วันเสาร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2557

เยือนมัณฑะเลย์ ราชธานีสุดท้ายของพม่า ตอน 2 มีบุญได้ชมพิธีล้างพระพักตร์พระมหามัยมุนี เมืองมัณฑะเลย์ พม่า


วันนี้เป็นวันที่สองในมัณฑะเลย์ ตามโปรแกรมเรา วันนี้เป็นวันเที่ยวเต็มวัน เช้ามืดไปชมพิธีล้างหน้าพระมหามัยมุนี หรือล้างพระพักตร์นั่นเอง เสร็จพิธีแล้วกลับมาที่โรงแรมเพื่อทานอาหารเช้า และไปต่อ โดยจะไปมิงกุนก่อน(ผ่านเมืองสกายน์) ไปโดยทางรถยนต์นี่แหล่ะ หลังจากนั้นก็ย้อนทางเดิมไปเที่ยวเมืองสกายน์(สกาย) วัดบนเนินเขา เก็บวัดดังๆจบครบแล้วไปต่อที่เมืองอังวะ คราวนี้ต้องใช้เรือข้ามไป เที่ยววัด 4-5 วัดจนหมด สุดท้ายกลับมาที่เมืองอะมะราปุระ(อมรปุระ) แวะวัดมหากันดายน แล้วไปเก็บพระอาทิตย์ตกดินที่สะพานอูเบ็งครับ เรียกได้ว่าโปรแกรมแน่นพอดีๆเลย


แผนที่เส้นทางและสถานที่ที่เราจะไปเที่ยวกันในวันที่ 2 นี้เต็มวันครับ เริ่มจากโรงแรมที่พัก(หมายเลข 1) และไล่ไปเรื่อยๆ จนถึงสะพานไม้อูเบ็ง(หมายเลข 9) คลิกรูปเพื่อดูภาพขยายใหญ่


วันเสาร์ที่ 7 มิถุนายน 2557
เราตื่นนอนกันเช้ามืด ตั้งนาฬิกาปลุก ตี 3 เพื่อจะออกไปรอรถที่ล๊อบบี้โรงแรมเวลาตี 3 ครึ่ง ตามที่นัดรถไว้เมื่อวานนี้ เผื่อเวลาไว้ครึ่งชั่วโมงในการเดินทางไปยังวัดมหามุนี เพราะพิธีจะเริ่มตอนตี 4 ตรง สุดท้ายน้งน้ำไม่ได้อาบครับ แปรงฟันอย่างเดียว กลัวเสียเวลา

รถพาเรามาถึงยังทางเดินเข้าไปวัดมหามุนี เมื่อเวลา 3.40 น. ยังไม่ถึงตี 4 เลย


สิ่งที่ซื้อจากแม่ค้าหน้าทางเข้าคือ ดอกไม้และพวงดอกพิกุล รวมแล้วราคา 2,000 แจ๊ด และสิ่งหนึ่งที่นำมาจากเมืองไทยเรานั่นคือ ทองคำเปลวไว้ปิดทององค์พระมหามัยมุนีและผ้าขนหนูที่ไว้เช็ดหน้าพระมหามัยมุนี 2 อย่างนี้แฟนเป็นคนหาซื้อและนำมาด้วยตัวเอง :)

เดินตามทางเดินด้านหลังนี้ไปเรื่อย องค์พระมหามัยมุนีอยู่ด้านหลังไกลๆสีเหลืองโน่นนะครับ


พอมาถึง เอ๊ะ....ดูเหมือนพิธีจะเริ่มแล้วนะเนี่ย ผมยังงงๆอยู่เลยว่ายังไม่ถึงตี 4 แต่พิธีเริ่มแล้ว มีเสียงปี่พาทย์พร้อมกับบทร้องจากพุทธศาสนิกชนเป็นทำนองเพลงขับกล่อม เสียงร้องมาจากเสียงชาวพม่าที่เป็นผู้หญิง ผมกับแฟนต้องแยกจากกันชั่วคราว เพราะผู้หญิงจะเข้าไปใกล้ไม่ได้ ผมไม่รอช้ารีบเดินอ้าวไปข้างหน้า เห็นเนื้อที่ด้านหน้าสุดที่มีเหล็กกั้นเหลือที่ว่างพอจะนั่งได้ 1 คน จึงไม่รีรอที่จะยึดที่นั่งนั้นเป็นของผมในบัดดล แม้ตำแหน่งที่นั่งนั้นจะไม่ได้อยู่ตรงกลางก็ตาม ยังนึกเจ็บใจตัวเองเลยด้วยซ้ำว่าขนาดคิดว่ามาเช้าแล้ว ยังจะเลือกที่นั่งไม่ได้อีกนะ

พระสงฆ์ที่เห็นนั่งตรงด้านหน้าผมหลายรูปคือพระสงฆ์จากประเทศไทยเราเองครับ ได้เจอกันทั้งที่วัดชเวนันดอว์, วัดกุโสดอว์ และเช้ามืดวันนี้ที่วัดนี้ วัดมหามัยมุนี

พิธีการได้เริ่มจากการที่เจ้าหน้าที่ได้นำแผ่นไม้หรือเหล็กก็ไม่ทราบได้ แผ่นยาวๆ ทำเหมือนทางเดินให้พระท่านเตรียมเพื่อทำพิธีล้างพระพักตร์พระมหามัยมุนีนั่นเอง


แต่ด้วยความโชคดี หรือบุญที่ทำมาก็ไม่อาจรู้ได้ นั่งถ่ายรูปไปได้ 15 นาที คนชาวพม่าที่นั่งตรงตำแหน่งกลางก็ได้ลุกออกไป ทำให้ผมได้ขยับเลื่อนไปตรงกลางแทนที่ได้อย่างลงตัว คราวนี้ได้ตำแหน่งตรงกลางอย่างที่ตั้งใจไว้จริงๆครับ

กลับมาที่พิธีการต่อ ขณะนี้ก็เป็นการเริ่มคลี่ผ้าสีเหลืองกันแล้ว คงนำมารองหน้าอกเพื่อกันน้ำจากการล้างพระพักตร์ไม่ให้โดนเนื้อทองคำที่ห้อยอยู่


หลวงพ่อที่ทำพิธีเดินเข้ามาและเริ่มด้วยการพนมมือไหว้ไปที่องค์พระมหามัยมุนีครับ

พระมหามัยมุนี 1 ใน 5 มหาบูชาสถานสูงสุดของประเทศพม่า
ตามตำนานเล่าว่า พระเจ้าจันทสุริยะ กษัตริย์ของชาวยะไข่แห่งเมืองธัญญวดี (ปัจจุบันอยู่ในรัฐยะไข่ ทางด้านตะวันตกของพม่าติดกับบังคลาเทศ) โปรดฯให้สร้างพระมหามัยมุนี ซึ่งแปลว่า “มหาปราชญ์” ขึ้นในปี พ.ศ.689 หรือเกือบสองพันปีมาแล้ว เหตุเพราะพระพุทธเจ้าเสด็จมาเข้าพระสุบินประทานพรแก่พระเจ้าจันทสุริยะ ให้สร้างพระพุทธรูปองค์นี้ขึ้นเพื่อเชิดชูพุทธศาสนาให้รุ่งเรือง แต่เนื่องจากว่ามีขนาดใหญ่จึงต้องหล่อแยกเป็นชิ้นแล้วจึงนำมาประสานกันได้สนิทจนไม่เห็นรอยต่อเป็นที่น่าอัศจรรย์ เชื่อกันว่าเป็นด้วยพรของพระศาสดาประทานไว้ เครดิต : Oceansmile.com


นำผ้าสีเหลืองที่คลี่ออกแล้ว มาคลุมลงที่หน้าอกขององค์พระมหามัยมุนี จนเห็นเพียงพระพักตร์และพระเศียรกับชฎาที่สวมไว้

ความงดงามและความศักดิ์สิทธิ์ของพระมหามุนีเลื่องลือไปไกล จึงเป็นที่หมายปองของกษัตริย์พม่านับตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโนรธาแห่งอาณาจักรพุกาม บุเรงนองมหาราชแห่งหงสาวดี และอลองพญามหาราชแห่งรัตนปุระอังวะ ล้วนเพียรพยายามยกทัพไปชะลอพระพุทธรูปองค์นี้มาประดิษฐานเพื่อเป็นศิริมงคลแห่งดินแดนพม่าทุกยุคทุกสมัย แต่ต้องล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า เพราะความทุรกันดารของเส้นทางที่เต็มไปด้วยแม่น้ำและภูเขาสูง
จนกระทั่งประสบความสำเร็จในสมัยพระเจ้าปดุง ก็สามารถนำเอาพระมหามุนีมาไว้ที่กรุงมัณฑะเลย์เมื่อปี พ.ศ.2327 ในปัจจุบันชาวพม่ายังเรียกพระมหามุนีอีกชื่อหนึ่งว่า “พระยะไข่


หลวงพ่อได้ฤกษ์พรมน้ำเพื่อทำความสะอาดที่พระพักตร์จนทั่ว

ด้วยเหตุแห่งความศรัทธาว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีชีวิต จึงเป็นที่มาของธรรมเนียมการล้างพระพักตร์ให้องค์พระทุกๆรุ่งสาง เหมือนดั่งคนที่ต้องล้างหน้าแปรงฟันทุกเช้า โดยมีหลวงพ่อทำหน้าที่ล้างพระพักตร์พระมหามัยมุนีทุกวันตั้งแต่ราวตี 4 โดยเริ่มจากประพรมพระพักตร์ด้วยน้ำผสมเครื่องหอมทำจากเปลือกไม้ “ตะนะคา” ซึ่งชาวบ้านนำมาบริจาคให้วัดทุกวัน


จากนั้น ก็ใช้แปรงขนาดใหญ่ขัดสีบริเวณพระโอษฐ์ดั่งการแปรงฟัน โดยเจ้าหน้าที่จะนำพานมารองน้ำที่ไหลลงมาจากการทำความสะอาดนี้


ซึ่งมองกันชัดๆจะเป็นแบบนี้ ใช้แปรงขนาดใหญ่ขัดสีบริเวณพระโอษฐ์ ของพระมหามัยมุนี (ล้างพระพักตร์พระมหามัยมุนี)


แล้วใช้ผ้าชุบเครื่องหอมลูบไล้จนทั่วทั้งพระพักตร์ของพระมหามัยมุนี (ล้างพระพักตร์พระมหามัยมุนี)


ซูมเอาท์ออกมาดูภาพมุมกว้างบ้างครับ เราจะสังเกตเห็นเจ้าหน้าที่เริ่มนำผ้าจากพุทธศาสนิกชนมาวางเตรียมไว้แล้ว


มาถึงขั้นตอนสุดท้ายกันแล้ว คือการใช้ผ้าขนหนูเช็ดพระพักตร์ให้แห้งและทำความสะอาดให้เนื้อทองที่พระพัตร์นั้นเปล่งประกายเป็นเงางามวาววับสะท้อนแสงอย่างที่เราได้เห็นกัน ผ้าขนหนูหนึ่งในนั้นเป็นผ้าขนหนูของเราเองที่เตรียมไปจากเมืองไทย


เสร็จพิธีแล้วก็เอาผ้าสีเหลืองที่คลุมหน้าอกองค์ท่านออก เหลือแต่เครื่องทรงตามปกติ หลวงพ่อที่ทำพิธีก็ได้พนมมือไหว้อำลาพระมหามัยมุนี เป็นอันเสร็จพิธีการ


เจ้าหน้าที่ก็ใช้พัดโบกยังพระพักตร์เพื่อไล่น้ำและความชื้นต่างๆ ที่หลงเหลืออยู่ให้ระเหยออกไปจนแห้งหมดจรด 100% พระพักตร์จะได้สีทองสดใสเหมือนดังเดิม

และผมได้ถ่ายคลิปวิดีโอหลายช็อตมาใส่ไว้ตั้งแต่เริ่มพิธีจนถึงสิ้นสุดพิธี ลองชมกันครับ




คราวนี้ได้เวลาสุภาพบุรุษอย่างเราๆได้ขึ้นไปปิดทองกันแล้วครับ ผมลุกจากที่นั่งซึ่งนั่งอยู่ตรงนี้เกือบ 1 ชั่วโมงครึ่ง แล้วเดินไปหาแฟนเพื่อจะขอทองคำเปลวที่เอามาจากเมืองไทย แล้วเดินไปปิดขององค์พระมหามัยมุนี มีชาวพม่าที่ศรัทธาขึ้นไปก่อนเต็มรอบองค์เลยครับ


ได้ขึ้นไปปิดทองหลังพระมหามัยมุนีแล้ว เนื้อพระองค์จะนิ่มๆและเหนียวๆเหมือนคล้ายๆการลงรักเพื่อปิดทองนะครับ เวลาปิดแผ่นทองจะได้อยู่ ไม่ปลิวไปที่อื่น ซึ่งปิดอยู่จริงๆ เพราะมีรักอยู่ ไม่เหมือนเวลาปิดทององค์พระในไทยเรา เวลาปิดจะไม่อยู่หรอก เพราะไม่มีตัวประสานที่จะทำให้ติดเลย แห้งๆ ปิดทีโดนลมก็ปลิวไปไหนต่อไหนแล้วครับ อันนี้เลยที่ต่างกัน ส่วนมือที่เห็นไม่ใช้มือผมนะครับ เป็นมือคนอื่นชาวพม่า


ภาพใกล้ๆด้านหน้าครับ


ส่วนที่เห็นคนที่ 2 จากขวามือ ผมเองครับ ให้แฟนถ่ายรูปให้


รู้สึกมีบุญที่ได้มากราบไหว้, ชมพิธีล้างพระพักตร์, ปิดทอง พระมหามัยมุนี ถึงเมืองมัณฑะเลย์ด้วยตัวเอง และผ้าขนหนูที่เตรียมมาก็ได้รับกลับคืนมาแล้วนำแจกให้ญาติและไปบูชาเองที่บ้านครับ

ก็เป็นอันว่า บัดนี้เราสองได้บรรลุจุดมุ่งหมายที่ได้เคยตั้งไว้คือ สักการะ 5 มหาบูชาสถานสูงสุดของพม่า ได้ครบเรียบร้อยแล้ว ซึ่งทำให้เรารู้สึกอิ่มเอิบมากๆ ดีใจที่มีบุญได้ทำในสิ่งที่พุทธศาสนิกชนหลายคนที่ตั้งใจไว้


เสร็จจากชมพิธีก็ออกมาด้านนอกบ้าง ชมวิวมณฑปของวัดนี้ ตอนมายังมืดอยู่ตอนนี้แสงมาแล้ว


ไม่แน่ใจว่ารูปปั้นคนสำคัญคนไหนของชาวพม่า ไม่มีภาษาอังกฤษซะด้วย


ส่วนอันนี้เป็นรูปถ่ายองค์พระมหามัยมุนี จากดั้งเดิม ปี 1901 --> 1935


และปี 1984 , 2010 จะเห็นการเปลี่ยนแปลงขององค์พระมหามัยมุนีจากดั้งเดิมจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีรูปร่างที่หนาขึ้นจากการปิดทองพอกขึ้นเรื่อยๆนั่นเอง


เดิมเล่นบริเวณรอบๆครับ เห็นรังนกนางแอ่นอยู่ด้านบนของเพดาน นกนางแอ่นกำลังบินออกหากินกันเลย


ตรงช่องนี้เป็นด้านข้างพระมหามัยมุนีทางด้านขวามือ สามารถชมพระองค์ด้านข้างได้จากช่องนี้ หรือจะเดินเข้าไปปิดทองก็ได้สำหรับผู้ชาย


ระฆังที่อยู่ในวัดมหามุนี เดี๋ยวเราจะได้ไปชมระฆังที่ใหญ่ที่สุดของจริงที่มิงกุนในช่วงต่อไป


บริเวณทางเดินของวัด


ไปมองแว๊บๆ อะไรหว่า เห็นคนพม่ามุงกัน อ๋อ...หมากนั่นเอง


จะเดินออกจากวัดมหามุนีแล้วครับ ตรงนี้จะเป็นจุดพื้นที่ให้เหล่าอุบาสิกา หรือผู้หญิงนั่งบริเวณนี้นั่นเอง เพราะไม่อนุญาตให้เข้าไปใกล้องค์พระ แต่จะมีกล้องวงจรปิดถ่ายองค์พระมหามัยมุนีให้ชมอยู่


กลับมาถึงโรงแรมก็ขึ้นไปชั้น 6 ชั้นดาดฟ้า ไปหาอาหารเช้าทานกัน อาหารเป็นแบบบุฟเฟต์ แต่จะบอกว่าเป็นบุฟเฟต์คุณภาพนะครับ อันนี้ยอมรับเลย


จะทานไข่แบบไหนก็ไปสั่งคนทำที่คอยทำตามที่เราสั่งแบบสดๆ ร้อนๆ เลย น้ำผลไม้จะมีน้ำส้มกับน้ำแตงโมปั่นแบบไม่ใส่น้ำหวาน ได้น้ำผลไม้ 100% อาหารก็มีให้เลือกทั้งเบคอนทอด ไส้กรอก ข้าวผัด หมี่ผัด อาหารพื้นเมืองของพม่า ขนมปังปิ้ง แยม ฯลฯ


ทานอาหารเช้าเสร็จ กลับไปอาบน้ำอาบท่า เดินทางต่อเวลา 8 โมงตรง ตอนเช้าจะเห็นสี่แยกที่เมื่อวานเรามาทานอาหารเย็นบัดนี้เป็นตลาดสดมีขายของกันไม่ว่าจะเป็นไก่สด ปลาสด ไข่ ฯลฯ


รถแวะให้เราไปเยี่ยมชมสถานที่ทำทองคำเปลวเพื่อนำมาปิดทองนั่นเอง จะเห็นช่างกำลังตีทองให้เป็นแผ่นๆ จนบางที่สุดแล้วนำไปขายต่อไป


ระหว่างรถติดไฟแดง เห็นคนพม่ากำลังง่วนกับการจัดใบพลูเพื่อไปขายโดยจะเอามาใส่กับหมาก


รถแล่นออกนอกตัวเมืองมัณฑะเลย์ใช้เวลาเกือบ 40 นาทีได้ ก็มาถึงสะพานข้ามแม่น้ำอิรวดี แม่น้ำใหญ่ที่หล่อเลี้ยงผู้คนเมืองมัณฑะเลย์และเมืองใกล้เคียง คนรถแวะจอดให้เราได้ถ่ายรูปสักพัก สะพานนี้เป็นสะพานใหม่ โดยจะมีสะพานเก่าที่ให้รถไฟแล่นผ่านด้วยอยู่ข้างๆ ขนานกัน


ข้ามสะพานไปฝั่งแม่น้ำอีกฝั่งหนึ่งก็เป็นเมืองสกายน์แล้ว จะเห็นยอดเจดีย์เต็มไปหมด อีกจุดที่เราจะได้แวะไป แต่เราจะไปเมืองมิงกุนกันก่อน ซึ่งต้องขับเลยไปตามฝั่งของแม่น้ำอิรวดีนี้ (ไปมิงกุนสามารถได้ได้ 2 ทางคือทางเรือขึ้นที่ท่าเรือมัณฑะเลย์ล่องเหนือไปตามแม่น้ำอิรวดีใช้เวลา 45- 60 นาที และไปทางบกคือเส้นทางนี้ซึ่งจะเร็วกว่าทางเรือสะดวกไม่ต้องรอเวลาเรือจะไปจะกลับ)


สภาพถนนจากสกายน์ไปมิงกุนจะแคบๆ บางช่วงก็เป็นทางดิน แต่ได้บรรยากาศย้อนยุคได้ดีทีเดียว


จากสกายน์ไปมิงกุนใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมงบนถนน เราก็มาถึงชินพิวมิน (Mya Thein Dan Pagoda, Hsin Phyu Shin Ceti) (ที่นี่จะอยู่ไกลสุดถ้ามาจากสกายน์ แล้วค่อยย้อนกลับมา) หรือบางคนจะเรียกว่าทัชมาฮาลแห่งพม่า 555


เจดีย์ชินพิวมิน (เมียะเต็งดาน) ประดิษฐานอยู่เหนือระฆังมิงกุนไม่ไกล ได้ชื่อว่าเป็นเจดีย์ที่สวยสง่ามากแห่งหนึ่ง สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2359 โดยพระเจ้าบากะยีดอว์ พระราชนัดดาในพระเจ้าปดุง เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความรักที่พระองค์มีต่อพระมหาเทวีชินพิวมิน ซึ่งถึงแก่พิราลัยก่อนเวลาอันควร จึงได้รับสมญานามว่า “ทัชมาฮาลแห่งลุ่มอิรวดี” เจดีย์องค์นี้เป็นพุทธศิลป์ที่สร้างขึ้นด้วยหลักภูมิจักรวาลคือมีองค์เจดีย์สถิตอยู่ตรงกลาง ณ ยอดเขาพระสุเมรุ อันเชื่อกันว่าเป็นศูนย์กลางและโลกและจักรวาล ล้อมรอบด้วยขุนเขาและมหาสมุทรตามหลักไตรภูมิ เครดิต : Oceansmile.com


ขึ้นไปสเต๊ปแรกของเจดีย์ชินพิวมินแล้วยิ่งใหญ่สวยงามจริงๆ ดีที่เวลานี้ฟ้าเป็นใจ


ขึ้นไปอีกสเต๊ปกันค่ะ


ด้านบนก็จะพบกับพระพุทธรูปประธานของเจดีย์นี้ ที่นี่เขาจะไม่จุดธูปนะครับ แค่วางธูปไว้เท่านั้น


วิวที่มองออกไปรอบๆ ธรรมชาติจริงๆ ครับ


มีหมู่บ้านเล็กๆ อยู่ใต้ต้นตาลด้วย น่าอยู่มากๆเลย รอบล้อมไปด้วยต้นไม้


ทางเดินด้านบนเป็นวงกลมรอบๆ


เดินลงมาเก็บอีก 1 มุมด้านข้างของเจดีย์ชินพิวมิน


แล้วก็ย้อนกลับไปทางเดิม จะเป็นระฆังมิงกุนระฆังที่เคลมว่า ณ ปัจจุบันใหญ่ที่สุดในโลกที่ยังคงใช้งานได้


รู้สึกหวาดเสียวที่ต้องเข้าไปข้างใน ถ้าตกลงมาครอบเราจะออกยังไงเนี่ย??

ระฆังมิงกุน พระเจ้าปดุงโปรดฯให้สร้างโดยสำเร็จ เพื่ออุทิศทวายแด่มหาเจดีย์มิงกุน จึงต้องมีขนาดใหญ่คู่ควรกัน คือเป็นระฆังยักษ์ที่มีเส้นรอบวงถึง 10 เมตร สูง 3.70 เมตร น้ำหนัก 87 ตัน เล่าขานกันว่า พระเจ้าปดุงทรงไม่ต้องการให้มีใครสร้างระฆังเลียนแบบ จึงรับสั่งให้ประหารชีวิตนายช่างทันทีที่สร้างเสร็จ ปัจจุบันถือเป็นระฆังยักษ์ที่มีขนาดเล็กกว่าระฆังแห่งพระราชวังเครมลินในกรุงมอสโกเพียงใบเดียวทว่าระฆังเครมลินแตกร้าวไปแล้ว ชาวพม่าจึงภาคภูมิใจว่าระฆังมิงกุนเป็นระฆังยักษ์ที่ยังคงส่งเสียงก้องกังวาน ทั้งนี้เคยมีการทดสอบความกว้างใหญ่ของระฆังใบนี้ โดยให้เด็กตัวเล็กๆไปยืนรวมกันอยู่ใต้ระฆังได้ถึง 100 คน


มาที่ระฆังก็ต้องตีระฆังนะคะ เสียงดังกังวานดีจัง


ด้านบนยอดระฆังจะเป็นรูปสิงห์ครับ มีอยู่ 2 ตัวตรงข้ามกัน


ตรงนี้เป็นด้านข้างของศาลาที่เก็บระฆังไว้ สังเกตเห็นกรงเหล็กสีฟ้าทำเพื่อกันคนไปขโมยระฆังหรืออย่างไร


บริเวณข้างๆ ศาลาเก็บระฆัง จะพบต้นไม้ขนาดใหญ่แผ่กิ่งก้านสาขาสวยงามทีเดียว ผมชอบที่พม่าเขาอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ๆไว้ตลอด ไม่ว่าจะเป็นต้นพิกุลขนาดใหญ่อายุ 121 ปีที่วัดกุโสดอว์ หรืออื่นๆ เขาจะเก็บไว้หมด ไม่ตัดทำลายมัน


ฮั่นแน่....พบกิ้งก่าสีฟ้าชูคออยู่ ถ่ายมากมันก็ขยับหนีไปเรื่อย


แล้วก็ย้อนมาที่เจดีย์มิงกุน ตรงนี้เป็นทางขึ้นจากแม่น้ำถ้ามาโดยเรือจะพบกับซากสิงห์คู่ที่หัวสิงห์หายไป


และมาที่ซากเจดีย์มิงกุนขนาดใหญ่ที่สร้างไม่เสร็จ
ร่องรอยแห่งความทะเยอทะยานของพระเจ้าปดุง ด้วยภายหลังทรงเคลื่อนทัพไปตียะไข่ แล้วสามารถชะลอพระมหามัยมุนีมาประดิษฐานที่มัณฑะเลย์เป็นผลสำเร็จ จึงทรงฮึกเหิมที่จะกระทำการใหญ่ขึ้นและยากขึ้น ด้วยการทำสงครามแผ่ขยายไปรอบด้าน พร้อมกับเกณฑ์แรงงานข้าทาสจำนวนมากก่อสร้างเจดีย์มิงกุนหรือเจดีย์จักรพรรดิ เพื่อประดิษฐานพระทันตธาตุที่ได้จากพระเจ้ากรุงจีนโดยทรงมุ่งหวังให้ยิ่งใหญ่เทียบเท่ามหาเจดีย์ในสมัยพุกาม และใหญ่โตโอฬารยิ่งกว่าพระปฐมเจดีย์ในสยาม ซึ่งในเวลานั้นถือเป็นเจดีย์ที่สูงที่สุดในสุวรรณภูมิ ส่งผลให้ข้าทาสชาวยะไข่หรืออาระกันจำนวน 50,000 คนหลบหนีการขดขี่แรงงานไปอยู่ในเขตเบงกอล เป็นดินแดนในอาณัติของอังกฤษ แล้วทำการซ่องสุมกำลังเป็นกองโจร ลอบโจมตีกองทัพพม่าอยู่เนืองๆโดยพม่ากล่าวหาว่าอังกฤษหนุนหลังกลายเป็นฉนวนให้เกิดสงครามอังกฤษ-พม่า อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พม่าเสียเมืองในที่สุด

อย่างไรก็ตาม งานก่อสร้างเจดีย์มิงกุนดำเนินไปได้เพียง 7 ปี พระเจ้าปดุงเสด็จสวรรคต ภายหลังทรงพ่ายแพ้ไทยในสงครามเก้าทัพ มหาเจดีย์อันยิ่งใหญ่ในพระราชหฤทัยของพระองค์จึงปรากฏเพียงแค่ฐาน ทว่าใหญ่โตมหึมาดั่งภูเขาอิฐที่มีความมั่นคงถึง 50 เมตร ซึ่งหากสร้างเสร็จตามแผนจะเป็นเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดและสูงที่สุดในโลก เพราะสูงถึง 152 เมตร ส่วนรอยแตกร้าวตรงกลางฐานเกิดจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในปี พ.ศ.2381 เครดิต : Oceansmile.com



หลังจากเสร็จสิ้นที่มิงกุนแล้ว เราก็ย้อนกลับทางเดิมที่มา โดยขึ้นไปวัดที่อยู่บนเขาสกายน์ มีชื่อว่า OoHminThoneSel Pagoda ขึ้นเนินเขาไม่ไกลและถึงก่อน แต่ลงจากรถแล้วต้องเดินเท้าขึ้นไปตามบันได้อีกประมาณ 5-10 นาทีได้


ไหว้พระเสร็จก็ชมวิวทิวทัศน์เขาสกายน์ มีเจดีย์สีทองเต็มไปหมดเลยครับ


เจดีย์ที่อยู่ใกล้ๆทรงกลมๆ มีชื่อว่าอะไรน้าาา


เจดีย์กลมๆ คล้ายนมสาวที่เห็นไกลๆ น่าจะเป็นเจดีย์กวงมุดอว์แน่เลย


เราแวะพักที่วัดนี้นานพอควรเพราะร้อนมากๆ ตรงนี้ได้ลมพัดมาอยู่ตลอด เสียดายไอติมไม่มีคนขาย ไม่งั้นจะลองอุดหนุนดูซะหน่อย


เจ้านกมาเกาะพักเอาแรงตรงยอดเจดีย์


ลงมาชั้นล่าง พระพุทธรูปโค้งเรียงรายเต็มไปหมด


ลงมาก่อนที่จะขึ้นรถเพื่อไปต่อ เราแวะทานน้ำอ้อยกันก่อนครับ ร้อนมากๆเลย ค่าน้ำอ้อย 500 แจ๊ด


แล้วก็ขึ้นเขาไปต่อที่นี่ เจดีย์ซุนโอปงงาชิน(Soon U Ponya Shin Pagoda) กราบพระประธาน  ด้านข้างๆพระประธานก็จะมีรูปปั้นสีทองเป็นรูปกระต่ายอยู่ด้านขวามือ และกบหรือคางคกอยู่ด้านซ้ายมือ ไม่ทราบว่ามีความหมายอย่างไร



ตรงกลางเป็นเจดีย์สีทอง


ด้านนี้เป็นลานโล่งมองเห็นวิวแม่น้ำอิรวดี


วิวทางเดินทอดยาวเพื่อขึ้นไปยังเจดีย์ที่อยู่ทางด้านขวามือ


แอบส่องเจดีย์ที่อยู่ติดแม่น้ำอิรวดี


บนนี้มองเห็นวิว 360 องศาก็ว่าได้ มุมนี้เป็นวิวสะพานข้ามแม่น้ำอิรวดีทั้ง 2 สะพานที่เราข้ามกันมาเมื่อสาย สะพานที่อยู่ใกล้เราจะเป็นสะพานใหม่ ส่วนสะพานที่อยู่ไกลออกไปจะเป็นสะพานเก่าใช้เป็นสะพานข้ามของรถไฟด้วย


เจดีย์ที่เราเห็นนี้จะเป็นโรงเรียนสอนพุทธศาสนาซึ่งเราจะผ่านเมื่อตอนลงไปข้างล่าง


อีกวิวหนึ่งครับ


พระพุทธรูปองค์นี้ทำหน้าแหงนๆ ยังไงไม่รู้ครับ ต้องเก็บภาพไว้


เราลงมาจากเขาสกายน์เพื่อไปที่เจดีย์กวงมุดอว์ ซึ่งอยู่ไกลออกไปประมาณ 8 กม.(คนขับบอก สงสัยกะว่าเราจะเห็นว่าไกลเลยไม่ไป) แต่แวะถ่ายรูปทางเข้าโรงเรียนสอนพุทธศาสนาจากที่ดูด้านบนก่อนครับ


ถึงแล้วเจดีย์กวงมุดอว์/กวงมุดอร์(Kaungmudaw Pagoda) หรือวัดเจดีย์นมสาว สร้างโดยพระเจ้าต้าหลู่ เมื่อปี ค.ศ. 1636 เพื่อใช้เป็นที่ประดิษฐานพระเขี้ยวแก้วหรือพระทันตธาตุที่ได้มาจากลังกา เจดีย์นี้เป็นเจดีย์ทรงโอคว่ำแบบสิงหล หรือเจดีย์ทรงลังกา มีตำนานเล่าว่าองค์ระฆังทรงกลมผ่าครึ่งซีกนี้ ได้ต้นแบบมาจากถัน พระชายาคนโปรดของพระเจ้าต้าหลู่ องค์เจดีย์มีความสูง 46 เมตร เส้นรอบวงวัดได้ 274 เมตร

ก่อนหน้านี้จะทาสีขาวที่ตัวองค์เจดีย์ แต่ปัจจุบันจะเปลี่ยนเป็นทาสีทองแทน ซึ่งทำให้คนที่ไปอาจจะสับสนได้ว่าใช่เจดีย์กวงมูดอว์หรือไม่ 

(อ่านต่อได้ที่หน้าถัดไปครับ ตอน 2.5)


เห็นว่าบทความนี้น่าสนใจ รบกวนกดแชร์ด้วยครับ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น