วันจันทร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2550

ตามหาซากุระเมืองไทย(ดอกนางพญาเสือโคร่ง) ที่ น่าน ตอน 2 การกลับมาน่านอีกครั้ง บนเส้นทางสู่บ่อเกลือ จากน้ำปาดข้ามแพสู่ปากนาย ผ่านสันติสุข จุดหมาย -> ภูฟ้า


วันนี้ตั้งใจที่จะหวนคืนเมืองน่านอีกครั้งโดยเฉพาะศูนย์ภูฟ้าพัฒนา หลังจากที่เมื่อวานได้พลาดไป เลยต้องระหกระเหเร่ร่อนไปพักที่อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ มาวันนี้ผมแพลนที่จะวิ่งเข้าอ.น้ำปาด และนำรถข้ามแพขนานยนต์เพื่อข้ามฝั่งน้ำจากด้านท้ายเขื่อนสิริกิติ์เพื่อไปยังบ้านปากนาย ฝั่งจ.น่านอีกครั้ง

จริงๆแล้วผมตั้งใจที่จะมาเส้นนี้ตอนขากลับ แต่ด้วยข้อขัดข้องเมื่อวานนี้เลยเป็นอันว่าต้องข้ามฝั่งไปเพื่อกลับไปยังน่านอีกครั้ง เส้นทางนี้ผมเองใฝ่ฝันมาว่าจะผ่านเส้นทางนี้ให้ได้ เรียกได้ว่าเป็นเส้นทางคลาสสิคสำหรับผมทีเดียว ในที่สุดก็จะได้ทำแล้ว ต่อจากนั้น จะขับเข้าอ.นาหมื่น ผ่านอ.นาน้อย สู่อ.เวียงสา เข้าตัวเมืองน่าน เลี้ยวเข้าอ.สันติสุข และไปถึงยังอ.บ่อเกลือในที่สุด

วันนี้เป็นวันสิ้นปี ผมเลือกที่จะค้างแถบๆนี้โดยหาข้อมูลมาจากบอร์ดน่าน @TKT ว่า ที่บ่อเกลือมีศูนย์ภูฟ้าพัฒนา ซึ่งเป็นศูนย์ในโครงการพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ที่ได้บุกเบิกการช่วยเหลือชาวบ้านที่นี่ สงสัยต้องลองดูที่พักว่าเต็มหรือไม่ แล้ววันรุ่งขึ้นก็จะดูการต้มเกลือสินเธาว์ แล้วแวะไปอช.ขุนน่านซะหน่อยเพื่อประทับตราอุทยาน ต่อจากนั้นจึงจะไปอ.ปัวตามลำดับ


แผนที่เส้นทางขับรถ

หมายเหตุ : 
จุดสีเขียว : ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา
จุดสีฟ้า : อุทยานแห่งชาติขุนน่าน

วันนี้ตื่นเจ็ดโมงกว่า อากาศถือได้ว่าหนาวทีเดียว ผมออกเดินทางจากอ.ท่าปลาไปตามทางที่มาเมื่อว่านซึ่งขนานกับลำน้ำน่าน แต่โชคดี ที่แถบนี้มีอุทยานแห่งชาติที่ผมก็อยากทราบเหมือนกันว่าอยู่ที่จังหวัดไหนแน่ นั่นคืออุทยานแห่งชาติลำน้ำน่าน แท้จริงแล้วไม่ได้อยู่จังหวัดน่าน แต่อยู่จังหวัดอุตรดิตถ์นี่เอง เลี้ยวซ้ายเข้าไปไม่กี่กม.ก็ถึงแล้ว ที่อช.นี้อยู่ติดกับเขื่อนสิริกิติ์ บรรยากาศจึงดี อากาศเย็นสบาย ผมแวะเข้าไปเพื่อจะไปประทับตราอุทยานในสมุดพาสปอร์ตแล้วเดินทางต่อเท่านั้น


ก่อนจะขับรถต่อไป แวะจอดกลางสะพานบริเวณทางเข้าเขื่อนสิริกิติ์ มองเห็นแม่น้ำน่านนิ่ง สงบเยือกเย็น น้ำด้านล่างคงหนาวน่าดู


น้ำมันใกล้หมดเต็มที ใจก็ภาวนาให้ถึงอ.น้ำปาดเร็วๆ จะได้เติมเต็มถังเพื่อเดินทางต่อ จนสุดท้ายก็ถึง ได้เติมน้ำมันและซื้อเสบียงบ้างซึ่งก็มีน้ำเปล่าและขนมเล็กๆน้อยๆ ต่อจากนั้นก็ยาวไปที่ท่าแพเลย แต่ก่อนจะถึง 40 กว่ากิโลเมตร สภาพเส้นที่ทำใจมาแล้วก็เป็นดังภาพ แต่ก็พอทนขับต่อไปได้


ช่วงแรกๆ เส้นทางนี้มีแต่ทำถนน ส่วนน้อยที่จะสลับเป็นลาดยางบริเวณบ้านของชาวบ้านเท่านั้น


ประมาณ 10 โมงเช้า รถก็ต้องผ่านเจ้าถิ่นที่เดินขวางถนนอย่างวัวฝูงนี้


หลักกิโลเมตรบอก ปากนายอีก 3 กม. แต่ไม่ยักกะบอกว่าทางขาดต้องข้ามแพไป ใครมาแล้วไม่รู้ก็ไม่รู้จะโทษใครแล้ว


มาถึงจุดที่สิ้นสุดของถนนแล้ว เนจุดสิ้นสุดเขตจ.อุตรดิตถ์เช่นกัน คราวนี้ต้องนำรถข้ามไปอีกฟากนึงซึ่งก็คือบ้านปากนาย จ.น่านนั่นเอง จะทานอาหารก่อนข้ามไปหรือจะข้ามไปเลยก็ได้ ราคาตามป้ายที่บอก แถมยังบริการ 24 ชม.ด้วยนะ สอบถามแล้วก็เป็นจริงๆซะด้วย ตี 1 ตี 2 ก็ยังให้บริการ


นี่เป็นแพที่สามารถมาทานอาหารชมวิวท้ายเขื่อนได้ ผมจอดรถแล้วก็ยืนรอจนมีคนในแพตะโกนมาถามว่าจะข้ามฝั่งใช่มั้ย เขาบอกให้รอแป๊ป กำลังมีแพมาจากอีกฝั่งหนึ่ง


นี่ไง รถเก๋งสองคันกำลังล่องแพมาจากปากนาย อ.นาหมื่น จ.น่าน รถผมก็จะขึ้นแพนี้ไป


รถผมขึ้นไปจอดเตรียมล่องบ้างแล้ว รู้สึกตื่นเต้นเล็กน้อย เพราะไม่เคยนำรถข้ามแพมาก่อน นี่เป็นครั้งแรกเลยยยยย


เรือหางยาวกำลังลากแพไปแล้ว ความรู้สึกคือ เบาๆหวิวๆยังไงไม่รู้ แต่บรรยยากาศรอบข้างสวยมาก


ลมแรงพอควร เห็นคนลากบ่นๆเอาเหมือนกันว่าไปได้ไม่เร็วนัก


โอ้ ใกล้ถึงแล้ว ใช้เวลาล่องแค่ 15 นาทีเอง ราคา 250 บาท


จากบนน้ำก็มาต่อบนบกอีกครั้ง เป็นเส้นทางจากปากนายไปอ.นาหมื่น ถนนค่อนข้างแคบ ขับเร็วๆต้องระวังรถสวนนิดนึง ตอนขับไปมีรถกทม.สวนมาหลายคันทีเดียว


จากนาหมื่นเข้านาน้อยและมาพักรถและทานอาหารกลางวันที่อ.เวียงสา ต่อจากนั้นขับเข้าตัวเมืองน่านแบบไม่แวะเพื่อเข้าอ.สันติสุขต่อไป เส้นทางไปอ.สันติสุขถ้าจะเทียบก็น่าจะประมาณเส้นจากแม่มาลัยไปปายคงไม่ผิดนัก ขับสนุกเลยทีเดียว แต่เสียดาย รถไม่ค่อยจะมีเพราะหนีไปใช้เส้นที่ผ่านท่าวังผามากกว่า

อดใจไม่ไหวที่จะจอดรถเพื่อเก็บภาพทิวทัศน์สวยๆแบบนี้


บ่ายสองโมงหน่อยๆ ผมดันทะลึ่งแยกไปใช้เส้นทางอีกเส้นที่เขาไม่ใช้กัน สภาพตามที่เห็นคือมีหญ้าขึ้นรถทั้งสองข้างจนเหมือนจะเหลือแค่เลนเดียว กลั้นใจขับไปเกือบๆ 500 เมตร ไม่มีอะไรดีขึ้น เลยวกรถกลับมาดีกว่า เพราะมีป้ายบอกทางไปสถานที่วีรชนเพื่อประชาธิปไตยสหายยงค์อีก 4 กม. เริ่มกลัวๆด้วย เลยกลับอีกเส้น


เส้นทางที่มาจากสันติสุข ช่วงบ้านหลักลายไปบ่อเกลือนั้น มีทำทางอยู่ประมาณ 2 กม. เป็นดินแดงๆ และมีกองหินเกล็ดวางอยู่เลยวิ่งได้แค่เลนเดียว แต่หลังจากนั้นก็ฉลุย


ดูเส้นทางละกันว่าสวยและใหม่แค่ไหน


และก็มาถึงช่วงสุดท้ายที่ต้องลงเขาเพื่อไปบ่อเกลือ โค้งบางจุดที่คล้ายๆกับอ่างขางฝั่งไชยปราการ


บ่ายสามโมงยี่สิบสามนาทีก็มาถึงยังพระตำหนักทรงงานของสมเด็จพระเทพฯ ไม่น่าเชื่อว่ามีรถจอดที่ลานจอดรถอยู่เพียงคันเดียว รถผมเป็นคันที่สอง เหงาจริงๆเลย


บริเวณทางเดินที่เป็นไม้ชำรุดหลายจุดจนเจ้าหน้าที่ต้องนำป้ายมาติดไว้ให้ระวังเวลาเดิน  แต่บรรยากาศบนนี้ดีมาก ลืมบอกไปว่าศูนย์ภูฟ้าพัฒนาถึงก่อนตัวอ.บ่อเกลือ เล็กน้อยแล้วเลี้ยวขวาเข้าไปอีกประมาณ 12 กม.


ผมนึกในใจว่า เอ...ไหนบอกว่ามีบ้านพักไง อยู่ที่ไหนหว่า ? สงสัยแห้วซะแล้ว เลยโทรหาที่พักใหญ่ แต่ก็เต็มแม้ว่าลานกางเต็นท์ก็เหอะ แต่สุดท้ายเกือบจะกลับทางเดิมแล้ว เห็นมีรถขับไปอีกทางหนึ่งเลยขับตามไป โอ้โห....อยู่ตรงนี้นั่นเอง เลยเดินเข้าไปสอบถามเจ้าหน้าที่ในร้านขายของที่ระลึกของโครงการตามพระราชดำริ ได้ความว่าที่พักที่เป็นห้องยังมีว่าง โชคดีจริงๆเรา คิดว่าไม่มีที่นอนซะแล้ว หรือไม่ก็ต้องไปหาจุดกางเต็นท์อีก เสียเวลา (ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา)


ผมได้ห้องพักหมายเลข 106 แต่สงสัยว่าห้องริมสุดคือ 107 ทำไมดูดีจัง เลยอยากจะเปลี่ยนห้อง ถามเจ้าหน้าที่(คุณหนึ่ง)ก็เป็นอันเซอร์ไพร์ซว่าห้องนี้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเทพฯ ถือได้ว่ามีบุญสำหรับผมมากที่ได้มีโอกาสเข้ามาถ่ายภายในห้อง เป็นอะไรที่เรียบง่ายจริงๆ (ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา)


ด้านหน้าห้องที่ผมพัก (ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา)


ภายในมีสองเตียง แบบนี้เรียกว่า VIP สะอาดมากๆ ราคาเพียง 500 บาท แถมบรรยากาศดีสุดๆ (ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา)

วิวระเบียงด้านหลังคงไม่ต้องบรรยายว่าธรรมชาติขนาดไหน ออกไปก็เป็นขุนเขาน้อยใหญ่กับไร่ชา (ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา)

วันสิ้นปีอย่างวันนี้ ผมมาฉลองที่ภูฟ้าอย่างโดดเดี่ยว


เก็บข้าวเก็บของที่ห้องพักเสร็จ ก็นำโปสการ์ดที่เตรียมมาออกมาเขียนเพื่อส่งถึงเพื่อนๆ พร้อมๆตราประทับจากอุทยานแห่งชาติที่ไปมา (ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา)


ห้าโมงเย็นแล้ว เจ้าหน้าที่ของศูนย์ภูฟ้าฯ ได้นำอาหารมาทำกินกัน ช่างมีน้ำใจที่ชวนผมไปทานด้วย ขอบคุณมากๆครับ คนไทยไม่แห้งแล้งน้ำใจจริงๆ (ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา)


ผมขอตัวไปถ่ายรูปตามเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติของที่นี่ และอยากนำความเป็นมาของศุนย์มาให้ทราบกัน (ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา)

==========
ความเป็นมา
เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2538 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎร และทอดพระเนตรบ่อเกลือสินเธาว์ ณ บ้านบ่อหลวง อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ทรงเห็นสภาพความเป็นอยู่ของราษฎรที่มีความด้อยโอกาส จึงทรงมีพระราชดำริให้สำนักงานโครงการส่วนพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ดำเนินการช่วยเหลือโดยเริ่มพัฒนาพื้นที่โรงเรียนประถมศึกษาก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นจึงขยายไปยังศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” ประกอบด้วย 4 โครงการ ได้แก่ โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน, โครงการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีน, โครงการส่งเสริมสหกรณ์ และโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2542 สมเด็จพระเทพฯรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯทรงเยี่ยมพื้นที่และราษฎรตำบลภูฟ้า อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน จึงทรงโปรดฯ ให้จัดตั้ง “ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา” ขึ้นเพื่อใช้เป็นต้นแบบการพัฒนาและถ่ายทอดความรู้ไปสู่พื้นที่และราษฎรเป้าหมาย ในพื้นที่ 2 อำเภอ คือ อำเภอบ่อเกลือและอำเภอเฉลิมพระเกียรติ


เพิ่งมาทราบทีหลังว่า ที่แห่งนี้นี่เอง คือต้นกำเนิด "ร้านภูฟ้า" ที่สยามดิสคัฟเวอรี่

==========
ภูฟ้า เป็นชื่อผลิตภัณฑ์ในโครงการส่งเสริมอาชีพ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี

สืบเนื่องจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โปรดเกล้าฯ ให้จัดทำโครงการส่งเสริมอาชีพ เพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร ซึ่งมีฐานะยากจน ให้มีอาชีพเสริมเพิ่มรายได้จากอาชีพเกษตรกรรม ทั้งนี้เพื่อให้เป็นการยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน

สำนักงานโครงการส่วนพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับส่วนราชการและเอกชน จึงเข้าไปดำเนินการจัดตั้งกลุ่มอาชีพ โดยฝึกอบรม ส่งเสริมการดำเนินงาน สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ เงินทุน และตั้งกองทุนสนับสนุนอาชีพ รวมทั้งช่วยเหลือในเรื่องการตลาด สำหรับอาชีพต่างๆ ที่ทำการส่งเสริมนั้น ได้แก่ การเกษตร การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร อุตสาหกรรมในครัวเรือนและหัตถกรรม รวมทั้งการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในท้องถิ่น ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ชาวบ้านผลิตนี้ จะเน้นภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็ฯหลักเพื่อดำรงไว้แก่อนุชนรุ่นหลัง มิให้สูญหายไป และเป็นการเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น หลังจากดำเนินการมาได้ระยะหนึ่ง ชาวบ้านสามารถผลิตสินค้าได้ แต่ไม่มีสถานที่จัดจำหน่าย
      สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดตั้งโครงการร้านภูฟ้า เพื่อสนับสนุนการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่างๆของโครงการ โดยใช้ตราสัญลักษณ์ "ภูฟ้า" เป็นเครื่องหมายการค้า และพระราชทานตำแนะนำในด้านการผลิต โดยเฉพาะการออกแบบผลิตภัณฑ์ว่าต้องสวยงามและประณีต


มา...ไปด้วยกันเพื่อเรียนรู้ธรรมชาติ (ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา)


เดินลงไปด้านล่างสุดก็จะเจอกับลำธาร น้ำใสทีเดียว


เจ้าหน้าที่คงกลัวว่าจะเดินกลับขึ้นไปไม่ถูกเลยผูกผ้าสีเหลืองส้มไว้ให้สังเกต แต่ผมว่ามันก็น่ากลัวเหมือนกันนะเนี่ย


พอพลบค่ำอากาศก็หนาวขึ้นมาเรื่อยๆ นี่คืออาคารที่ผมพักนั่นเอง (อัพเดท:รูปนี้เป็นรูปหนึ่งที่ได้รับเกียรติจากศูนย์ภูฟ้าฯ นำมาลงเป็นโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ขนาดใหญ่) (ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา)


มื้อเย็นทานอาหารที่เขาจัดไว้ให้ พร้อมกับดูข่าวการเมืองบ้าง จนเวลาใกล้ถึงสิ้นปีมาเรื่อยๆ ผมเลยเข้าห้องเพื่อลุ้นและเตรียมตัวตั้งกระทู้ "ส วั ส ดี ปี ใ ห ม่  ๒ ๕ ๕ ๑" มาจากภูฟ้า และก็ได้เวลาที่สวยคือ 00:00:01 ของวันแรกในปีนี้ เป็นกระทู้แรกของปี 2551 ของห้อง BP

Original Published on http://www.pantip.com at [ 8 ม.ค. 51 00:42:59 ] as below link


เห็นว่าบทความนี้น่าสนใจ รบกวนกดแชร์ด้วยครับ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น