วันจันทร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2547

ไหว้พระธาตุประจำปีเกิดที่แพร่และน่าน ตอน 3 ไปร่วมงานสลากภัตหรือตานก๋วยสลาก ที่วัดพระธาตุแช่แห้ง ก่อนแวะบ้านประทับใจ และไหว้พระพุทธชินราช จ.พิษณุโลก



วันนี้ตื่นแต่เช้ามืด ตอนกลางคืนอากาศดีมาก ทำให้หลับสบายอยู่ในเต้นท์ ครั้งนี้โชคดีที่ไม่เจอนักท่องเที่ยวเสียงดังมากางเต้นท์ใกล้ๆ เข็ดแล้วกับการนอนในเต๊นท์แล้วต้องฟังเสียงคุยกันตลอดทั้งคืนจากเต๊นท์ข้างๆที่ห้วยน้ำดังปีก่อน 
วันนี้ตั้งใจที่จะไปงานสลากภัตที่วัดพระธาตุแช่แห้ง แต่ก่อนที่จะออกจากอุทยานผมต้องไปดูชมพูภูคาและเต่าร้างยักษ์กันก่อน ซึ่งอยู่ข้างในลึกเข้าไปในป่าอีกที


หลังจากสอบถามทางเจ้าหน้าที่ของอุทยานถึงเส้นทางที่จะไปดู จึงได้ขับรถออกไปซึ่งอยู่ห่างจากจุดกางเต๊นท์พอควรเหมือนกัน ไม่นานนักก็มาถึงจุดที่มีต้นชมพูภูคา ต้นไม้พันธุ์นี้เป็นต้นไม้ที่หายากและใกล้สูญพันธ์ซะด้วย เป็นพื้นที่จุดเดียวในประเทศไทยที่พบต้นไม้ชนิดนี้ขึ้น ดังนั้นที่นี่จึงเป็นสถานที่อนุรักษ์ชมพูภูคาไปในตัว มาถึงแล้วก็มองหายากพอสมควร เพราะไม่เคยเห็นมาก่อน จนต้องไปถามนักท่องเที่ยวรุ่นป้าที่มากับกรุ๊ปทัวร์ใกล้ๆกัน ตรงกลางภาพจะสังเกตเห็นดอกชมพูภูคาสีชมพูอยู่หนึ่งดอก นี่คือระยะที่กล้อง Zoom ได้มากที่สุดแล้ว


ส่วนเต่าร้างยักษ์นั้นก็อยู่ใกล้ๆกัน แต่หายากพอควรเพราะไม่มีป้ายบอกไว้ อาศัยคร่าวๆว่ามันคือต้นปาล์มดึกดำบรรพ์ชนิดหนึ่ง แหงนมองไปตามหน้าผาก็เจอจนได้สูงเด่นกว่าต้นอื่นๆอย่างชัดเจน


จากนั้นจึงตะบึงรถลงจากอช.ดอยภูคาไปยังวัดพระธาตุแช่แห้ง ใช้เวลาเกือบ 2 ชม.ผมก็มาถึง ผู้คนเยอะแยะมาร่วมงานในวันนี้


ผมมางานบุญทีไรรู้สึกปีติยินดีในใจบอกไม่ถูก


ผู้เฒ่าผู้แก่แม้มีอายุมากแล้ว ก็ให้ลูกหลานช่วยพยุงพากันมาทำบุญในวันสำคัญนี้


สลากภัตหรือตานก๋วยสลากนั้นก็คือ อาหารที่นำมาถวายพระสงฆ์โดยเขียนชื่อเจ้าภาพลงในกระดาษใบละชื่อ ม้วนรวมคละกันเข้าแล้วให้ภิกษุทั้งหลายจับตามลำดับพรรษากันมา หรือเขียนเลขหมายไว้ที่ของจำนวนหนึ่ง ภิกษุจับได้สลากของผู้ใดก็ได้รับอาหารของทายกนั้น การถวายทานชนิดนี้เป็นแบบไม่เจาะจง
คำว่า "ก๋วย" หมายถึง ตระกร้า หรือ ชะลอม ดังนั้นจึงเห็นชะลอมสานอยู่ทั่วไป


ผมมาถึงแต่ยังไม่มีชะลอมสักกะอัน เลยสอบถามทางชาวบ้านว่าจะไปซื้อได้ที่ไหน ได้ความว่ามีร้านที่ขายอยู่ใกล้ๆ แต่เป็นถังสีส้ม คล้ายๆกับถังสังฆทาน ใช้ได้เหมือนกัน แต่ยังมีสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ การเขียนชื่อญาติพี่น้องทั้งที่มีชีวิตอยู่และล่วงลับไปแล้วลงในกระดาษ เพื่อว่าถวายสลากภัตเสร็จ พระท่านจะได้อนุโมทนาตามรายชื่อที่เราเขียนไป


องค์พระธาตุแช่แห้ง


บรรยากาศที่ชาวบ้านนั่งรอพิธีเริ่มขึ้น


มีพระนั่งรอสลากภัตจากชาวบ้านเป็นแนวยาว


แม่อุ๊ยก็มาด้วย


ชาวบ้านกำลังถวายสลากภัต


บรรยากาศโดยรอบ


พระธาตุแช่แห้งวันนี้คราคร่ำไปด้วยชาวบ้านที่มาทำบุญกัน


หลังจากอิ่มบุญแล้ว ขากลับผมแวะที่บ้านประทับใจที่จังหวัดแพร่ เนื่องด้วยวันแรกที่มานั้นผมไปถึงแต่หมดเวลาเข้าชมพอดี


บ้านประทับใจเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งในตัวเมืองแพร่โดยลักษณะเด่นคือ เป็นบ้านไม้สักทั้งหลัง ใช้ไม้สักท่อนขนาดใหญ่ ตั้งเป็นเสาบ้านรวม 130 ต้น แต่ละเสามีอายุประมาณ 300 ปี แกะสลักอย่างประณีตวิจิตรบรรจง ตัวบ้านเป็นแบบทรงไทยประยุกต์


เดินเข้ามาภายในบ้านจะเห็นเสาไม้สักขนาดใหญ่รับน้ำหนักบ้านอยู่ ด้านล่างของเสาจะแกะสลักลายไทย


อะไรเอ่ย...


งานไม้แกะสลักเป็นวิววิถีชาวบ้านแบบเก่า


ประตูหรือหน้าต่างฉลุลายไทย


ขากลับกรุงเทพ ผมต้องผ่านพิษณุโลกอยู่แล้ว จึงถือโอกาสเข้าไปนมัสการพระพุทธชินราช โดยตอนนั้นยังปรับปรุงองค์พระประธานอยู่ แต่ก็สายไปที่จะมาดูพระพุทธชินราชองค์ดำ เพราะได้ดำเนินการปิดทองไปแล้ว


เข้าไปกราบพระพุทธชินสีห์กันครับ


องค์พระปรางค์เมื่อยามสะท้อนแสงแดดตอนบ่ายแก่ๆ


ก่อนจะร่ำลาวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร ผมเข้าไปกราบพระอีกองค์ในวิหารพระเจ้าเข้านิพพาน


ทริปไหว้พระธาตุประจำปีเกิดก็จบสิ้นด้วยประการฉะนี้ 
นานๆครั้งเมื่อได้มาดูรูปเก่าๆในปีก่อนๆก็หวนคิดถึงเป็นไม่ได้ แพร่และน่านนั้นยังคงธรรมชาติและความสวยงามรอการมาเยี่ยมเยือนจากนักเดินทางที่แสวงหาประสบการณ์และบรรยากาศดีๆไม่แพ้จังหวัดทางภาคเหนืออื่นๆเหมือนกัน

Original Published on www.pantip.com


เห็นว่าบทความนี้น่าสนใจ รบกวนกดแชร์ด้วยครับ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น