[ตอน 1] [ตอน 2] [ตอน 2.5]
เรามาต่อจากช่วงเช้าตอนที่แล้วนะครับ
ตอนนี้จะเป็นภาคบ่ายของทริปมัณฑะเลย์วันที่สอง เราจะไปอังวะและกลับมาวัดมหากันดายน โดยก่อนถึงวัดนี้จะแวะอีกวัดหนึ่งครับ แล้วไปจบที่สะพานไม้อูเบ็ง เป้นอันสิ้นสุดของวันที่สอง และพ่วงวันที่สามในวันรุ่งขึ้นโดยเหลือเพียงเดินทางไปรอรถบัสแอร์เอเชียและกลับไปที่สนามบินตามลำดับ (pantip)
พอข้ามแม่น้ำอิรวดีมาได้ สักพักก็ต้องเลี้ยวขวาไปหาท่าเรือ สองข้างทางก่อนจะถึงท่าเรือปกคลุมด้วยต้นไม้ใหญ่เขียวขจี แม้ว่าอากาศร้อนแต่ก็ยังสามารถเป็นร่มเงาได้
ไม่นานก็มาถึงท่าเรือไปอังวะ(Inva)แล้ว เป็นเพิงไม้หลังคาจากง่ายๆ แบบนี้ สอบถามค่าเรือ คนละ 800 แจ๊ด(ไป-กลับ) ทางเดินลงเรือก็อย่างที่เห็นอยู่ทางด้านซ้าย
พอดีที่เพิงขายตั๋วเรือมีลูกหมากำลังคลอดออกมาอยู่ 1 ครอก เลยถ่ายรูปเก็บไว้ ทั้งหมด 6 ตัว นอนอย่างเดียว
เรือมาแล้วครับ มีอยู่ลำเดียววิ่งลอกทั้งไปและส่ง คนเดียวก็ออกนะ ไม่ได้รอคนจนเต็มลำ จริงๆเรามาถึงแล้ว เรือแทนที่จะรอเราสองคนดันออกไปซะก่อน ในเรือมีแค่ 2 คนเอง เลยต้องรอเที่ยวนี้
ปรากฎว่ามีเราและฝรั่งผู้หญิงอีก 1 คน เรือก็ออกแล้ว มองเห็นสะพานทั้งเก่าและใหม่ที่เพิ่งข้ามแม่น้ำมาไม่นาน
เรือใช้เวลาไม่นานก็มาถึงยังฝั่งอังวะแล้ว ใช้เวลาไม่ถึง 10 นาที เพราะใกล้มากๆ เห็นมีชาวญี่ปุ่นรอเรืออยู่ 2 คนฝั่งอังวะ
ขึ้นจากเรือก็เดินมานิดเดียวเป็นท่ารถม้า เลือกว่าจะขึ้นคันไหนได้เลย แต่ช้าก่อน บ่ายโมงครึ่งแล้วอาหารยังไม่ตกถึงท้องเลย เราเลยเดินผ่านไปก่อน ร้านอาหารที่จะมาทานอยู่ใกล้ๆทางซ้ายมือ
ถึงแล้ว ร้าน Small River (Ava) restaurant ร้านนี้มีคนที่มาอังวะแล้วแนะนำให้ทานอาหารกลางวันที่นี่ ขนาดร่มๆ แต่อากาศก็ยังร้อนมากๆครับ
สั่งง่ายๆพอรองท้อง ข้าวเปล่ากับไก่ผัดเม็ดมะม่วงหิมพานต์ รวมน้ำมะนาวและน้ำเปล่า 10,000 แจ๊ด
ทานเสร็จก็ออกมาขึ้นรถม้าครับ เสนอราคามาคนละ 6,000 แจ๊ด ชม 4-5 วัด ลองต่อราคาเหลือ 5,000 แจ๊ดก็ไม่ได้ สุดท้ายราคาก็ตามนั้น 2 คน 12,000 แจ๊ด
รถม้าเริ่มออกเดินทางแล้ว ดูแล้วทำให้หวนคิดถึงวันที่ไปพุกามเมื่อปีที่แล้ว ก็ขึ้นรถม้าชมวัดแบบนี้แหล่ะครับ ย้อนกลับไปชมกันได้ (http://athlons.blogspot.com/2013/04/4-5-2.html)
ระหว่างทางเจอรถม้านักท่องเที่ยวสวนมาด้วย แต่ไม่นานรถม้าเราก็แซงคันที่อยู่ข้างหน้ามาจนได้
แวะที่แรกคือ Yadana Hsemee Pagoda Complex
เข้าไปชมซากปรักหักพังของวัดโบราณ หลังคาหายไปหมดแล้ว เหลือแต่เสาและพระประธาน
พระประธานที่น่าจะสร้างใหม่ องค์เล็กอยู่ในมณฑป
เจดีย์เก่าๆ ทำด้วยอิฐมอญแบบนี้ ทำให้นึกถึงพวกวัดในสมัยอยุทธยาของเราเลยครับ
เดินออกมาขึ้นรถม้าแบบเดิม แต่ขอชักภาพกับเจ้าม้าตัวนี้หน่อยนะ
ระหว่างทางที่จะไปวัดที่สอง เห็นเจดีย์นี้ระหว่างทาง แต่เราไม่ได้แวะ เอ๊ะ...คนบังคับรถม้าไม่ได้แวะให้เรา สงสัยคงไม่สำคัญ
และก็มาถึงสถานที่ที่สอง ที่จอดให้แวะลง Bagaya Monastery น่าเสียดายที่เก็บค่าเข้าถึงคนละ 10 USD 2 คนก็ 20 USD 600 กว่าบาทเข้าไปแล้ว เราเลยไม่เข้าไป แค่ถ่ายรูปด้านนอกแบบนี้เก็บไว้แค่นั้นพอ
วัดนี้สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1834 ช่วงรัชสมัยของพระเจ้าบากีดอว์(Bagyidaw) โดยสร้างขึ้นด้วยไม้สักทั้งหลัง ประกอบด้วยเสาไม้สักขนาดมหึมาทั้งสิ้น 267 ต้น เสาต้นที่ใหญ่สุดวัดความสูงได้ 60 ฟุต มีเส้นรอบวง 9 ฟุต วัดนี้มีโครงสร้างที่ใหญ่โต โดยมีขนาดความยาว 188 ฟุต กว้าง 103 ฟุต
วัดนี้เป็นที่เก็บมรดกทางวัฒนธรรมของพม่าไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรมหรืองานแกะสลักเก่าแก่หลายๆชิ้น ซึ่งยากที่จะพบเจอในยุคสมัยนี้แล้ว
รถม้าแล่นต่อไปโดยคราวนี้ไม่แล่นบนถนนยางมะตอยแล้ว แต่บุกป่าฝ่าดงไปตามเส้นทางดิน ซ็ายมือเป็นต้นตาลสูงชะรูด ขวามือเป็นดงกล้วย ได้บรรยากาศดีไม่น้อย แต่ลึกๆก็กลัวๆนะครับ 555 กลัวโดนมาเชือด อิอิ
ส่วนบริเวณนี้ก็จะเป็นเรือกสวนไร่นาของชาวอังวะ เป็นสวนกล้วยล้วนๆ แต่ด้วยที่ทางเป็นดินเวลาแล่นไปมันจะสะเทือนมากๆนะครับ นั่งต้องจับที่มั่นดีๆ ไม่งั้นกระเด้งได้ เพราะไม่มีโช้คแบบรถปกติ
มาหยุดลงที่ตรงนี้ ให้แวะถ่ายรูป ไม่แน่ใจว่าคืออะไร คงเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์อะไรสักอย่างครับ
และก็มาถึงยังหอสังเกตุการณ์(Watch Tower) เมืองอังวะ หอคอยที่ไว้เฝ้ามองศัตรูที่จะมารุกราน สังเกตว่ามันจะเอียงๆ เนื่องมาจากเกิดแผ่นดินไหวที่ผ่านมา
มาดูตรงด้านหน้าบ้าง หอคอยอังวะนี้สูง 30 เมตร ถูกก่อสร้างทิ้งไว้อย่างโดดเดี่ยวที่ยังคงหลงเหลืออยู่จากพระราชวัง Baggidaw ที่สร้างไว้ในปี ค.ศ. 1822 เนื่องจากแผ่นดินไหวเมื่อปี ค.ศ. 1838 ทำให้ส่วนบนถล่มลงมาเหลือเพียงส่วนล่างเท่านั้น แต่ปัจจุบันก็ได้บูรณะไว้เหมือนเดิม
หอสังเกตุการณ์นี้เป็นหนึ่งในตัวอย่างของสถาปัตยกรรมสไตล์พม่าในช่วงเริ่มต้นศตวรรษที่ 19
และก็มาถึงยังวัดมหาอ่องเหม่ บอนซาน เป็นวัดใหญ่ที่สร้างจากหินแกะสลักสวยงาม มีการสร้างหลายๆชั้นสลับซับซ้อน
แต่อีกครั้ง ก่อนเข้าไปต้องจ่ายคนละ 10 USD อีกแล้ว ทำไมไม่ให้จ่ายทั้งหมดในอังวะคนละ 10 USD แบบที่เมืองมัณฑะเลย์เลยนะ เราเลยไม่ได้เข้าไปอีกเช่นกัน
เลยเดินกลับมาหาอะไรรองท้องหน่อย เหลือบไปดูมีคนขายลูกตาลอยู่พอดี 200 แจ๊ดเท่านั้น
พักให้เหงื่อระเหยแถวๆนี้ก่อน เก็บภาพวัวนมที่ยืนจ้องหน้าอยู่ข้างๆ ธรรมชาติดีจริงๆ เหมือนย้อนเมืองไทยไปหลายสิบปีมากๆ
สถานที่ทั้งหมดที่ผ่านมาถือว่าครบหมดแล้ว เหลือเพียงรถม้าพามาส่งที่เดิมนั่นเอง ผ่านถนนดินเส้นที่มีม้ามาผูกเชือกไว้เต็มไปหมด
ก่อนจะลงเรือเจอเจ้าวัวตัวนี้เล็มหญ้าอยู่พอดี มันเล็มซะตัวจะคะมำลงมาจากตลิ่งแล้ว
วิวสะพาน ขณะล่องเรือกลับฝั่ง
คนเรือทำงานตากแดดทั้งวันจนผิวดำไปหมด
ขึ้นเรือแล้วก็มาขึ้นรถต่อ พอดียังไม่ได้ถ่ายรูปรถเลย วันนี้ได้ฤกษ์ถ่ายสักที รถใหญ่แอร์ก็เย็น(ถ้าไม่ลืมกดปุ่มแอร์นะครับ ต้องคอยบอกตลอด) จุดหมายต่อไปคือ วัดมหากันดายน(มหากันดายง)
แต่ก่อนจะถึงวัดมหากันดายน รถก็แวะที่นี่ โรงทอผ้าครับ
ใครสนใจผ้าทอลายไหน ก็สามารถแวะซื้อเป็นของฝากได้ เราไม่ได้ซื้อมา
ทางผ่านไปวัดมหากันดายน จะมีวัดนี้อีกหนึ่งวัด กำลังบูรณะอยู่พอดี งั้นเราแวะไปชมก่อนครับ
พระนอนรูปนี้คล้ายพระตาหวานมั้ยเอ่ย ?
เหมือนจริงๆ ไม่รู้ว่าทัวร์ได้พามาวัดนี้แล้วหรือยัง
มีรูปปั้นบัณฑิตนั่งอยู่บนหลังนกยูงด้วยแฮะ ไม่เคยเห็นครับ
โน่น...พระอะไรกำลังอุ้มบาตรอยู่ หน้าตาแปลกดีครับ ด้านหลังติดกับทะเลสาบตองตะมานเลย ใกล้สะพานอูเบ็งเข้ามาแล้ว
ไปดูอีกฝั่งหนึ่งครับ วัดนี้จะมี 2 ฝั่ง หรือคนละวัดก็ไม่ทราบนะครับ
เดินเข้าไปข้างในไม่มีคนเลยครับ เย็นด้วยสิ มีพระพุทธรูปหลายองค์เยอะมากเลย
บอกตรงๆครับ น่ากลัวยังไงไม่รู้ มืดๆ
แล้วก็ออกมาด้านนอกซะที วัดนี้น่าสนใจไม่น้อย ไม่มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวเลยครับ
แล้วรถก็วกมาถึงยังวัดมหากันดายนจนได้ครับ อยู่ไม่ไกลกันนัก
มาตอนนี้ บ่าย 4 โมงครึ่ง ไม่ได้เห็นพระและเณรเยอะๆ ที่จัดเรียงแถวเตรียมฉันเพลแล้วครับ ทำได้เพียงเดินสำรวจกัน
วัดมหากันดายน ซึ่งตั้งอยู่ริมทะเลสาบตองตะมาน ใกล้สะพานอูเบ็ง และเป็นวิทยาลัยสงฆ์ที่ใหญ่ที่สุดของพม่า มีภิกษุและสามเณรมาศึกษาเล่าเรียนทางธรรมกว่า 1,200 คน และมีพระภิกษุจาก ยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น ฯลฯ มาบวชเรียนด้วย
วิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้เป็นสถานที่ศึกษาพระธรรมและรักษาพระธรรมวินัยมากที่สุด ด้วยวัตรปฎิบัติอันงดงามของภิกษุสงฆ์ในวัดมหากันดายน ทำให้มีชาวพม่าจำนวนมากส่งบุตรหลานมาศึกษาพุทธศาสนากันที่นี่ และทำให้มีผู้มีจิตศรัทธาจองคิวกันนำภัตตาหารมาถวายพระทั้ง 1,200 รูปไม่เว้นแต่ละวัน ทำให้วิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้ดำรงค์อยู่ได้แม้จะได้รับงบประมาณจากรัฐบาลพม่าไม่มากนัก เครดิต : Oceansmile.com
มีหอนาฬิกาสุดคลาสสิคด้วยนะครับ
และก็ได้เวลาไปสะพานอูเบ็งกันสักที จากวัดมหากันดายนมาสะพานอูเบ็งไม่ไกลเลย เรือกอนโดล่าหลายลำรอคอยนักท่องเที่ยวให้ลงเรือเพื่อแล่นชมท้องน้ำอิรวดี
ได้เห็นวิวสะพานอูเบ็งแล้ว จากรูปหน้านี้น้ำลดไปเยอะเลยครับ เห็นช่วงมกราคมที่ผ่านมา น้ำจะเยอะเต็มใต้สะพานไปหมด
สะพานอูเบ็ง เป็นสะพานไม้สักที่ยาวถึง 2 กิโลเมตร ทอดข้ามทะเลสาบตองตะมาน ทางตอนใต้ของเมืองอะมะราปุระ มุ่งตรงไปสู่เจดีย์เจ๊าต่อจี อยู่อีกฟากหนึ่งของทะเลสาบ พระเจ้าปุดงโปรดฯให้ขุนนางนามว่า “อูเบ็ง” เป็นแม่กองงานสร้างสะพานแห่งนี้ โดยใช้ไม้สักที่รื้อจากพระราชวังเก่าแห่งกรุงอังวะจำนวน 1,208 ต้น
เราเดินขึ้นไปเริ่มต้นที่หัวสะพาน
ชอบจังเลยรถขายไอศครีมกรวยแบบนี้ สีสันสดใสมากๆ หวังว่าคงไม่ใส่สีที่เป็นพิษนะครับ ตอนที่บนเขาสกายน์ก็เจอกรวยไอศครีมมาทีหนึ่งแล้ว แต่ไม่มีคนขาย
เดินชมบรรยากาศไปเรื่อยๆ อากาศไม่ร้อนแล้ว เป็ดมาเล่นน้ำเยอะมาก
ซากต้นไม้ที่โดนน้ำท่วมจนตาย(หรือเปล่า) ก็ยังยืนต้นให้เห็นอยู่ตลอดเวลาที่ดูรูปสะพานอูเบ็ง
ฝูงเป็ดเริ่มเข้าแถวลงว่ายน้ำไปที่อื่นแล้ว เยอะมากหลายร้อยตัว อาจจะเป็นพันตัวด้วยซ้ำ
ไหน ตัวไหนจ่าฝูง??
มีคนใช้บริการเรือกอนโดล่า 2 ลำแล้ว ฉากหลังเป็นเจดีย์ที่ดูเหมือนนูนออกมาจากรูปได้ แปลกดีครับ จริงๆคงกำลังบูรณะทาสีหรือซ่อมแซมอะไรสักอย่าง มีนั่งร้านแบบไม้ติดตั้งอยู่ข้างๆ
เดินไปตามสะพานไม้อูเบ็งก็ต้องดูทางด้วยครับ เพราะอาจเผลอตกลงด้านข้างลงน้ำได้ ไม่มีรั้วกั้น
จักรยานใครมาจอดไว้ตรงนี้ ถ้าไม่มีงั้นขอถ่ายเป็นแบบหน่อยค่ะ
ใครอยากเข้าห้องน้ำเดินลงไปเข้าได้เลยครับ น่าจะเป็นห้องน้ำที่วิวใช้ได้อันนึงเลยนะเนี่ย แต่ผมขอบายละกัน
เราหยุดนั่งพักที่ตรงศาลาที่พักระหว่างสะพาน ไม่ได้เดินไปต่แล้ว เพราะไกลมากๆ
เพื่อฆ่าเวลา ลงไปถ่ายนกกระยางตัวนี้ที่กำลังหาปลาดีกว่า ซูมมาได้แค่นี้ครับ
นั่งรอพระอาทิตย์ตกดินอยู่นานสองนาน ปรากฎว่าพระอาทิตย์ไปตกที่พุ่มไม้ฝั่งที่เดินมา ไม่ได้ตกขวางสะพานไม้แต่อย่างใด เลยเก็บแสงมุมนี้มาก่อน
เตรียมตัวที่จะเดินกลับกันแล้วครับ เพราะไม่ได้มุมพระอาทิตย์ตกตามที่ตั้งใจไว้ ฮือๆ
ใครที่รู้สึกหิว มีกุ้งและปูชุบแป้งทอดด้วยนะครับ แต่คงไม่กรอบแล้วหล่ะ
พระสงฆ์ก็เดินกลับเช่นกัน
มองย้อนกลับไปทางทิศตะวันออก ได้แสงมาแบบนี้ครับ
น่าเสียดายที่ไม่ได้รูปพระอาทิตย์ดวงกลมๆ ที่กำลังลาลับขอบฟ้าไปท่ามกลางสะพานไม้อูเบ็ง
แสงใกล้หมดเต็มที และเราก็จะออกจากที่นี่ไปแล้วเช่นกัน
ก่อนที่จะให้รถไปส่งเราที่โรงแรม เราแวะไปทานอาหารที่ร้านนี้ครับ Pyi Taw Win Restaurant
อาหารที่สั่งก็มีหมูกรอบย่าง, ลูกชิ้นปลาผัดเปรี้ยวหวาน, ผัดผัก และที่ขาดไม่ได้คือเบียร์ท้องถิ่น Myanmar beer รวมราคา 7,100 แจ๊ด
ก็เป็นอันว่าจบวันที่สองนี้ไปด้วยดีครับ พรุ่่งนี้เราจะต้องเตรียมตัวกลับกันแล้ว
วันอาทิตย์ที่ 8 มิถุนายน 2557
เราทานอาหารเช้าที่โรงแรม อาหารยังคุณภาพเหมือนเดิม แกงวุ่นเส้นที่ตักมาเป็นถ้วยๆ รสชาติเหมือนในไทยเลย อร่อยดีครับ
ได้เวลาคืนกุญแจห้องพักแล้ว
เช็คเอาท์กับเจ้าหน้าที่ พนักงานยิ้มแย้ม
นัดให้รถมารอรับที่ล๊อบบี้โรงแรม แล้วก็ไปส่งเราที่คิวรถบัสแอร์เอเชียตรงนี้ รถมาถึง 8.30 น. ยังเหลือเวลาอีกตั้งครึ่งชั่วโมงกว่ารถจะออก
เก็บยอดปราสาทของพระราชวังมัณฑะเลย์ที่อยู่ใกล้ๆ
รถบัสแอร์เอเชียรับส่งสนามบินมัณฑะเลย์-เมืองมัณฑะเลย์ฟรี ส่วนมากจะไม่เต็มคัน มีเสื้อแอร์เอเชียสีแดงสวมกับเบาะนั่งทุกเบาะ บางเบาะหายไปคาดว่าคงมีคนเอาไปใช้
ถึงสนามบินแล้วรอสักพัก ถึงจะเปิดเคาน์เตอร์เช็คอิน คนเยอะมาก สุดท้ายก็กลับมาเมืองไทยโดยสวัสดิภาพ
ต้องขอขอบคุณข้อมูลต่างๆทางเน็ตที่ทำให้ได้ปิดทริปสักการะมหาบูชาสถานจนครบทั้ง 5 มหาบูชา โดยใช้เวลา 4 + 3 วัน จัดทริป 2 ทริปด้วยกัน ห่างกัน 1 ปี แล้วเราจะกลับมาเที่ยวพม่าใหม่เมื่องดเว้นวีซ่า จุดหมายต่อไปที่เราอยากจะไปคือ ทะเลสาบอินเลย แล้วเจอกันครับ
สรุปค่าใช้จ่าย
1.ค่าถ่ายรูปทำวีซ่าพม่า 2 คน = 180 x 2 = 360 บาท
2.ค่าทำวีซ่าพม่า 2 คน = 820 x 2 = 1,640 บาท
3.ค่าตั๋วเครื่องบินไป-กลับ กทม.(ดอนเมือง)-มัณฑะเลย์ = 5,040 + 40 = 5,080 บาท/2 คน
4.ค่าที่พัก 2 คืน ณ Hotel Yadanaborn = 2,765.07 บาท
5.ค่าเช่ารถ = 25,000 แจ๊ด(วันแรก) + 85,000 แจ๊ด(วันที่สอง) = 110,000 แจ๊ด = 3,652 บาท
6.ค่าตั๋วดุโบราณสถานที่เมืองมัณฑะเลย์ = 2 x 10,000 = 20,000 แจ๊ด/2 คน = 664 บาท
7.ค่าเรือข้ามไป-กลับ อังวะ = 2 x 800 = 1,600 แจ๊ด = 53 บาท
8.ค่ารถม้าที่อังวะ = 12,000 แจ๊ด = 400 บาท/2 คน
9.ค่าอาหาร + น้ำ = 24,500 แจ๊ด = 813 บาท
10. ค่าทิปคนขับรถ 2 วัน = 8,000 แจ๊ด = 265 บาท
11.ค่าของฝาก = 24 USD = 780 บาท
12.ค่าทำบุญ และอื่นๆ = 528 บาท
รวมทั้งหมด ประมาณ 17,000 บาท/ 2 คน หรือ 8,500 บาท/คน
เห็นว่าบทความนี้น่าสนใจ รบกวนกดแชร์ด้วยครับ
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น