม่ใช่เล่น เป็นจุดพักม้าครับ


ตรงด้านที่ติดกับบันไดจะมีรั้วกันไว้ไม่ให้คนพลัดตกลงไปในปากปล่อง ขนาดอย่างนี้ผมยังว่าน่าหวาดเสียวเลย เดินทีก็ต้องระวัง


มาดูฝั่งนี้บ้าง ไกลออกไปจากรั้วก็ยังมีนักท่องเที่ยวที่นิยมความท้าทายเดินออกไปตามขอบของปากปล่องภูเขาไฟ เดินไม่ดีอาจพลาดตกไปเป็นศพแบบนักท่องเที่ยวชาวสิงคโปร์เมื่อหลายปีก่อนนะครับ


แต่เราสองคนก็ระมัดระวัง ไม่เดินออกไปตรงจุดที่ไม่มีรั้วกั้นไว้ เวลาไปเที่ยวไหน โดยเฉพาะที่ที่เสี่ยง เราต้องระมัดระวังให้มากครับ พลาดไปแล้วมันไม่คุ้ม


สักพักก็ได้เวลาเดินกลับกันแล้วครับ ค่อยๆเดินลง เดี๋ยวจะหัวทิ่มเอา


เดินสวนกับน้องม้าตัวนี้ ดูขาวสะอาด น่ารักจัง เลยเก็บภาพไว้หน่อย


คืนสู่ทะเลทรายดำเพื่อเดินกลับไปยังรถจี๊ปอีกครั้ง ต้องผ่านวัดฮินดูวัดนี้ Pura Luhur Poten


ท้องฟ้าบริเวณนี้เต็มไปด้วยไอฝุ่นของทะเลทรายดำ กลับไปถึงโรงแรมต้องอาบน้ำชำระร่างกายกันยกใหญ่


แม้จะไม่ได้เช่าขี่ม้า แต่ก่อนจากลาขอชักรูปกับม้าตัวนี้ซะหน่อย อิอิ


รถจี๊ปพาเรากลับมายังโรงแรมแปดโมงกว่าๆ เข้าไปอาบน้ำชำระร่างกายกันก่อน(ฝุ่นทรายตามรองเท้าและเนื้อตัวเยอะมากๆ) แล้วหอบสัมภาระมาที่ร้านอาหารเพื่อจะมาเช็คเอ้าท์กันทีเดียว

อาหารเช้าเป็นข้าวผัดหรือ Nasi Goreng ที่ไม่มีเนื้อสัตว์ใดๆเลย กับกาแฟ 1 แก้ว


ก่อนจะกลับ ใครมาพักที่ Cemara Indah Hotel ก็ต้องถ่ายเก็บภาพนี้ไว้เนื่องจากเป็นสัญลักษณ์ของที่นี่ไปแล้ว รูปปั้นคนขี่ม้าหน้าโรงแรมนั่นเอง


ทานอาหารเช้าเสร็จ เราไม่รอช้ารีบนำข้าวของขนเข้ารถที่มาเตรียมรับเรา สภาพรถไม่คุ้มกับเงินที่เสียไปเลย จ่ายไป 600,000 Rp. หรือ 2,400 บาทแต่ดันได้รถอิซูซุเก่าๆแถมแอร์ยังไม่ค่อยจะเย็นอีกด้วย แต่ทำไงได้นั่งมาแล้วก็ต้องทนกันต่อไป ตอนแรกกะจะมานั่งหลับซะหน่อยแบบตอนขามา เลยไม่ได้หลับเลยเรา

ระหว่างทางเราก็ไม่รู้จะทำอะไรกับเวลา 3 ชม.ที่ต้องนั่งอยู่บนรถ ช่วงหลังๆเลยชวนคนขับและคนที่มาเป็นเพื่อนสลับกันขับคุยเกี่ยวกับภาษาอินโดกัน ได้ศัพท์ไปหลายตัวทีเดียว


ไม่นานรถก็แล่นมาส่งที่สนามบินสุราบายาเกือบๆเที่ยงครึ่ง ทำเวลาได้ดีทีเดียว เพราะไฟล์ทของเราที่จะบินไปกัวลาลัมเปอร์ออกบ่ายสามโมงเย็น มีเวลาอีก 2.5 ชั่วโมง


สนามบินสุราบายาเป็นสนามบินที่ใหญ่และใหม่ เพราะเพิ่งเปิดมาได้เพียงปีกว่าๆ เราไปเช็คอินเสร็จก็กลับมานั่งหาอะไรทานกัน แว้บๆเห็นร้านโรตีบอย ไม่รอช้าเลยเข้าไปสั่งทานกัน


ปรากฎว่าอร่อยมาก(ผมไม่เคยกินมาก่อน) สมกับสโลแกนของเขาเลยว่า One is never enough ผมเลยเบิ้ลอันที่สอง 555


แอร์เอเชียไฟล์ทนี้ตรงครับ ไม่ดีเลย์ แล้วเราก็ต้องจากลาเมืองสุราบายา ประเทศอินโดนีเซียไว้เพียงเท่านี้ แล้วเราจะกลับมาใหม่ถ้ามีโอกาส เพราะยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอีกหลายๆอย่างที่น่าไปเยี่ยมชม

ฝากลวดลายของศิลปะชาวอินโดฯของสนามบินสุราบายาไว้ เพื่อมุ่งหน้าอีกสองชั่วโมงกว่าสู่กัวลาลัมเปอร์ต่อไป


พอมาถึงสนามบิน LCCT, KLIA ของกัวลาฯ มาเลเซีย ด้วยความที่ต้องรอไฟล์ทไปสุวรรณภูมิถึง 4 ชั่วโมงด้วยกัน ดังนั้นจึงเป็นการดีที่จะนั่งรถบัสจาก LCCT ไปที่ KLIA เทอร์มินัลหลัก เพื่อไปเดินเล่นและหาอะไรทานกัน ราคาตั๋วรถบัสระหว่างเทอร์มินัล คนละ 1.5 RM ซื้อบนรถได้เลย ใช้เวลาเดินทางระหว่างเทอร์มินัล 15-20 นาที


มาถึง KLIA สนามบินนี้โล่งไปพอสมควรเลยตั้งแต่แยกแอร์เอเชียไปอยู่เทอร์มินัลใหม่ โหวงเหวงดีจริงๆ เราเดินเล่นและหาอะไรทาน ก็เบอร์เกอร์คิงไงครับ ทานเสร็จก็นั่งรถกลับมายังที่ LCCT ตามเดิม แล้วเตรียมตัวบอร์ดดิ้งขึ้นเครื่องกลับประเทศไทยต่อไป


ก็เป็นอันว่าจบทริปหฤหรรย์ 4 วันในอินโดฯ ด้วยความคุ้มค่าสุดๆตรงที่ได้ไปสถานที่สำคัญๆถึง 2 สถานที่ด้วยกันในทริปเดียวด้วยระยะเวลาเพียง 4 วันเท่านั้นคือ บุโรพุทโธ และภูเขาไฟโบรโม่นั่นเอง

ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามชมการเดินทางของผมมาตลอดนะครับ ฝากรูปสนามบิน KLIA ไว้ แล้วเจอกันใหม่ครับ สวัสดี

==========
ขอขอบคุณเพื่อนๆในเว็บ TKT และ BP ทุกๆท่าน โดยเฉพาะ
คุณหนุ่มเมืองกรุง 
พี่แกงส้มกุ้ง
คุณอรพิน
และท่านอื่นๆที่ไม่ได้เอยนาม

ถ้ามีเวลาจะมาสรุปค่าใช้จ่ายครับ
1.ค่าเครื่องบิน
2.ค่ารถไฟ
3.ค่ารถโดยสาร
4.xx

เห็นว่าบทความนี้น่าสนใจ รบกวนกดแชร์ด้วยครับ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น