วันอังคารที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2549

ประเพณีตักบาตรดอกไม้ ในวันเข้าพรรษา ๒๕๔๙ ณ วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร สระบุรี

ช่วงหยุดยาว 4 วันนี้ผมเองต้องสละตั๋วเครื่องบินแอร์เอเชีย ที่เคยได้จองไว้เมื่อปลายปีที่แล้วในการที่จะไปบุโรพุทโธ ประเทศอินโดนีเซีย พร้อมๆกับคุณหนุ่มเมืองกรุงอย่างที่ตั้งใจไว้ เนื่องจากหลายๆสาเหตุไม่ว่าจะเป็นเหตุการแผ่นดินไหวที่อินโดเมื่อไม่นานมานี้ และความไม่ปลอดภัยอื่นๆ แต่ทั้งหลายทั้งปวงคือเวลาไม่ค่อยจะมีแล้วครับ เพราะค่อนข้างจะยุ่งมากขึ้น 

ดังนั้นเมื่อไม่ได้ไปเที่ยวไหนไกล หลังจากต้องทำงานในวันจันทร์ วันนี้ก็ได้หยุด 1 วัน เล็งๆว่าตัวเองไม่ได้ไปงานบุญนานพอควรแล้ว จึงได้สืบเสาะว่าวันเข้าพรรษาปีนี้ ที่ไหนมีการจัดงานและอยู่ไม่ไกลบ้าง ปรากฎว่า ที่วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร สระบุรี นั่นเองที่จัดงานประเพณีตักบาตรดอกไม้ ความทราบว่าเป็นประเพณีหนึ่งเดียวในโลก จึงหาข้อมูลไม่กี่นาทีก่อนที่จะไปร่วมงานดังกล่าว ผมตั้งใจจะไปรอบแรกคือ 10.00 น. เพราะงานบุญน่าจะไปช่วงเช้าๆมากกว่าตอนบ่ายๆ 

จึงเป็นที่มาการตะลอนขับรถอีกครั้ง โดยขับจากบ้านพักอ.แก่งคอยไปยังอ.พระพุทธบาท เพื่อไปร่วมประเพณีงานบุญตักบาตรดอกไม้ในวันนี้


ก่อนออกจากบ้านพัก ผมพยายามโทรชวนเพื่อนร่วมงาน 2-3 คน แต่พอดีไม่มีใครว่าง แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคอะไรสำหรับผมในการไปงานบุญในวันนี้
ผมออกจากบ้านพักที่แก่งคอยประมาณ 9 โมงเช้า แวะทานอาหารเช้าและกาแฟก่อนที่ปั๊มระหว่างทาง แต่สุดท้ายก็ขับมาถึงวัดทันงานพอดี ใครที่เคยขับรถเข้ามาจะเห็นว่าถนนทางเข้าอลังการด้วยการประดับเสาไฟที่เป็นรูปกินรีสัตว์ในวรรณคดี แต่จะสวยกว่านี้ถ้าเป็นช่วงกลางคืนที่มีการเปิดไฟ


ลืมบอกไปว่าในแต่ละวันจะมี 2 รอบ คือรอบเช้าเวลา 10.00 น. กับรอบบ่ายเวลา 15.00 น. เพื่อโปรโมทการท่องเที่ยวตามโปรแกรม unseen
มาถึงก็จัดแจงหาที่จอดรถ วันนี้รถเยอะน่าดูเลยครับ เล่นเอาเดินไกลพอประมาณ เจอยายแก่ๆนั่งขายดอกเข้าพรรษาพร้อมมัดกับธูปเทียนอยู่ ผมเลยเข้าไปสอบถามราคาและซื้อมา 11 ชุด มีคนตะโกนมาแว่วๆว่า "พระมาแล้ว" จึงไม่รอช้าที่จะไปตักบาตรดอกไม้ตามชาวบ้านเขา


พระรอรับดอกไม้จากพุทธศาสนิกชนที่มีจิตใจมาตักบาตรร่วมกันในวันนี้

==========
ตำนานประเพณีตักบาตรดอกไม้   
สำหรับตำนานของประเพณีตักบาตรดอกไม้ ได้มีการเล่าสืบต่อกันว่า พระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์ผู้ปกครองกรุงราชคฤห์ทรงโปรดปรานดอกมะลิมาก โดยทุกๆวันพระองค์จะต้องให้นายมาลาการนำดอกมะลิสดมาถวายจำนวน 8 กำมือ
มาวันหนึ่งขณะที่นายมาลาการกำลังเก็บดอกมะลิอยู่ในสวน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์อีกจำนวนหนึ่งเสด็จบิณฑบาตผ่านมา นายมาลาการเป็นประกายฉายรอบๆพระวรกายพระพุทธเจ้าเกิดความรู้สึกเลื่อมใสศรัทธา จึงนำดอกมะลิ 8 กำมือไปถวายโดยไม่เกรงพระอาญาที่จะเกิดขึ้นภายหลังจากพระเจ้าพิมพิสาร
ทั้งนี้นายมาลาการได้ตั้งจิตอธิษฐานขณะที่นำดอกมะลิถวายพระพุทธเจ้าว่า ข้าวของทุกสิ่งที่พระราชมอบให้ประจำนั้นเป็นเพียงการเลี้ยงชีพในภพนี้เท่านั้น แต่การนำดอกไม้ไปบูชาองค์พระศาสดานั้นนับเป็นประโยชน์สุขที่ได้ทั้งภพนี้และภพหน้า ถ้าจะถูกประหารชีวิตเพราะไม่นำดอกมะลิไปถวายแด่พระราชาตนก็ยอม


บ้างก็นำน้ำสะอาดมาล้างเท้าพระภิกษุสงฆ์เสมือนกับได้ชำระบาปออกจากจิตใจไป

==========
ตำนานประเพณีตักบาตรรดอกไม้(ต่อ)
ความเมื่อรู้ถึงภรรยาของนายมาลาก็เกิดการกริ่งเกรงว่าจะโดนโทษประหารไปด้วยเพราะสามีไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ ภรรยานายมาลาจึงหนีออกจากบ้านไป
แต่ว่าเหตุการณ์กับไม่เป็นไปตามนั้น เพราะเมื่อความรู้ถึงพระเจ้าพิมพิสาร พระองค์กลับพอพระทัยเป็นอย่างมาก พร้อมๆกับได้บำเหน็จรางวัลความดีความชอบ เป็นสิ่งของจำนวนมากให้แก่นายมาลา ทำให้นายมาลามีความสุขสบายไปตลอดชีวิต
สำหรับตำนานเรื่องนี้ชาวอำเภอพระพุทธบาทได้โยงตำนานจัดเป็นประเพณีตักบาตรดอกไม้ขึ้น และก็จัดเป็นประเพณีสำคัญสืบต่อกันมาทุกๆปี


พุทธศาสนิกชนหลายคนพร้อมใจกันใส่เสื้อสีเหลืองแสดงถึงความจงรักภักดีกับในหลวงท่าน


พระภิกษุสงฆ์เดินรอรับบิณฑบาตรดอกไม้เป็นทิวแถว เบื้องหน้าคือมณฑปพระพุทธบาท



บางคนรอไม่ไหว จึงต้องเดินมาใส่บาตรอีกฝั่งหนึ่งของแถวพระสงฆ์


งานบุญวันนี้ได้รับการสนับสนุนและร่วมมือกันเป็นอย่างดีจากทุกๆหน่วยงานและกลุ่มลูกเสืออย่างที่เห็น


สองข้างทางก็จะพบเห็นแม่ค้าพ่อค้าต่างนำดอกไม้มาขายกันออกให้เกลื่อน เรามาทำความรู้จักดอกเข้าพรรษากันเถอะ

==========
รู้จักดอกเข้าพรรษา
ความพิเศษโดดเด่นที่ไม่เหมือนใครในประเพณีตักบาตรดอกไม้ก็คือ ในวันเข้าพรรษาชาวอำเภอพระพุทธบาทจะนำดอกไม้ชนิดหนึ่งทำบุญใส่บาตรให้พระภิกษุสงฆ์ สำหรับดอกไม้ชนิดนั้นก็คือ “ดอกเข้าพรรษา” ซึ่งเป็นดอกไม้ที่มีต้นคล้ายๆต้นกระชาย หรือ ขมิ้น สูงประมาณ 1 คืบเศษ
ดอกเข้าพรรษานิยมขึ้นตามป่าเขา มีลำต้นเป็นกอ หัว หรือเหง้าอยู่ใต้ดิน ตัวดอกมีขนาดเล็ก ออกดอกเป็นช่อบนส่วนยอด มีหลากหลายสี เช่น สีขาว เหลือง เหลืองแซมม่วง
เมื่อชาวบ้านเก็บดอกเข้าพรรษามาแล้วก็จะนำมามัดรวมกับธูป เทียน แล้วมาตั้งแถวรอพระสงฆ์อยู่ 2 ข้างถนนตั้งแต่วงเวียนถนนสายคู่ไปจนถึงประตูมณฑปพระพุทธบาท ครั้นถึงเวลาที่เป็นมงคล พระภิกษุสงฆ์ก็จะออกบิณฑบาต พร้อมๆกับขบวนแห่อันคึกครื้น


หลังจากที่ผมตักบาตรดอกไม้แล้ว ผมเองก็เดินไล่เก็บภาพมาเรื่อยๆตามถนนมุ่งสูมณฑป จนมาหยุดตรงบริเวณทางเข้ามณฑปพระพุทธบาท



บริเวณวัดก็มีการออกร้านขายสินค้ากันอย่างมากมาย


ที่ประตูทางเข้ามียักษ์ 2 ตนยืนเฝ้าอยู่ ตนนี้ยืนเฝ้าด้านขวา


ส่วนยักษ์ตนนี้ยืนเฝ้าประตูด้านซ้าย แลดูน่าเกรงขาม


เดินเข้ามาข้างในจะได้ยินเสียงระฆังดังก้องตามจังหวะการเคาะของผู้คนที่มาร่วมประเพณี


เราเดินขึ้นไปสักการะพระพุทธบาทด้านบนกันดีกว่าครับ


เสียดายที่วันนี้ฟ้าไม่เป็นใจ ไม่งั้นได้ฟ้าสวยๆมาฝากแล้วหล่ะครับ


เดินวนมารอบๆมณฑปจะเจอกับเจดีย์ชื่อว่า 
:: พระมกุฎภัณฑเจดีย์ ::
พระมกุฎภัณฑเจดีย์ เป็นเจดีย์ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้สร้างด้วยศิลาอ่อนทั้งองค์เพื่อบรรจุพระบรมธาตุในปี พ.ศ. ๒๔๐๓ อยู่ด้านเหนือใกล้กับองค์พระมณฑป


ทำงานสระบุรีมา 9 ปี นี่จะเป็นครั้งแรกที่ผมจะได้มาไหว้พระพุทธบาท สระบุรีก็ครั้งนี้แหล่ะครับ
คนเยอะเดินตามๆกันไป วันนี้ไม่ใช่มีแต่คนไทยนะครับ คนต่างชาติก็มี


ต่างคนต่างแย่งกันปิดทองและหยอดสตางค์


กว่าจะเข้าถึง เล่นเอาแย่


เรามาดูรอยพระพุทธบาทแบบโล่งๆกันอีกครั้ง


ตรงนี้แหล่ะคือบันไดนาค พระสงฆ์จะเดินขึ้นมา ณ จุดนี้ก่อนจะเข้าไปภายในมณฑปเพื่อนำดอกไม้ไปสักการะพระพุทธบาท


ระหว่างรอขบวนพระภิกษุสงฆ์ ผมก็เดินหามุมถ่ายไปเรื่อยๆ ไปเจอกับดอกลีลาวดีของชอบเลยนำมาฝากกัน


มาแล้วหล่ะครับ เหล่าพระภิกษุสงฆ์เริ่มทยอยเดินมาตามถนนจวนจะเข้าประตูฝั่งบันไดนาคแล้วครับ


แถวที่จะขึ้นไปยังมณฑปผ่านบันไดนาคนั้น เริ่มแถวด้วยเณรโดยจัดเป็น 2 แถวขึ้นทางบันไดกลางเท่านั้น


จัดแถวได้สักครู่ ก็ได้ฤกษ์เดินขึ้นบันไดนาคแล้ว


การเดินขึ้นบันไดนาคเหมือนเดินขึ้นสรวงสวรรค์


แลดูขบวนแถวของพระภิกษุสงฆ์ที่เดินขึ้นยังบันไดนาคแล้ว สวยงามมากครับ


ชุดสุดท้ายคือชุดท่านเจ้าอาวาสซึ่งท่านเป็นเจ้าคณะตำบลด้วย(ถ้าจำผิดขออภัย ณ ที่นี้ด้วยครับ) ซึ่งยังคงรอรับบิณฑบาตรดอกไม้จากพุทธศาสนิกชนอย่างไม่ขาดสายแม้ว่าจะถึงบริเวณทางเข้ามณฑปแล้วก็ตาม

==========
หลังจากนั้น เหล่าพระภิกษุสงฆ์ก็จะนำดอกไม้เข้าไปในมณฑปพระพุทธบาท เพื่อให้เป็นเครื่องสักการะวันทา “รอยพระพุทธบาท” ซึ่งในระหว่างพระสงฆ์เดินเข้ามณฑปชาวบ้านก็จะนำน้ำสะอาดมาล้างเท้าพระภิกษุสงฆ์ เพื่อเป็นการชำระจิตใจของตน และชำระล้างบาปไปในตัว
จากนั้นก็จะนำเอาดอกไม้มาวันทาพระเจดีย์ “จุฬามณี” ซึ่งเป็นเจดีย์ที่บรรจุพระเขี้ยวแก้วจำลองขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า และก็จะนำไปสักการะพระเจดีย์องค์ใหญ่ ที่ชาวพุทธถือกันว่าเป็นเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ แล้วพระภิกษุสงฆ์ก็จะเดินเข้าไปในอุโบสถเพื่อสวดอธิษฐานเข้าพรรษา และเปล่งวาจาว่าจะอยู่ในอาณาเขตที่จำกัดในระหว่างฤดูกาลเข้าพรรษา ก็เป็นอันเสร็จสิ้นพิธี


นอกจากจะมีการตักบาตรดอกไม้แล้ว ก็ยังมีประเพณีการกวนข้าวทิพย์ด้วยนะครับ ใครอยากกวนก็เข้าไปร่วมวงได้เลยครับ ถือเป็นการทำบุญร่วมกัน

สุดท้ายนี้ ผมขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย จงดลบันดาลให้เพื่อนๆชาว BP ที่ทำแต่ความดี จงได้รับบุญอันนี้ของข้าพเจ้า มีแต่ความสุข ความเจริญ หมั่นทำความดี และสุขภาพแข็งแรงตลอดไปเทอญ ... สาธุ

==========
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
http://www.saraburitourism.com/travel/takbathdokmai.html
http://www.watphrabuddhabat.com/

Original Published on www.pantip.com at [ วันเข้าพรรษา 17:27:16 ] as below link

เห็นว่าบทความนี้น่าสนใจ รบกวนกดแชร์ด้วยครับ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น