วันอาทิตย์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2549

เยือน"นันทบุรีศรีนครน่าน" ตอน 2 ได้เวลาสำรวจศิลปะวัฒนธรรมชาวล้านนาตะวันออก(ไหว้สา ๙ วัด + ๒) ณ ดินแดน "นันทบุรีศรีนครน่าน"


วันนี้เป็นวันที่สองของทริป หลังจากวันแรกสาละวนกับการเดินทางที่มีอุปสรรคหลักมาจากการจราจรตอนช่วงถนนสายเอเชีย

วันนี้ดูจะเป็นวันแห่งการสำรวจศิลปะวัฒนธรรมของจังหวัดน่านนี้ของผมอย่างแท้จริง เพราะในตัวเมืองน่านเองก็มีวัดเก่าแก่พ่วงประวัติศาสตร์มากมายที่รอให้เข้าไปไหว้สักการะตามประเพณีชาวเหนือหรือเรียกอีกอย่างว่า ไหว้สา 9 วัด แต่สำหรับผมนั้นรวมแล้วไหว้ไปทั้งหมด 11 วัด จึงเป็นที่มาว่า ไหว้สา 9 วัด +2

วัดใหญ่ที่อยู่คู่เมืองน่านมาแสนนานคงเป็นวัดที่หลายคนรู้จักกันดีคือวัดพระธาตุแช่แห้ง เป็นวัดที่มีพระธาตุประจำเกิดของผม นี่จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำไมผมถึงเลือกมาที่จังหวัดน่านนี้ คือมาไหว้พระธาตุประจำปีเกิดด้วยนั่นเอง

นอกเหนือจากวัดต่างๆในตัวเมืองและอ.อื่นของน่านแล้ว ช่วงนี้ยังมีประเพณีอันหนึ่งของชาวน่านที่สืบสานกันมาอย่างยาวนาน ประเพณีอันนั้นคือการแข่งเรือ วันนี้จึงเป็นวันที่ดีวันหนึ่งที่สามารถเที่ยวชมทั้งศิลปะวัฒนธรรมภายในวัดอีกทั้งประเพณีแข่งเรือสนุกสนานของชาวน่านไปในคราวเดียวกัน


วันนี้ตื่นสายหน่อยเนื่องจากเมื่อวานเพลียจากการขับรถมาทั้งวัน เช็คเอ้าท์จากโรงแรมน่านฟ้าก็เดินหาอะไรทานละแวกใกล้ๆ เช้านี้อากาศไม่ได้เย็นเหมือนที่คิดไว้ แต่ก็ถือว่าไม่ร้อนมาก จุดหมายแรกของวันนี้คือวัดพระธาตุแช่แห้ง วัดที่ 1 ผมจอดรถที่ฝั่งตรงกันข้ามของถนนแล้วเดินข้ามมาอีกที ยามเดินขึ้นไป มองเห็นพระธาตุสีทองเด่นสง่าตั้งอยู่ไม่ไกล


เดินเข้ามาภายในบริเวณวัดคงไม่ต้องบอกอะไรมากเมื่อเห็นสัญลักษณ์รูปปั้นกระต่ายตั้งวางอยู่บนเสาทุกเสาร่ำไป บ่งบอกว่าเป็นวัดประจำคนเกิดปีเถาะอย่างแท้จริงตามความเชื่อชาวล้านนา


เข้ามาภายใน มองเห็นพระธาตุสีทองสะท้อนแสงเปล่งประกายออกมาสวยงามมาก พระธาตุเป็นเจดีย์ทรงระฆัง ส่วนฐานทำเป็นทรงหน้ากระดานสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่รองรับกับ ฐานบัวลูกแก้วย่อเก็จ ถัดขึ้นไปเป็นฐานหน้ากระดานรูปสี่เหลี่ยมและแปดเหลี่ยมซ้อนกันลดหลั่นลงมา 3 ชั้น รับชั้นมาลัยเถาสามชั้น องค์ระฆังมีขนาดเล็กบัลลังก์ทำเป็นแท่นสี่เหลี่ยมย่อเก็จ


เข้าไปกราบพระประธานในอุโบสถด้วยกันนะครับ สายพระเนตรมองลงมาเหมือนเป็นนัยเอ็นดูเรา ช่วงนี้จะมีช่างเข้ามาทำนุบำรุงองประประธานอยู่ คงน่าจะเตรียมการจัดงานกระฐินที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ก็เป็นได้


มาดูอีกมุมหนึ่งเมื่อเดินอ้อมอุโบสถ


ตามประวัติ พระธาตุแช่แห้งเป็นปูชนียสถานที่สำคัญมีอายุกว่า 600 ปี พญาการเมืองโปรดให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1891 เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ได้มาจากกรุงสุโขทัย องค์พระธาตุมีความสูง 55.5 เมตร ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจตุรัส กว้างด้านละ22.5 เมตร บุด้วยทองเหลืองปิดทองคำเปลวหมดทั้งองค์


ไปไหว้พระเจ้าทันใจกันครับ นัยว่าขอพรอะไรจะได้เร็วทันใจตามปรารถนา


องค์พระพุทธรูปอีกจุดหนึ่ง


อากาศร้อนแล้วหล่ะครับ แต่ใจยังสดชื่นด้วยบุญอยู่ น้องกระต่ายก็หลบแดดร้อนๆอยู่เหมือนกัน


ได้เวลาจากลาวัดพระธาตุแช่แห้งไปแล้วหล่ะครับ ตอนเดินลงมาวิวสวยมากๆขนาบข้างด้วยพญานาคสองตัว


เสร็จแล้วก้ขับรถย้อนกลับไปที่ตัวเมืองน่าน ข้ามสะพานแม่น้ำน่านได้เห็นบรรยากาศชาวบ้านต่างมาชมประเพณีการแข่งเรือกันเต็มสองข้างฝั่งลำน้ำน่าน แต่ผมคงจะมาดูอีกครั้งในช่วงบ่าย

แวะจอดรถที่จอดรถข้างวัดภูมินทร์ สายๆแดดร้อนอย่างนี้ต้องแวะเข้าไปชิมกาแฟสดหน่อยแล้ว ร้านนี้ชื่อร้าน La Vita ไม่เพียงจะขายเครื่องดื่มอย่างเดียวแต่ยังมีรายละเอียดทัวร์ต่างๆในจังหวัดน่านด้วย โดยเฉพาะเพ็คเกจล่องแก่งน้ำว้า


เอสเปรสโซ่เย็น โอว....สดชื่น


ต่อจากนั้น เดินเข้าวัดภูมินทร์ วัดที่ 2 ทางด้านข้าง ซึ่งผมยังเข้าใจว่าด้านหน้าซะอีก วัดนี้แปลกอยู่อย่างตรงที่ว่า อาคารนี้เป็นทั้งพระอุโบสถ พระวิหารและพระเจดีย์ประธาน โดยใช้อาคารในแนวตะวันออก-ตะวันตกเป็นพระวิหาร และอาคารแนวเหนือ-ใต้ เป็นพระอุโบสถ


เข้าไปดูภาพเขียนจิตรกรรมบนฝาผนังภายในโบสถ์วิหารหลวง วัดภูมินทร์กันเลยครับ


จากประวัติ วัดภูมินทร์ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่สมัยเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เมื่อ พ.ศ.2410 (ปลายสมัยรัชกาลที่ 4) ใช้เวลาซ่อมนานถึง 7 ปี จิตรกรรมฝาผนังในวิหารหลวงก็เขียนขึ้นในช่วงนี้ ภาพจิตรกรรมหรือ “ฮูบแต้ม” ในวัดภูมินทร์เป็นชาดกในพุทธศาสนา และภาพจิตรกรรมรายละเอียดของวิถีชีวิตของคนเมืองในสมัยนั้น ภาพที่น่าสนใจเช่น
ภาพธรรมเนียมการอยู่ข่วง ของชาวไทลื้อ พ่อแม่ จะอนุญาตให้หนุ่มสาวพบปะกันที่ชานบ้านในเวลาค่ำ ขณะหญิงสาวกำลังปั่นฝ้าย หรือ “อยู่ข่วง” หากสาวเจ้าตกลงปลงใจด้วยก็จะจัดพิธีแต่งงาน หรือที่เรียกว่า “เอาคำ ไปป่องกั๋น” หรือเป็นทองแผ่นเดียวกัน


ชีวิตความเป็นอยู่ของคนเมืองน่าน หญิงสาวกำลังทอผ้าด้วยกี่พื้นเมือง นอกชานมีเรือนเล็กๆตั้งหม้อน้ำดินเผาที่เรียกว่า “ร้านน้ำ” ส่วนชายหนุ่มไว้ผมทรงหลักแจวหรือทรงมหาดไทย แสดงให้เห็นอิทธิพลตะวันตกที่เข้ามาผสมผสานในวิถีพื้นเมืองน่าน


ภาพนี้ดูเหมือนกับว่าหญิงสาวคงเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานหรือร้องไห้ก็ไม่ทราบได้


การค้าขายแลกเปลี่ยนในชุมชน ภาพชาวพื้นเมือง ซึ่งอาจเป็นชาวเขา “เป๊อะ” ของป่าบนศรีษะ เพื่อนำมาแลกเปลี่ยนกับคนเมือง เอ๊ะ...แต่ผมสงสัยว่าผู้หญิงทำไมใส่เสื้อไม่ติดกระดุมหล่ะเนี่ย หรือว่าอากาศมันร้อน


ภาพชาวต่างประเทศ ที่เข้ามาเมืองน่านช่วงรัชกาลที่ 5 ทรงผม และเครื่องแต่งกายของผู้หญิงเป็นรูปแบบเดียวกับที่กำลังเป็นที่นิยมในยุโรปขณะนั้น


ตอนนี้ผมมีความสุขกับการค่อยๆดูภาพเขียนบนฝาผนังของวัดแห่งนี้ ไม่ต้องรีบร้อน ดูแบบรอบ 4 ทิศไปเรื่อยๆจนวนมากกว่า 1 รอบแล้ว อาศภายในก็เย็นสบายด้วย ไม่ร้อนครับ

มาดูงานแกะสลักบนเสาไม้กันบ้าง สวยงามไม่แพ้ใคร


ภาพนี้คงเป็นเรือกำปั่นขนส่งสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาขายในประเทศไทยเรา มีรายละเอียดต่างๆ เช่นรูปธงชาติติดอยู่บนเสาเรือ รูปนกที่บินเข้ามาเล่นบนผิวน้ำรอบๆเรือ


ภาพเขียนโดยรวมบนฝาผนัง จะมีบางส่วนที่หลุดลอกไปแล้ว เป็นที่น่าเสียดายมาก ใครยังไม่เคยมา รีบมาชมให้เห็นกับตาเลยนะครับ เพราะถ้าเนิ่นนานไปแล้ว นับวันภาพจะหลุดลอกออกไปเรื่อยๆนะครับ


หญิงสาวนางนี้ช่างชาวเหนือสมัยก่อนบรรจงสร้างสรรค์ผลงานวาดออกมาได้สวยงามมากครับ


กลับมาดูพระประธานภายในบ้างครับ
วัดภูมินทร์แห่งนี้ เป็นวัดหลวง ตั้งอยู่ในเขตพระนครดังปรากฏชื่อตำบลในเวียงในปัจจุบัน อยู่ใกล้กับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจังหวัดน่าน ตามพงศาวดารของเมืองน่าน พระเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์เจ้าผู้ครองนครน่านได้สร้างวัดภูมินทร์ขึ้นหลังจากที่ครองนครน่านได้ 6 ปี เมื่อ พ.ศ.2139 มีปรากฏในคัมภีร์เมืองเหนือว่าเดิมชื่อ “วัดพรหมมินทร์” แต่ตอนหลังชื่อวัดได้เพี้ยนไปจากเดิมเป็นวัดภูมินทร์


ภาพข้าราชการหรือราษฎร์เข้าเฝ้าเจ้านายชั้นผู้ใหญ่หรือเจ้าผู้ครองนครน่านสมัยนั้น


ภาพผู้ชาย เดาว่าน่าจะเป็นเจ้านายเพราะเหน็บกระบี่ด้วย ไว้ทรงผมหลักแจวหรือมหาดไทยกำลังสูบยาสูบอย่างสบายใจ


แหงนมองขึ้นไปด้านบนก็จะเป็นภาพเขียนเรื่องราวพุทธประวัติตามเรื่องเล่าชาดก



จุดเด่นของวัดนี้คือพระประธานจตุรทิศหรือสี่ทิศ
ด้วยสถาปัตยกรรมล้านนาแบบพิเศษ การออกแบบที่สอดคล้องกันทุกจุด ฐานเจดีย์ที่อยู่ ณ ศูนย์กลางจุดตัด เป็นแกนประดิษฐานพระประธานปางมารวิชัยทั้ง 4 องค์ แต่ละพระพักตร์ล้วนแตกต่างกันไป สื่อถึงพระพุทธเจ้า 4 พระองค์คือ พระเจ้ากกุสันโธ โกนาคม กัสสปะ และโคตมะ จนได้รับการโปรโมตจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยช่วงปี 46 ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบ Unseen in Thailand


วกเดินออกมาที่ด้านหน้าโบสถ์วิหาร จตุรมุขหนึ่งเดียวในประเทศไทยที่ดูคล้ายตั้งอยู่บนหลังพญานาค 2 ตัว ประวัติทราบมาว่า รัฐบาลไทยเคยพิมพ์รูปวัดภูมินทร์ในธนบัตรใบละ 1 บาท ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นี้มาด้วย นับว่าเป็นวัดที่มีประวัติสำคัญทีเดียว


วัดภูมินทร์ยังไม่จบนะครับ เข้าไปชมภายในสถูปเจดีย์พระมาลัย โปรดโลกกันครับ ภายในก็จะเป็นรูปปั้นจำลองนรกสำหรับคนที่ทำบาป


ใครประพฤติผิดอะไรไว้ระวังจะโดนแบบที่เห็นนะครับ :)


อันนี้หวาดเสียวพอสมควร แต่คงเป็นตัวอย่างไม่ให้พวกเราทำบาปนะครับ


หลังจากนั้นผมก็เดินต่อไปยังวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร วัดที่ 3 วัดหนึ่งในสถาปัตยกรรมแบบล้านนา ในภาพเป็นมุมที่มองจากสี่แยกไฟแดง


ช่วงนี้เต็มไปด้วยร้านค้าที่ต่างนำมาออกร้านในงานเทศการแข่งเรือนั่นเอง ด้านหน้าวัดเลยไม่โล่งเหมือนปกติ ตามผมมาครับ


มองจากด้านหน้า พระธาตุช้างค้ำสีทองแอบหลบอยู่ตรงกลางระหว่างวิหารด้านซ้ายและหอไตรด้านขวา


ฝีมือแกะสลักรูปครุฑและลวดลายต่างๆบนไม้หน้าบรรณหอไตร


อีกรูปหนึ่งของพระธาตุช้างค้ำกับวิหารหลวง



ไหว้พระในวิหารหลวงก่อนนะครับ พระพัตร์มองลงมาช่างงดงามเหลือเกิน


เดินมาดูพระธาตุช้างค้ำใกล้ๆกันบ้าง
พระธาตุเจดีย์ช้างค้ำวรวิหาร เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีลิกธาตุไว้ภายใน นับเป็น ปูชนียสถานสำคัญ เป็นเจดีย์ที่ได้รับอิทธิพลทางด้านศิลปะสุโขทัย จากเจดีย์ทรงลังกา คือเจดีย์วัดช้างล้อมนั่นเอง พระธาตุเจดีย์ สร้างด้วยอิฐถือปูนมีสัณฐานเป็นรูปสี่เหลื่ยมจัตุรัสซ้อนกัน 3 ชั้น กว้างด้านละ 9 วา ฐานจากชั้นแรกสูงถึงชั้นสอง มีรูปช้างค้ำอยู่ในลักษณะเหมือนฐานรองรับไว้ด้านละ 6 เชือก รวมทั้งหมด 24 เชือก ช้างแต่ละตัว โผล่ส่วนหัวลอยออกมาครึ่งตัว ขาหน้าทั้งคู่ยื่นพ้นออกมาจากเหลี่ยมฐาน เหนือขึ้นไปเป็นฐานปัทม์ (ฐานบัว) ซ้อนกัน 3 ชัน และเป็นองค์ระฆังแบบลังกา ต่อจากองค์ระฆังทำเป็นฐานเขียงรองรับมาลัยลูกแก้วลดหลั่นกันไป เป็นส่วนยอด ปัจจุบันพระธาตุเจดีย์ช้างค้ำได้รับการบูรณะซ่อมแซม และหุ้นด้วยแผ่นทองเหลืองทั้งองค์ มีความสวยงามมาก


ต่อจากนั้น ผมก็เดินข้ามมาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่านซึ่งอยู่คนละฝั่งของถนน  ณ ทางเดินเท้าแห่งนี้ดูคลาสสิคมากครับ เพราะอยู่ระหว่างต้นไม้ทั้งสองข้าง


เดินไปที่อาคารด้านในกันดีกว่า ร้อนแล้ว


ภายในพิพิธภัณฑ์ก็จะแบ่งเป็น 2 ชั้นคือชั้นล่างกับชั้นบน โดยชั้นล่างจะเป็นการแสดงประเพณีชนเผ่าต่างๆในน่าน เครื่องมือเครื่องใช้ ส่วนชั้นบนจะแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเมืองน่าน และที่สำคัญมี งาช้างดำ ซึ่งเป็นปูชนียวัตถุคู่เมืองน่านตามประวัติกล่าวว่า ได้มาจากเมืองเชียงตุงตั้งแต่โบราณ จริงๆเขาไม่ให้ถ่ายรูปแต่ผมแอบถ่ายมา อิอิ ใครอย่าเอาอย่างนะครับ


ต่อจากนั้นข้ามถนนเล็กๆไปยังอีกฝั่งหนึ่งเพื่อไปไหว้พระที่วัดหัวข่วง วัดที่ 4 วัดที่ผมได้ถ่ายรูปมาเมื่อค่ำของเมื่อวานนี้  รูปปั้นพระภายในอุโบสถครับ


เจดีย์วัดหัวข่วง ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงประสาท หรือเรือนทอง อิทธิพลศิลปะล้านนา


ข้างๆกันก็จะเป็นหอไตร ซึ่งเป็นหอที่ใช้เก็บพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ลักษณะเป็นอาคารสี่เหลี่ยมทรงสูงใต้ถุนก่อทึบ มีทางเข้าทางเดียว มีบันใดภายใน ตัวอาคารชั้นบน ฝาทำด้วยไม้ มีหน้าต่างด้านละหนึ่งช่องยกเว้นด้านหลัง หลังคาจั่วลดชั้นแบบปั้นหยา หลังคาชั้นบน มีช่อฟ้าใบระกา


หลังจากที่ได้เดินชมศิลปะวัฒนธรรมภายในวัดมา 4 วัดในเมืองน่านแล้วนั้น เหลืออีกอย่างก็คือประเพณีแข่งเรือที่สืบสานกันมานมนาน ซึ่งจะไปชมกันต่อ ต่อจากนั้น จึงค่อยเริ่มไปไหว้พระในวัดอื่นๆอีกให้ครบตามที่เวลาจะสามารถอำนวยได้
ผมเดินผ่านถนนหน้าพระธาตุช้างค้ำซึ่ง ณ บัดนี้ได้กลายเป็นพื้นที่ออกร้านขายสินค้าพื้นเมืองจากอ.ต่างๆของจังหวัดน่าน ผ้าทอหรือผ้าพื้นเมืองก็จะเห็นแสดงและนำมาขายอยู่หลายๆร้าน


เดินไปเรื่อยๆ เจอวัดอีกแล้ว ก็เลยต้องเข้าไปไหว้ซะหน่อย วัดกู่คำ วัดที่ 5


เดินเบียดเสียดกับคน ร้อนก็ร้อน เวลาก็ล่วงเลยมาจะบ่ายอยู่แล้ว จึงแวะหาอะไรง่ายๆทานไปเดินดูของไปด้วย จึงหนีไม่พ้นลูกชิ้นปิ้ง


เดินผ่านเข้าซุ้มงานประเพณีแข่งเรือ จ.น่านแล้วครับ คนเยอะมาก อากาศก็ร้อน แต่ใจก็ยังสู้เพื่ออยากจะชมบรรยากาศการพากย์ของนักพากย์เรือทั้งชายและหญิงที่มีศิลปะการพากย์ไม่เหมือนใครจริงๆ


นี่แหล่ะครับถ้วยรางวัลการแข่งเรือประเภทต่างๆ ตั้งโชว์อยู่ที่ซุ้มปรำพิธี


แม้ว่าแดดจะร้อน แต่พี่ๆน้องๆก็มาชมการแข่งเรือที่นี่อย่างเต็มร้อย แต่จะเห็นว่าทุกคนเตรียมอุปกรณ์ป้องกันแดดมาล่วงหน้า นั่นคือร่ม ! กางกันเต็มไปหมด ฝั่งสะพานก็มีคนไปออเต็มสะพานเหมือนกัน


ส่วนใหญ่หัวเรือที่ใช้แข่งขันจะแกะและตกแต่งเป็นรูปหัวพญานาค ตกแต่งลวดลายให้สวยงาม ห้อยพวงมาลัยและผ้าหลากสีเพื่อเป็นสิริมงคลในการที่จะนำชัยชนะมาให้กับทีม


ต่อจากนั้น z,มุ่งหน้าไปวัดมิ่งเมือง วัดอันดับที่ 6 เพื่อชมศิลปะอันงดงามของวัดแห่งนี้อีกทั้งยังเป็นวัดที่มีเสาหลักเมืองของจังหวัดน่านอยู่ด้วย


วัดมิ่งเมืองแห่งนี้ถือเป็นวัดที่มีสถาปัตยกรรมแบบร่วมสมัยที่ผสมผสานกับแนวความคิดสมัยใหม่ โดยเฉพาะลวดลายศิลปะปูนปั้น ที่ประดับตกแต่งตัววิหาร มีความสวยงามวิจิตรบรรจงมาก ในภาพเป็นลวดลายปูนปั้นของเสาวิหารทางด้านขวามือก่อนจะเข้าไปภายใน


เสาด้านซ้ายก็มีลวดลายวิจิตรบรรจงงดงามไม่แพ้กัน ใครมาจังหวัดน่านต้องมาดูให้ได้นะครับ


ภายในวิหารเพิ่งเสร็จจากพิธีทอดกฐินของเหล่าพุทธศาสนิกชนเมื่อวานนี้


เหมือนกับวัดอื่นที่บนผนังจะมีภาพเขียนบรรยายวิถีชีวิตสมัยก่อน แต่ในวัดมิ่งเมืองนี้เป็นภาพเขียนจากช่างสมัยปัจจุบัน ภาะดังกล่าวจึงสีสีนสดและยังดูใหม่ แต่แนวศิลปะของภาพนั้นเหมือนกัน


ด้านข้างวิหารสวยงามเช่นกัน


นี่แหล่ะครับ เสาหลักเมืองหรือเสามิ่งเมืองที่ชาวบ้านเรียกกัน ตอนนี้อยู่ในช่วงกำลังปรับปรุงสถานที่


ผมต้องการเก็บวัดละแวกเทศบาลเมืองนี้ให้หมดก่อนไปวัดที่ห่างออกไป วัดพญาภู วัดที่ 7


พระประธานในอุโบสถ


ต่อจากนั้น ผมเตรียมตัวเพื่อจะออกจากตัวเมืองน่านไปวัดที่อยู่ไกลออกไป นั่นคือวัดพระธาตุเขาน้อย วัดที่ 8 ถึงบนเขาน้อยเกือบบ่ายสามโมงครึ่ง


ณ จุดนี้ สามารถมองเห็นวิวเมืองน่านได้ทั้งเมือง


ก่อนออกไปถนนใหญ่ ผมแวะที่วัดใกล้ๆอีกวัดคือวัดพญาวัด วัดที่ 9 ภายในอุโบสถมี “พระเจ้าฝนแสนห่า” พระไม้เก่าแก่ซึ่งชาวเมืองน่านเคยนำมาแห่ขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล


ข้างนอกจะมีสถูปเจดีย์สร้างด้วยศิลาแลงในสมัยพระนางจามเทวี มีลักษณะคล้ายเจดีย์กู่กุด จังหวัดลำพูน ซึ่งผมได้ไปเที่ยวมาแล้วเช่นกันเมื่อต้นปีที่ผ่านมา


วัดศรีพันต้น วัดที่ 10 วัดนี้ขับผ่านก่อนจะไปวัดพระธาตุเขาน้อย ตั้งอยู่ตรงสี่แยกเข้าตัวเมืองพอดี แต่ก็ต้องขับกลับมาแวะก่อนจะเดินทางต่อไปอ.เชียงกลาง เพราะสีทองอร่ามกระทบตามาแต่ไกลเลย


ลวดลายปูนปั้นอีกแห่งหนึ่งในเสาของวัดศรีพันต้น


เดินเข้าไปไหว้พระกันครับ


บนผนังก็มีภาพเขียนเหมือนกัน ในภาพเป็นสภาพบ้านเรือนและวิถีชีวิตของคนสมัยโบราณ


ภาพเขียนในปัจจุบันจะดูสดใสกว่ามากเพราะมีสีให้เลือกได้หลากหลาย


ต่อไปก็ได้เวลาร่ำลาตัวเมืองน่านแล้ว....จุดมุ่งหมายต่อไปของผมก็คือวัดหนองบัว อ.ท่าวังผา และคืนนี้จะไปนอนค้างที่อ.เชียงกลาง

ผมไปถึงวัดหนองบัว วัดที่ 11 เกือบ 5 โมงเย็น วัดที่ขึ้นชื่อได้ว่ามีภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังสมัยโบราณไม่แพ้กว่าวัดภูมินทร์เหมือนกัน


เชิญครับเชิญ...ไปกราบพระด้วยกัน


พระประธานต้องแสงไฟสะท้อนสีทองเด่นเหลืองอร่ามงดงามยิ่งนัก


ลวดลายก็สวยงามไม่แพ้กัน แต่สีภาพจะเลือนๆ


ภาพนี้ดูแปลกตาเพราะเห็นมีผู้หญิงขึ้นอยู่บนหลังช้างทั้งนั่ง และเป็นควานช้างด้วย ผมไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน

ที่วัดแห่งนี้ภาพเขียนชำรุดค่อนข้างมากแล้วหล่ะครับ เสียดายมากๆครับ ใครไม่เคยมาดูรีบมาดูนะครับ ไม่งั้นคงหาดูไม่ได้อีกแล้วสำหรับฝีมือช่างหรือสล่าชาวล้านนา


ภาพเทวดา


ชายหญิงกำลังเกี๊ยวพาราสีกัน ด้านบนมีตัวอักษรสีดำภาษาอะไรไม่ทราบได้เขียนจารึกไว้พร้อมกับภาพ ผมเดาว่าน่าจะเป็นการบรรยายภาพที่วาดอยู่ด้านล่าง


ออกจากวัดหนองบัวเพื่อจะลองไปดูกลุ่มทอผ้าของชาวบ้านซะหน่อย แต่พอเข้าไปถามพี่ที่เดินอยู่ก็แจงกับผมว่า "เลยเวลาไปแล้วคงแยกย้ายกลับบ้านกันไป อีกทั้งแยกกันไปออกร้านที่อ.เมืองด้วย" ผมจึงถามทางที่จะไปอนุสาวรีย์เจ้าหลวงเมืองหล้า ตามแผนที่หน้าวัดบอกไว้

ผมได้ผู้ใหญ่บ้านเป็นคนขี่มอเตอร์ไซด์นำทางไป


ผมขับรถเที่ยวชมหมู่บ้านหนองบัวนี้อยู่หลายรอบเนื่องจากชื่นชมบรรยากาศบริสุทธิ์ของที่นี่ ชอบท้องนาและกองฟาง


ชมการทำไร่ไถนาของชาวบ้านที่นี่ อิจฉาที่เขาได้สูดอากาศบริสุทธิ์ทุกๆวันเลย :(


หลังจากจบการเที่ยวชมศิลปะวัฒนธรรมเมืองนันทบุรีศรีนครน่านแล้ว ผมเดินทางต่อไปยังอ.เชียงกลาง เพื่อไปพักที่รีสอร์ทแห่งหนึ่งที่ได้จองไว้ มีชื่อว่าไร่จุฑามาศรีสอร์ท เลยตัวอ.เชียงกลางไป 6 กม. ทางเข้าเลี้ยวซ้ายไปไร่ 1 กม.นั้นถือว่าน่ากลัวมากเนื่องจากถนนขรุขระและตอนมืดแล้ว แต่สุดท้ายก็เจอกับบรรยากาศที่สวยงามตามที่หาข้อมูลมาก่อนในเว็บ ไม่ผิดหวังจริงๆ


จากที่โทรมาจอง ผมเลือกบ้านพักแบบไทรทองที่มี 4 ห้องในหลังใหญ่เดียวกัน คุณพลกฤษณ์พาผมไปเลือกว่าจะนอนที่ห้องไหนโดยให้เปิดให้ดูทุกๆห้อง สุดท้ายผมเลือกห้องที่ติดริมน้ำฝั่งที่มีโต๊ะนั่งเล่นหนึ่งโต๊ะ


ภายในห้องสวยงามอย่างที่เห็นในเว็บมาจริงๆ สะอาด และราคาไม่แพง ผมลืมบอกไปว่าราคาจริงๆ 650 บาท/คืน แต่ยังไม่ทันได้ต่อราคา(ซึ่งผมก็ไม่คิดจะต่อหรอกเพราะคิดว่าสมราคาแล้ว) คุณพลกฤษณ์ก็ลดราคาให้ผมเลย 100 บาทเหลือ 550 บาท โอ....ขอบคุณ


มาตั้งไกลแต่ก็ยังไม่ขนาดสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โทรทัศน์ ตู้เย็น(มีเครื่องดื่มและขนมอยู่ข้างใน) แอร์ เครื่องทำน้ำอุ่น พร้อมกับบรรยากาศธรรมชาติอย่างนี้ สุดยอดครับ 

ขอจบการเดินทางในวันที่สองเพียงเท่านี้ ไว้รุ่งขึ้นมาดูกันว่า เส้นทางสายโรแมนติกที่เขาว่านั้นจะเป็นอย่างไรบ้าง แล้วติดตามกันต่อไปครับ สวัสดี...

Original Published on www.pantip.com at [ 28 ต.ค. 49 11:19:05 ] as below link


เห็นว่าบทความนี้น่าสนใจ รบกวนกดแชร์ด้วยครับ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น