วันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2547

ไหว้พระธาตุประจำปีเกิดที่แพร่และน่าน ตอน 1 ขับรถไปเมืองแพร่ นำทางโดย GPS Garmin iQue 3600


ครั้งนี้เป็นทริปรำลึกที่ยังไม่เคยนำมาเผยแพร่ เนื่องจากช่วงที่กลับจากทริปมานั้นค่อนข้างจะยุ่งมาก สาเหตุก็เพราะมัวแต่เที่ยว จนไม่มีเวลานำมาลงในเว็บ ครั้งนี้รู้สึกครึ้มอกครึ้มใจ เพราะใกล้จะถึง 1 ปีแล้วที่ผมไปมา เลยอยากนำมาให้นักเดินทางทั้งหลายได้ดูกัน
หลังจากเส้นผมที่เพิ่งจะขึ้นมาใหม่บนศีรษะได้ไม่นาน ความที่ยังเป็นทิดอยู่ประกอบกับผมที่เกิดปีเถาะ จึงอยากจะไปไหว้พระธาตุประจำปีเกิดตามความเชื่อของชาวล้านนา ที่ในชีวิตสักครั้งควรจะไปสักการะจะได้เป็นสิริมงคล จุดหมายนี้จึงเริ่มขึ้น นั่นคือ พระธาตุแช่แห้ง พระธาตุประจำคนเกิดปีเถาะ ที่ตั้งอยู่ ณ จังหวัดน่าน ดินแดนที่คนตั้งใจจะไปจริงๆ เนื่องจากไม่ได้เป็นทางผ่านของจังหวัดใดๆ


วันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม 2547
ณ เวลา 7:13 น. ของเช้านี้ ซึ่งเป็นอีกสัปดาห์หนึ่งที่หยุดยาว 3 วันคือวันเสาร์ถึงวันจันทร์เนื่องจากชดเชยวันปิยะมหาราช อุปกรณ์ใหม่คู่กายกับรถขนาด 1500 cc. คงหนีไม่พ้น GPS ยี่ห้อ GARMIN รุ่น iQue 3600 ยอดฮิตของนักเล่น GPS เขา หลังจากได้ลองเล่นมาบ้างแล้วระหว่างบ้านและที่ทำงาน ตอนนี้ก็ถึงคราวที่ใช้งานจริงกับมันซะที จะพาหลงเข้าป่าหรือไปโผล่จังหวัดอื่นเดี๋ยวรู้กัน ก่อนออกรถไม่รีรอที่จะใช้ฟังก์ชั่น Route to ชี้ไปยังวัดพระธาตุช่อแฮซึ่งอยู่จังหวัดแพร่ สถานที่ที่ผมตั้งใจไว้จะไปให้ถึงในวันนี้


เวลาขับรถไปเที่ยว ผมชอบที่จะถ่ายป้ายยินดีต้อนรับในแต่ละจังหวัดที่รถผมเข้าไปเยือน มันดูมีสีสันและไม่จืดชืดเหมือนป้ายทางหลวงอื่นๆ เนื่องจากเขาจะมีรูปแหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆของจังหวัดนั้นแสดงไว้ด้วย นับจนปัจจุบัน ผมมีรูปป้ายแบบนี้ของจังหวัดต่างๆได้ 20 กว่าจังหวัดแล้ว บางที่การจราจรไม่เอื้ออำนวยก็อาจจะถ่ายไม่ได้ ก็ต้องผ่านเลยไป ดังนั้นต่อจากนี้ก่อนจะถึงแพร่ จะมีแต่ป้ายยินดีต้อนรับของจังหวัดต่างๆระหว่างเส้นทางสายเอเชียแล้วตัดเข้าพิษณุโลกจนกว่าจะถึงแพร่อยู่หลายป้ายด้วยกัน

ในรูปเป็นป้ายยินดีต้อนรับป้ายแรกจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา


เรื่อยๆ ไม่นานนักรถก็เข้าเขตจังหวัดอุทัยธานี ซึ่งมีห้วยขาแข้งซึ่งได้รับยกย่องให้เป็นมรดกโลก ช่างน่าภาคภูมิใจยิ่งนักสำหรับพวกเราชาวไทย


10:25 น. เข้าเขตจังหวัดนครสวรรค์ อย่างที่ที่หลายๆคนรู้ว่าที่นี่มีชื่อเสียงก็ขนมโมจิแสนอร่อย ขับไปเหนือทุกครั้งไม่พลาดที่จะแวะซื้อติดมือไปทานระหว่างทาง แต่ตอนขากลับไม่ไหวเลย รถติดมากๆ ผมเลือกที่จะไม่ไปเส้น by pass เนื่องจากเคยไปแล้วครั้งหนึ่งเป็นเลนสวน มีแต่รถบรรทุกสิบล้อ แซงลำบากมาก เลยตัดสินใจขับผ่านตัวเมือง เพราะช่วงสายๆรถไม่ค่อยติด


ถึงนครสวรรค์แทนที่จะไปตามทางหลวงหมายเลข 1 พหลโยธิน เหมือนอย่างที่เคยไปเหนือแต่ก่อน คราวนี้มาตามเส้น 117 ซึ่งเป็นทางหลวงตัดใหม่ขับสบาย ตรงดิ่งไปจังหวัดพิษณุโลกเลย แต่ก่อนจะถึงพิษณุโลกก็มีบางส่วนที่เข้าไปในเขตจังหวัดพิจิตรแม้ไม่ผ่านตัวเมืองก็ตาม


อีกยี่สิบนาทีเที่ยง ผมก็เข้าเขตจังหวัดพิษณุโลกแล้ว ว่าไปแล้วที่นี่มีแหล่งท่องเที่ยวเยอะเหมือนกัน เช่นช่วงนี้ก็จะมีนักท่องเที่ยวมาล่องแก่งลำน้ำเข็กกัน ผมเองก็เคยมาล่องแล้ว พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจ่าทวี อันนี้ควรค่าแก่การไปดูมากครับ ลานหินปุ่มซึ่งอยู่ในเขตอช.ภูหินร่องกล้า และที่ขาดไม่ได้ซึ่งเป็นสิ่งเคารพสักการะไม่เฉพาะชาวพิษณุโลกเอง แต่เป็นที่เคารพของคนไทยทั้งประเทศ นั่นก็คือพระพุทธชินราช ใครมาถึงพิดโลกแล้วไม่ได้มาเคารพสักการะ ถือว่ายังมาไม่ถึงพิษณุโลกเลยก็ว่าได้


หลังจากขับรถสบายๆมาแล้ว ช่วงออกจากตัวเมืองพิษณุโลกแล้วจะไปยังจังหวัดอุตรดิตถ์ ถนนเส้นนี้เป็นเลนสวนครับ ทำให้ผมต้องขับรถตั้งใจอีกครั้ง แต่ก็แลกมาด้วยวิวทิวทัศน์สองข้างทางที่สวยงาม มีขึ้นเนินบ้างสลับกับโค้งซ้ายโค้งขวา ก็ไปได้


บ่ายโมงสี่สิบกว่าก็เข้าเขตจังหวัดแพร่แล้ว แปลกจังที่ผมจำไม่ได้ว่าผมแวะทานข้าวกลางวันหรือเปล่า ?? จังหวัดนี้แหล่ะที่จะเริ่มท่องเที่ยวและค้างคืนที่นี่ 1 คืน ก่อนรุ่งเช้าจะไปจังหวัดน่านต่อ


และแล้วเจ้า iQue 3600 ของผมก็พาผมมาถึงวัดพระธาตุช่อแฮ ซึ่งจริงๆแล้วก็หาไม่ยากเลย เนื่องจากเป็นวัดใหญ่ อยู่ตัวเมือง มีป้ายบอกตลอดทาง แต่ยังไงซะก็ต้องขอบคุณแหม่มกะปิที่คอยบอกให้เลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาอยู่ตลอด ทำงานได้สมค่าเหนื่อยจริงๆ
ผู้คนในตอนนั้นมาไหว้พระธาตุกันเยอะพอประมาณเนื่องจากเป็นวันหยุดด้วย


องค์พระธาตุซึ่งบรรจุพระเกศาและพระบรมสารีริกธาตุพระศอกซ้ายของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นปูชนียสถานที่ศักดิสิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของเมืองแพร่มาแต่โบราณกาล ตามตำนานกล่าวว่า ขุนลัวะอ้ายก๊อมเป็นผู้สร้าง ปรากฏหลักฐานการบูรณะปฏิสังขรณ์ระหว่างปี พ.ศ. ๑๘๗๙ - ๑๘๘๑ ในสมัยพระมหาธรรมราชา(ลิไท) เมื่อครั้งยังคงเป็นพระมหาอุปราช ครองเมืองศรีสัชนาลัย


ลักษณะองค์พระธาตุเป็นเจดีย์แปดเหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ศิลปะแบบเชียงแสน สูง ๓๓ เมตร ฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ ๑๑ เมตร สร้างด้วยอิฐโบกปูนหุ้มด้วยแผ่นทองเหลือง ลงรักปิดทอง จังหวัดแพร่ได้กำหนดให้องค์พระธาตุช่อแฮประดิษฐานบนหลังม้า เป็นตราสัญลักษณ์ของจังหวัด
==========
ข้อมูล : ป้ายบอกประวัติหน้าองค์พระธาตุ 


เข้าไปกราบพระประธานกันดีกว่าครับ


แหงนมองเพดาน ก็จะพบกับลวดลายปิดทองที่ยังคงความสวยงามมาจนปัจจุบัน


หลังจากไหว้พระธาตุช่อแฮเสร็จ ก็ได้เวลาไปหาที่พักตามที่ได้จองไว้ในเน็ต แผนที่บอกว่าอยู่ไม่ไกลจากวัดพระธาตุนัก แต่ทริปนี้ใช้ GPS อย่างเดียวจึงสะดวกสบาย บอกเส้นทางให้เสร็จสรรพ ที่นี่สวนอนุสรณ์รีสอร์ท ติดกับลำน้ำบรรยากาศดีทีเดียว ราคาไม่แพง


นาฬิกาบอกเวลาบ่ายสามโมงหน่อยๆ พอไปถึงก็เข้าไปเช็คอินแล้วเจ้าหน้าที่ก็พาผมไปยังบ้านพัก เพื่อเก็บข้าวเก็บของก่อนจะกลับมาขึ้นรถอีกครั้งเพื่อไปยังแพะเมืองผี โปรแกรมต่อไป


จากที่พัก ผมใช้เวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมงก็มาถึงยังวนอุทยานแพะเมืองผี


ประวัติความเป็นมาคร่าวๆนั้น เป็นเรื่องราวที่เล่าสืบต่อกันมาว่ามียายแก่คนหนึ่งไปหาของป่าในนี้ซึ่งไปพบกับหลุมเงินหลุมทอง จึงอยากได้เลยนำทองนั้นบรรทุกใส่หาบ แต่ก็ไม่สามารถหาทางออกจากป่านั้นได้ซะที ไม่ว่าจะกลับมาอีกครั้งก็ตาม จนชาวบ้านแถวนั้นตั้งชื่อว่าแพะเมืองผี
แพะ แปลว่า ป่าละเมาะ
เมืองผี แปลว่า สถานที่วังเวงคล้ายเมืองผี


พอเดินไปถึงบริเวณด้านใน ก็ตื่นตาตื่นใจกับภูมิทัศน์แปลกๆแบบนี้มาก เนื่องจากไม่เคยพบเห็นมาก่อน ไม่น่าเชื่อว่าธรรมชาติเป็นคนสร้างสรรขึ้นมา


จะว่าไปแล้ว เขาว่าเกิดขึ้นมาแล้ว 2 ล้านปี เป็นหินทรายที่มีการทนทานต่อการกัดกร่อนต่อลมฟ้าอากาศไม่เท่ากัน ส่วนที่ทนทานก็จะไม่ถูกกัดเซาะ ส่วนที่ทนทานได้น้อยก็จะพังทลายไป จึงเกิดสภาพภูมิประเทศดังกล่าว


ผมใช้เวลาที่แพะเมืองผีนานพอควร กลับมาที่พักจึงมืดแล้ว แต่ก่อนจะถึงที่พักก็ต้องผ่านวัดพระธาตุช่อแฮ ภายในวัดเปิดไฟสว่างสวยงามมาก อดใจไม่ไหวจึงต้องแวะเข้าไปถ่ายรูปอีกครั้ง เสียดายที่ไม่ได้เอาขาตั้งกล้องไป


องค์พระธาตุเหลืองอร่ามตามแสงไฟที่สาดส่อง ใครได้เห็นช่วงกลางคืนคงทราบดีว่าสวยงามมากๆ

Original Published on www.pantip.com


เห็นว่าบทความนี้น่าสนใจ รบกวนกดแชร์ด้วยครับ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น